บรรยง : ชงยาขมถอนพิษโควิด กู้ได้ 20% ของจีดีพี-รื้อขายรัฐวิสาหกิจลดหนี้

“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน แขกคนสำคัญของ “พรรคกล้า” ที่มี “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้ารวมพลระดมสมองในหัวข้อ “ความปกติใหม่ และวิสัยทัศน์ประเทศไทย” บนโลกวิถีใหม่-new normal

โลกสะดุดครั้งใหญ่-ศก.ถดถอย

“บรรยง” กล้าที่จะสารภาพว่า ไม่รู้ว่าโลกหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร เขาใช้ประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านร้อน-ผ่านหนาวเริ่มต้นเล่าเรื่อง โลกก่อนวิกฤตโควิด-19 เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาหลังสงครามเย็น ความเจริญทางเศรษฐกิจทะยานต่อเนื่อง

ผลผลิตของโลกเติบโต 4 เท่า ขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นไม่ถึง 2 เท่า สงครามเย็นยุติลง โลกาภิวัตน์เดินหน้า แม้ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายผลประโยชน์ไม่ทั่วถึง ยังมีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“โลกสะดุดแรง ครั้งใหญ่ที่สุดหลังศตวรรษสงครามโลกครั้งที่สอง ครั้งที่หนึ่ง วิกฤตเศรษฐกิจ great depression ค.ศ. 1930 และวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง”

วิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกมีปัญหา เพราะโลกเชื่อมโยงกันมากขึ้นจึงลุกลาม ไร้พรมแดน ไม่มีประเทศใดในโลกปราศจากเชื้อโควิด-19

“โลกจะเข้าสู่สภาวะ recession (ถดถอย) ต่อให้พบวัคซีนปีหน้า แต่ Damage is done ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ต้องใช้เวลาไม่น้อยที่จะแก้ปัญหาให้หมดไป”

จีดีพีติดลบ 10%

“บรรยง” ยกนิ้วให้กับระบบสาธารณสุขของไทยที่สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ด้วยเศรษฐกิจไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทำให้มาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลมี “ต้นทุนสูง” เช่น ปัญหาการเจริญเติบโต การกระจายไม่บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นประเทศกำลังพัฒนา 10 ปี
ที่ผ่านมามีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ติดกับดักศักยภาพ โดยเฉพาะ productivity ไม่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจไทยเกี่ยวโยงกับต่างชาติเยอะ จึงเกิดความเปราะบางจากวิกฤตโลก รวมถึงการท่องเที่ยวส่งออก ผลกระทบค่อนข้างหนัก

“ตอนนี้เราเจอปัญหาเศรษฐกิจใหญ่มโหฬารแน่นอน การปิดเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นการปิดตามคำสั่งของรัฐบาล เป็นการตัดสินใจที่ผมสนับสนุนนะ ตัดสินใจเอาเรื่องสุขภาพก่อน แต่หนีไม่พ้นที่จะเจอปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาก”

สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะ “ติดลบ 5.8%”

แต่เขาเชื่อว่า “ติดลบ 10%” มากกว่าครั้งวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ค.ศ. 1998 ซึ่ง “ติดลบ 9%”

“คราวนี้จะติดลบต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เพราะทั้งโลกประสบปัญหาวิกฤตเดียวกัน เศรษฐกิจไทยจะตกต่ำ เนื่องจากการกระจายความเหลื่อมล้ำ-ความมั่งคั่งและโอกาสไม่ค่อยดี ทำให้คนเดือดร้อนมาก”

“ถ้ามองประวัติศาสตร์โลก สงครามโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ครั้งนี้ก็คงลดบ้าง แต่เป็นการลดที่เราไม่ค่อยชอบ การเห็นมหาเศรษฐีจนลงเราไม่ได้ปลื้มใจไปด้วย ทุกคนจะเจอผลกระทบ”

เขาให้คาถากันภัย-กันพิษวิกฤต ต่อยอดจากคำว่า “VUCA” ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ 3 คำ 1.agility ความคล่องตัวสูง 2.resilience การยืดหยุ่น ความสามารถในการฟื้นตัว และ 3.technology และ data ข้อมูลที่จะนำมาประกอบกัน

“ผมคัดค้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 4 พันหน้า ใช้ไม่ได้ ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญให้เลิกมีซะที พิสูจน์ให้เห็นว่า วิธีการต้องเปลี่ยน โลกคาดการณ์ไม่ได้ ทำให้การวางแผน วางยุทธศาสตร์ยากมาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย”

