จัดลำดับก่อน-หลัง สำหรับลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจสิ่งที่เราท่านมักจะได้ยินได้ฟังข่าวร้ายจากสื่อต่าง ๆ อยู่เสมอคือ “การเลิกจ้าง” ซึ่งการเลิกจ้างมักเป็นเรื่องที่ลูกจ้างมักจะกลัว และไม่อยากจะให้เป็นตัวเราเอง เพราะต้องมาหางานใหม่ ไหนจะเรื่องเงินขาดมือในระหว่างว่างงานอีกล่ะ ฯลฯ

การเลิกจ้างอาจจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

หนึ่ง เลิกจ้างเพราะบริษัทจำเป็นต้องปิดกิจการ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องมาจัดลำดับก่อน-หลังหรอกครับ เพราะทุกคนตกงานโดยเท่าเทียมเสมอภาคกันทุกคนตั้งแต่กรรมการผู้จัดการยันพนักงานระดับล่างทั้งหมด

สอง เลิกจ้างเป็นบางส่วน หรือเลิกจ้างเป็นบางคน เช่น ปิดบางแผนกบางฝ่ายเลยต้องเอาคนในบางแผนก หรือบางฝ่ายออก, มีการปรับเปลี่ยนระบบ, วิธีการทำงาน หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ต้องลดคนลง หรือจำเป็นต้องเลิกจ้างคนบางคนบางตำแหน่งด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม

ในที่นี้ ผมจึงขอนำเอาการเลิกจ้างเป็นบางส่วน โดยจัดอันดับก่อน-หลังตามข้อ 2 ข้างต้นมาให้ท่านดูว่าถ้าหากบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานแบบนั้น ผู้บริหารจะมีหลักเกณฑ์ยังไงในการเลิกจ้างดังนี้ครับ

1.พนักงานที่เป็น outsource หรือพนักงานที่บริษัทจ้างแบบลูกจ้างชั่วคราวรวมทั้งลูกจ้างรายวัน

2.พนักงานที่มีอายุงานน้อยที่สุด เพราะยังไม่มีอะไรผูกพันกับบริษัทมากนัก

3.พนักงานที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปที่ชอบทำงานเหมือนเดิม ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง มอบหมายงานใหม่ให้ทำก็ไม่ยอมรับ เพราะบอกว่าอายุมากแล้วทำไม่ได้ ไม่มีผลงาน และไม่มีศักยภาพที่เพิ่มขึ้นตามอายุตัว และอายุงาน

4.พนักงานที่มีสถิติการป่วย สาย ลา ขาดงานมาก

5.พนักงานที่มีปัญหาสุขภาพ และลาป่วยบ่อยมาก มีโรคประจำตัวเรื้อรังรุมเร้าจนต้องลาป่วยบ่อยมากในแต่ละปี

6.พนักงานที่ฝ่ายบริหารเห็นว่ามีปัญหามากในเรื่องทัศนคติเป็นลบกับบริษัท ชอบทำตัวต่อต้านฝ่ายบริหาร, ชอบปล่อยข่าวลือในองค์กร, เป็นตัวตั้งตัวตีสร้างความปั่นป่วนในบริษัท, ทำตัวเป็นมาเฟียขาใหญ่ในบริษัทคอยระรานพนักงานคนอื่น ฯลฯ

7.พนักงานที่มีความประพฤติมีปัญหา หรือพนักงานที่ชอบทำความผิด หรือชอบฝ่าฝืนกฎระเบียบคำสั่งต่าง ๆ ของบริษัท เช่น เคยถูกตักเตือนด้วยวาจา, ถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่ดีในการทำงาน

8.พนักงานที่ถูกประเมินให้มีผลการปฏิบัติงานในระดับต่ำ เช่น ได้รับการประเมินผลงานในเกรด D หรือ E หรือมีผลการปฏิบัติงานที่ใช้ไม่ได้ ขี้เกียจ ไม่สนใจงานการ ทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย, ไม่ได้ตามตัวชี้วัด KPIs หรือไม่สามารถรับผิดชอบงานได้ตามที่ตกลงกันอยู่เป็นประจำ

9.พนักงานที่ผู้บริหารไม่ชอบหน้าเป็นการส่วนตัว อันนี้อาจจะเป็นเกณฑ์ในการคัดคนออกที่นอกตำรา แต่ในชีวิตจริงมันเป็นอย่างนี้จริง ๆ นะครับ คือถามว่าพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทำงานดีไหมก็ตอบว่าดีมีศักยภาพ แต่ดันศรศิลป์ไม่กินกันกับผู้บริหารระดับสูง (ถ้าเชื่อเรื่องกรรมก็คงจะมีกรรมกันมาแต่ชาติปางก่อนก็ได้มั้งครับ) ก็เลยถูกกาชื่อออกไปซะงั้น

พนักงานที่มีลักษณะอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นนี่แหละครับที่มักจะอยู่ในข่ายที่จะถูกเลิกจ้างเมื่อฝ่ายบริหารจำเป็นจำต้องตัดสินใจว่าใครควรอยู่ หรือใครควรจะไปก็มักจะอาศัยเกณฑ์ที่ผมบอกมาข้างต้น นี่แหละครับเป็นตัวคัดเลือกคนที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทจะเลิกจ้าง

แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับการเลิกจ้างเริ่มจากข้อ 1 ก่อนแล้วค่อยพิจารณาลงมาเรื่อย ๆ จนถึงข้อ 9 นะครับพูดง่าย ๆ ว่าถ้าใครมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในข้อ 1 ถึงข้อ 9 ล่ะก็มีสิทธิตกงานได้ทั้งนั้นแหละครับ

ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่อยากจะให้มีการเลิกจ้างกันหรอกนะครับ แค่อยากจะให้เป็นข้อมูลสำหรับทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายพนักงานให้รับรู้ และเข้าใจตรงกันว่าหลักเกณฑ์การเลิกจ้างมีอะไรบ้างเท่านั้นแหละครับ และขอเป็นกำลังใจให้ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างให้ฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยดีนะครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-454767


จำนวนผู้อ่าน: 1932

25 เมษายน 2020