ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 เมษายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/4) ที่ระดับ 32.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (13/4) ที่ระดับ 32.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลักจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยนายโรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐจะแตะจุดสูงสุดในสัปดาห์นี้ ซึ่งข้อมูลล่าสุดระบุว่า สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 560,433 ราย และมีผู้เสียชีวิต 22,115 ราย ทำให้ขณะนี้สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลก
ด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ออกมาให้ความเห็นว่าอำนาจในการพิจารณาเปิดให้ภาคธุรกิจกลับไปดำเนินตามปกตินั้นขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีและรัฐบาลกลาง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าการรัฐ โดยแสดงท่าทีว่าพร้อมทำงานร่วมกับผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ ในการตัดสินใจให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินธุรกิจเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันตลาดโลกก็ยังให้ความสนใจกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร หรือโอเปกพลัส หลังจากสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นการทยอยลดกำลังการผลิตน้ำมันไปถึงปี 65 แต่ตลาดยังคงไม่หลุดพ้นปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาด และคาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันยังคงลดลง นอกจากนี้ ในช่วงสายของวันนี้ทางจีนได้ประกาศตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือนมีนาคมออกมา ซึ่งทั้งคู่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยตัวเลขส่งออกของจีนเดือนมีนาคมอยู่ที่หดตัว 6.6% จากคาดการณ์ว่าจะหดตัวมากถึง 14% ส่วนตัวเลขนำเข้าอยู่ที่หดตัว 0.9% จากคาดการณ์ว่าจะหดตัว 9.5%
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทาง ธปท.กำลังศึกษาการดำเนินนโยบายการเงินแบบพิเศษ เช่น มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ หรือการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.70-32.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (14/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0920/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/4) ที่ระดับ 1.0929/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในวันนี้ตลาดยุโรปกลับมาเปิดหลังหยุดเทศกาลอีสเตอร์ อย่างไรก็ตามช่วงบ่ายมีข่าวดีจากทั้งประเทศสเปนและอิตลีซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากโควิด-19 โดยทั้งสองประเทศเริ่มทยอยให้ธุรกิจบางประเภทกลับมาเปิดทำการได้ภายในสัปดาห์นี้ หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0913-1.0933 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0918/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (14/4) เปิดตลาดที่ระดับ 107.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/4) ที่ระดับ 107.95/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ยังมีแรงเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.54-107.67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.58/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาน้ำมันและส่งออกของสหรัฐเดือนมีนาคม (14/4), ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนมีนาคม (15/4), ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ โดยเฟดนิวยอร์ก เดือนเมษายน (15/4), ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี เดือนมีนาคม (16/4), การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป เดือนกุมภาพันธ์ (16/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (16/4), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประทเศ (GDP) ของจีน ไตรมาส 1/2563 (17/4), การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน เดือนมีนาคม (17/4), การผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือนมีนาคม (17/4), อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรป เดือนมีนาคม (17/4)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.25/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.0/+5.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-449289
จำนวนผู้อ่าน: 2042
15 เมษายน 2020