ถอนพิษโควิด 4 ล้านล้าน

บ่อยครั้งที่ “บรรยง” แสดงความคิดแหลมคม ครั้งนี้เขาแฉลบไปพูดถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาล รวมถึงมาตรการที่มี “ข้อกังขา” ว่า “อุ้มเศรษฐี”

“ผมสนับสนุนและคิดว่า อาจจะไม่พอด้วยซ้ำ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ ด้านสาธารณสุขมีเท่าไหร่ก็ต้องใส่ให้หมด เยียวยาผู้เดือดร้อนโดยตรงระยะสั้นให้อยู่ได้ โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสต้องได้รับการดูแลให้พ้นช่วงวิกฤตไปได้”

“ผมเห็นด้วยกับมาตรการดูแลระบบการเงินให้เดินต่อไปได้ ไม่ให้เกิดวิกฤตซ้อน ดีกว่าตามแก้ปัญหา เพิ่มสภาพคล่องระยะสั้นไม่ให้บริษัทเล็ก-ใหญ่เจ๊ง จนกระทบทั้งห่วงโซ่ซัพพลายเชน เช่น การจ้างงาน”

แม้ “บรรยง” จะนิยามตัวเองว่าเป็น neoliberal ตัวยง แต่เขาเชื่อว่า ประวัติศาสตร์ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตใหญ่ในโลก รัฐเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าภาพ mobilize resource (ระดมทรัพยากร) จำนวนมโหฬารเข้าไปแก้วิกฤตได้
กู้เงิน 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไม่น่ากลัว 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีก็ไม่น่ากลัว แม้จะทำให้หนี้สาธารณะติดเพดานก็จริง แต่ต้องชื่นชมรัฐไทยตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรมที่มีวินัยการคลังดี หนี้สาธารณะจึงอยู่ในขอบเขตที่จัดการได้ มีกำลังเหลือพอจะใช้ได้

“ถ้าเราขึ้นไปเต็มเพดาน ผมอยากจะยุไปได้เลย ไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์จนเต็มเพดานหนี้สาธารณะ อยากลดหนี้สาธารณะของรัฐไทย ทำได้ 2 อย่างหลัก 1.ให้เศรษฐกิจโตเยอะ ๆ เพื่อเก็บภาษีมากขึ้น 2.ขึ้นภาษี เอาจากคนรวยให้มากกว่า”

“เชื่อหรือไม่ ไทยมีอย่างที่ 3 คือ ขายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกันกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี (16 ล้านล้าน) แบ่งขายไม่ถึงครึ่งก็สามารถลดหนี้สาธารณะลงไปอีก 40 เปอร์เซ็นต์ได้อีก แต่ต้องรอจังหวะให้ได้ ต้องมีวิธีการให้ดี”

ขายรัฐวิสาหกิจโปะหนี้สาธารณะ ในฐานะ “ศิษย์เก่า” บอร์ด บมจ.การบินไทย ทำให้หุ้นการบินไทยทำกำไร 2 ปีติดต่อ ปีแรก 7 พันล้านบาท ปีที่สอง 1.5 หมื่นล้านบาท ราคาหุ้นจาก 7 บาทขึ้นไปเป็น 53 บาท โชว์กึ๋น
วิธีแก้ไขปัญหาการขาดทุน

“ไม่แปลกใจที่รัฐบาลจะให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท และเห็นด้วยในภาพรวม แต่ต้องไม่ใช่การค้ำประกันเฉย ๆ หรือไม่ควรค้ำประกันด้วยซ้ำ รัฐบาลควรจะไปกู้มาแล้วให้การบินไทยกู้อีกต่อ”

“ผู้กู้กับผู้ค้ำประกันมีอำนาจผิดกัน โดยให้การบินไทยเข้ากระบวนการฟื้นฟูภายใต้กฎหมายล้มละลาย เพราะทำให้เจ้าหนี้รายสุดท้าย คือ รัฐบาลมีอำนาจมากกว่า”

“การบินไทยก่อนโควิด-19 ก็อยู่ได้แค่ 6 เดือนอยู่แล้ว ขาดทุนปีละหมื่นกว่าล้านบาท ทุนเหลือศูนย์ หนี้เกือบ
3 แสนล้าน ทุนติดลบ การได้เงิน 5 หมื่นล้าน จึงไม่ได้แก้ปัญหา เป็นเพียงการยืด 6 เดือนก็หมดแล้ว”

“ต้องแก้แบบรื้อกระดาน ผ่าตัดใหญ่ ต้องกล้าทำ ต้องมี political will (เจตจำนงค์ทางการเมือง) จะเป็นบรรทัดฐานที่ดีในการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง”

