'นิสสัน ลีฟ' กับความหวังตลาดรรถไฟฟ้า

"นิสสัน ลีฟ" กับความหวังตลาดรรถไฟฟ้า จุดชี้วัดนวัตกรรมและความเป็นไปได้

นิสสัน มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นเปิดตัว ’นิสสัน ลีฟ’ ใหม่ ที่งานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017 ประเทศญี่ปุ่น ชูจุดขายรถยนต์ไฟฟ้า100เปอร์เซ็นต์ จอดรถอัตโนมัติ วิ่งได้ไกลขึ้นถึง400กิโลเมตร และระบบเซ็นเซอร์รอบตัวเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของคนเมือง คาดว่าจะทำตลาดในไทยปีหน้า  พร้อมเปิดตัว’นิสสัน ไอเอ็มเอ็กซ์’รถครอสโอเวอร์ต้นแบบพลังงานไฟฟ้า ในงาน มุ่งเป้าตลาดรถขับเคลื่อนอัตโนมัติในอีก5ปี

หลังจากที่หลายประเทศประกาศโรดแมปรยกเลิกใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือรถใช้น้ำมันและมุ่งสู่รถพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเด็นเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า(Electric Vehicle)ถูกยกระดับขึ้นมาเป็น'เรื่องจริงจัง'ในเวทีโลก กระทั่งแนวคิดของประเทศไทย4.0ก็ยังสนับสนุนธุรกิจแห่งอนาคตในพื้นที่ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งจะมองข้ามเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าไปมิได้ และล่าสุดเมื่อ’นิสสัน’ประกาศลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว ด้วยการส่ง’นิสสัน ลีฟ’ตัวใหม่ที่เตรียมทำตลาดปี2018นี้ จึงเป็นสัญญาณที่สำคัญว่า นิสสันเอาจริงกับตลาดในประเทศไทย ท่ามกลางข้อสงสัยของบรรดาผู้เชี่ยวชาญว่า การขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นจริงได้แค่ไหน บนท้องถนนที่แสนจะเป็นเอกลักษณ์ของเมืองไทย

 

 

เปิดตัวนิสสัน ลีฟ วิ่งไกล400กิโลเมตรพร้อมระบบจอดรถอัจฉริยะ

ในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2017 รถยนต์ไฟฟ้า’นิสสัน ลีฟ(Nissan Leaf)’ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก หลังจากที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นความหวังครั้งสำคัญของนิสสัน ที่ปรับเกมธุรกิจ เพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่กระแสแรงและคาดหวังว่าจะเป็นยานาพาหนะแห่งอนาคต โดยพัฒนาจากนิสสัน ลีฟปี2016เดิมทั้งด้านการออกแบบและสมรรถนะ รถขับเคลื่อนสองล้อคันนี้สามารถวิ่งได้ระยะทางถึง400กิโลเมตรภายในการชาร์จไฟฟ้าครั้งเดียว ซึ่งได้รับการพัฒนาแบตเตอรี่ให้แน่นขึ้นโดยไม่กระทบกับพื้นที่ของรถ ขณะที่พัฒนาระบบการชาร์จแบบเร่งด่วน(Quick Charging)ทำให้รถสามารถวิ่งระยะทาง100กิโลเมตร หลังจากที่ชาร์จแบบเร่งด่วนในเวลาไม่ถึง10นาที มาพร้อมกับเซนเซอร์9ตัวและกล้อง12ตัวรอบคัน เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของสิ่งกีดขวางและใช้สำหรับประสบการณ์การขัขี่ที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ นิสสัน ลีฟยังพัฒนา’ระบบคันเร่งอัจฉริยะ(e-Pedal)’ที่ควบคุมความเร็วของรถ โดยไม่ต้องเหยียบเบรค เพียงถอนเท้าจากคันเร่ง รถจะชะลอและหยุดสนิทในที่สุด ป้องกันรถไหลเมื่อขึ้นเนินสูงในอาคารจอดรถหรือเมื่อขับขี่บนพื้นที่ค่อนข้างลื่นได้ ‘ระบบโปรไพล็อต(ProPILOT Mode)’สำหรับการขับขี่บนทางด่วนหรือเส้นทางที่ใช้ความเร็วต่อเนื่อง ระบบนี้จะควบคุมรถให้อยู่ในเลนและรักษาระยะห่างกับรถคันหน้าซึ่งสามารถปรับระดับที่ต้องการโดยที่ไม่ต้องเหยียบคันเร่งแต่อย่างใด เพียงใช้มือประคองพวงมาลัยเอาไว้เท่านั้น  อีกไฮไลต์สำคัญคือระบบจอดรถโปรไพล็อต(ProPILOT Parking)ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถจอดรถได้ง่ายดาย เพียงกดปุ่มโปรไพล็อตค้างไว้และรถจะเคลื่อนที่เข้าที่จอดรถได้เอง โดยมีเซนเซอร์และกล้องรอบคันตรวจจับความเคลื่อนไหวและสิ่งกีดขวางระหว่างจอดรถ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับและชีวิตอื่นบนท้องถนน  