เขาดักทางมายาคติ-วิวาทะ “ขายชาติ” ที่จะย้อนศรทิ่มแทงแนวคิดการแปรรูปวิสาหกิจ “เวลาเราพูดว่า อุตสาหกรรมสำคัญในประเทศ ผู้ถือหุ้นใหญ่ควรจะเป็นของคนไทย ฟังดูดี นักการเมืองพูดทุกคน ใคร ๆ ก็พูด เช่น สายการบิน เทเลคอม แบงก์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ทำไม ทั้งที่การขายออกไปในตลาดมีประโยชน์มาก”

“ผมถามคำถามง่าย ๆ ว่า มีกี่ตระกูลที่จะไปถือหุ้นพวกนั้นได้ เรากำลังปกป้องเจ้าสัว หรือว่าปกป้องผู้บริโภคกันแน่ เวลาเรามีมายาคติแบบนี้”

“บรรยง” ขอยืมหลัก 5T ของ “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” นักเศรษฐศาสตร์-การเงินรุ่นลูก มาใช้หากวิกฤตครั้งนี้ใหญ่หลวง-มโหฬาร การใช้เงินมหาศาล 20 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี หรือ 4 ล้านล้าน 1.T-titanic ต้องขนาดใหญ่พอ 2.T-timely ต้องทันเวลา 3.T-target ต้องตรงเป้า 4.T-transparent ต้องโปร่งใส เพราะรัฐใช้เงินทีไรคนก็ขนหัวลุก และ 5.T-สุดท้าย สำคัญและน่ากังวลมาก คือ T-temporary ต้องชั่วคราว-มีจุดจบ

“ประเทศไหนที่รัฐทำเร็ว ถอยเร็ว จะมีความเจริญต่อเนื่องที่ดีกว่า ประเทศไหนที่รัฐอยู่นาน จะกึ่งไปทางสังคมนิยมค่อนข้างเยอะ และพิสูจน์แล้ว ประเทศไหนเป็นสังคมนิยมจะเติบโตช้ากว่า เพราะรัฐใหญ่”

ลดอำนาจรัฐ-ปฏิรูประบบราชการ

“บรรยง” ผู้ปวารณาตัวสังกัดลัทธิ neoliberal จึงเชื่อว่า “ระบบตลาด” มีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐ-รัฐควรจำกัดการขยายตัว 3 ประการ 1.ขนาด 2.บทบาท และ 3.อำนาจ “ประเทศไทยไม่มีหลักว่าจะบริหารไปในทิศทางใด โดยเฉพาะเศรษฐกิจ รัฐไทยขยายตัวมโหฬาร โดยเฉพาะภายใต้ระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยยิ่งขยายตัว”

“ขนาดของรัฐไม่สูงมาก 25 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่รัฐวิสาหกิจกับนโยบายนอกงบประมาณใหญ่โตมโหฬาร รัฐวิสาหกิจไทยขยายจาก 5 ล้านล้าน เป็น 16 ล้านล้านใน 15 ปี 3 เท่าตัว”

เมื่อขยายขนาดก็ขยายบทบาท เข้าไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ขยายอำนาจ กฎ-ระเบียบของไทยมีเป็นแสนฉบับมีมากมหาศาล เป็นอุปสรรค ยิ่งขยายรัฐ ยิ่งขยายคอร์รัปชั่น วิธีเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีที่สุด คือ การลดรัฐ ครั้งนี้เป็นโอกาส

“แปรรูปวิสาหกิจ คือ การลดรัฐ การปล่อยทรัพยากรให้ตลาดจัดการจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะโลกพิสูจน์แล้วว่าตลาดคือการแข่งขัน ภายใต้โครงสร้างที่วางไว้ดีเท่านั้น ถ้าปราศจากตลาด รัฐจะเป็นสังคมนิยม”

หาก “บรรยง” มีอำนาจอยู่ในมือ หลังสถานการณ์โควิด-19 เรื่องแรก-เรื่องเดียวที่จะทำ เขามองโลกสวย คือ การปฏิรูประบบราชการ

“ขอทำ project ที่ทำอยู่แล้วให้จริงจัง คือ regulatory guillotine การปฏิรูประบบราชการ ซึ่งห่อหุ้มกฎหมาย ถ้าปฏิรูปกฎหมายได้ รัฐมีหน้าที่-อำนาจแค่ไหน เพื่อ release ราชการ และระบบตลาดให้ทำงานดีขึ้น ส่งเสริมตลาด ไม่แทรกแซง”

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-460185


จำนวนผู้อ่าน: 1704

06 พฤษภาคม 2020