สิ่งที่เป็นลูกเล่นของรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้คือ การเชื่อมต่อ(Connected Service)ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสั่งการและตรวจสอบรถของตนได้จากแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ซึ่งถือว่าตอบรับกับวิถีชิตคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยในแอพจะบอกปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่แบบเรียลไทม์ ประวัติการขับขี่ซึ่งสามารถแชร์การใช้งานมากกว่า1คนขับได้ในกรณีรถขององค์กรหรือกรณีที่ต้องการแยกการตรวจสอบการเดินทางรายบุคคล ระบบยังเชื่อมต่อกับแผนที่ที่สามารถระบุพิกัดของสถานีชาร์จไฟที่ใกล้ที่สุด และ ช่วยวางแผนการเดินทางได้อีกด้วย

มองตลาดรถไทยท้าทาย ยังอุบราคาขาย ผู้บริหารยันกรณีนิสสันญี่ปุ่นไม่กระทบไทย

สำหรับความคาดหวังต่อนิสสัน ลีฟ มร. อันตวน บาร์เตส ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า”ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าถือว่าใหม่มากสำหรับประเทศไทย นิสสัน ลีฟ คือรุ่นแรกที่จะทำตลาดในประเทศไทย และเราจะพยายามอย่างหนักที่จะผลักดันธุรกิจของเราให้ตรงกับความคาดหวังขอลูกค้า ซึ่งน่าจะเหมาะกับลูกค้าที่ใช้ชีวิตบนท้องถนนนานๆในสภาพการจราจรที่ติดขัดอย่างกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หรือเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งความเป็นจริงระยะทางที่ไม่ไกลนักรวมถึงผู้ที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ในการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่ายอดขายในช่วงแรกอาจจะยังไม่มาก แต่เชื่อว่าด้วยจุดขายของรถทีไร้มลพิษ(Zero Emission) ไม่มีเสียงดังรบกวน รวมถึงพลังของแรงบิดที่เต็มที่ตั้งแต่วินาทีแรกที่ใช้งาน น่าจะทำให้ผู้คนสนใจนิสสันลีฟมากขึ้น” ผู้บริหารของนิสสัน ยังไม่บอกช่วงเวลาที่จะทำตลาดในไทยรวมถึงราคาขายอย่างเป็นทางการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ ซึ่งจะแถลงแผนการรุกธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม   

ส่วนแผนธุรกิจในประเทศไทย มร.อันตวนกล่าวว่า”นิสสันมีความตั้งใจและเห็นศักยภาพของตลาดนี้ ยังมีรถยนต์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ที่จะเปิดตัว นอกจากนี้ ยังจะทำงานใกล้ชิดมากขึ้นกับเครือข่ายทั้งหมดที่มี นั่นคือพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ไปจนถึงดีลเลอร์ และส่วนงานบริการ ซึ่งจะต้องทำงานให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่วนศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของนิสสันในไทยก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อพัฒนาสินค้าที่เฉพาะเจาะจงความความต้องการของลูกค้า(Tailor Made)ให้มากขึ้นเพื่อตอบรับกับตลาดของประเทศไทยโดยเฉพาะด้วย”

และกรณีประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นกับแบรนด์นิสสันต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงล่าสุดกรณีปัญหาเอกสารรับรองของเจ้าหน้าที่ที่ประกอบรถยนต์ในการผลิต มร.อันตวนชี้แจงว่า”สำหรับลูกค้าของนิสสันไม่ต้องกังวลกับประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นขณะนี้ ผมขออภัยต่อกรณีที่เกิดขึ้นทั้งกับลูกค้าของนิสสันและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ประเด็นที่เกิดขึ้นจำกัดเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่มีผลกระทบใดกับธุรกิจของนิสสันในประเทศไทยอย่างแน่นอน ปี2017ยังเป็นปีที่ดีของนิสสันและยอดขายก็ยังเติบโตน่าพอใจในประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะแตะ7เปอร์เซ็นต์ในสิ้นปีนี้”

นำร่อง’นิสสัน ไอเอ็มเอ็กซ์’ตั้งเป้าดันตลาดรถอัตโนมัติ

และเป็นปกติของงานมอเตอร์โชว์ ที่ค่ายรถต้องเปิดตัวรถต้นแบบที่ทำให้ตลาดรถฮือฮา ในครั้งนี้นิสสันเปิดตัว รถนิสสัน ไอเอ็มเอ็กซ์ รถต้นแบบที่สะท้อนแนวคิดการขับเคลื่อนอัจฉริยะของนิสสัน(Nissan Intelligence Mobility) ที่ออกแบบเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างรถยนต์และผู้ใช้งานเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการใช้งาน โดยที่พัฒนาระบบโปรไพล็อต(ProPILOT)ไปอีกขั้นสู่การขับขี่อัตโนมัติ(Autonomous Driving)เต็มรูปแบบ เมื่อผู้โดยสารเลือกใช้งานโหมดนี้ พวงมาลัยจะถูกเก็บลงไปในแดชบอร์ดและปรับเอนเบาะทุกที่นั่งในรถ เพื่อให้ทุกคนบนรถได้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยที่รถขับเคลื่อนไปได้เอง เมื่อปิดการใช้งาน พวงมาลัยก็จะกลับมา และเป็นโหมดผู้ขับขี่ควบคุม(Manual)ตามเดิม โดยออกแบบในลักษณะรถครอสโอเวอร์ หรือรถยันต์นั่งอเนกประสงค์เต็มรูปแบบ ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสองตัวด้านหน้าและด้านหลังของรถ ขับเคลื่อนสี่ล้อ แรงบิดสูงถึง700นิวตันเมตรและกำลัง 320 กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลถึง600กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง การออกแบบภายนอกล้ำสมัย ปราดเปรียว ขณะที่ภายในห้องโดยสารโปร่งโล่ง นั่งสบาย ออกแบบเรียบแต่หรูล้ำสมัย ซึ่งนิสสันผนวกเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence)มาใช้ควบคุมการทำงานของรถ ซึ่งระบบสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของตาและการขยับมือของผู้ขับสำหรับการสั่งการได้

มร. แดเนียลเล สคิลลาชี รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและการขายโกลเบิล ธุรกิจยานยนต์ปราศจากมลพิษของนิสสันกล่าวว่า”นีจะไม่ใช่แค่รถต้นแบบ นิสสันจะพัฒนาโอเดลไอเอ็มเอ็กซ์เพื่อทำตลาดอย่างแน่นอน และมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารของคนขับกับรถยนต์ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย”

 ดูเหมือนรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นความหวังสำคัญของนิสสัน ซึ่งตั้งเป้าว่าภายในปี2022 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าทำตลาดทั้งโลกไม่ต่ำกว่า 12 รุ่น และ รถจะวิ่งได้ไกลถึง600กิโลเมตรซึ่งจะช่วยลดความกังวลสำคัญที่บรรดาผู้ใช้งานมีต่อรถประเภทนี้มาโดยตลอด นอกจากนี้ยังจะพัฒนาระบบการชารจไร้สาย(Wireless Charging)ซึ่งผู้ขับเพียงแต่จอดในจุดที่กำหนดในพื้นที่จอดรถ ก็สามารถชาร์จไฟได้ แม้ว่าจะใช้เวลานานกว่าที่8ชั่วโมงก็ตาม แต่ก็ถือว่าสะดวกสบายขึ้น แผนการพัฒนาระบบชาร์จนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและนิสสันต้องดูศักภาพของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้ชัดเจนก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป โดยยังไม่มีกำหนดในการทำตลาดส่วนนี้

 

โครงสร้างพื้นฐานและต้นทุน โจทย์ใหญ่ของรถอีวี

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาหนทางของรถยนต์ไฟฟ้าจากนี้ยังไม่ถือว่าราบรื่นนัก เพราะข้อจำกัดเรื่องของระยะทางที่ใช้เดินทางซึ่งในสภาวะการณ์จริงจะแตกต่างออกไปจากกระบวนการทดลองของผู้ผลิตรถยนต์  ประเด็นเรื่องของแบตเตอรี่ทั้งด้านขนาดและราคา ยังเป็นหัวข้อเร่งด่วนยังต้องอุดช่องโหว่ให้ได้ เพราะปัจจุบันยังมีต้นทุนที่สูง และขนาดให่ขึ้นตามความจุบองแบตเตอรี่ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของรถ ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายของการซ่อมบำรุง ค่าอะไหล่ และค่าบริการ ยังเป็นเรื่องที่ต้องตอบคำถามลูกค้าให้ได้ ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการทำการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในลักษณะนี้มาก่อน จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ของนิสสันในการสร้างความมั่นใจและไว้วางใจ เพราะปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยยังแตกต่างจากญี่ปุ่นมาก รวมถึงพฤติกรรมการขับขี่บนท้องถนนของคนไทยที่สลับซับซ้อน รถยนต์ไฟฟ้าอาจทำตลาดได้ไม่ง่ายนัก จุดชี้วัดสำคัญหนีไม่พ้นราคาขายที่จะดึงดูดใจให้บรรดาผู้ชอบของใหม่ที่มีกำลังซื้อ(Early Adopter)ทั้งหลายจับจองเป็นเจ้าของเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้ายังสูง ราคาสุดท้ายที่เคาะออกมา หลายฝ่ายจึงเชื่อว่าราคาจะมากกว่า1.5ล้านบาท ซึ่งราคานี้ถือเป็น’รถหรู’ได้เลย เป็นการบ้านที่ไม่เพียงแต่นิสสัน หากแต่ค่ายรถต่างๆที่ต้องการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องคิดให้หนักว่าจะ’เดินหน้า’หรือจะ’รอดู’ เหมือนหลายๆครั้งที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมยานยนต์

 

ที่มาข่าว : bangkokbiznews.com


จำนวนผู้อ่าน: 2218

25 พฤศจิกายน 2017