‘ทรัมป์’ หงุดหงิด ‘ทวิตเตอร์’ ลงนามคำสั่งทบทวนกฎหมายโซเชียลมีเดีย

REUTERS/Jonathan Ernst

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี เกี่ยวกับการกำกับดูแลบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในกฎหมายเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย โดยทรัมป์ระบุว่าเพื่อเป็นการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “ทวิตเตอร์” บริษัทโซเชียลมีเดียรายใหญ่แสดงแถบแจ้งเตือน “ข้อมูลเท็จ” บนข้อความในทวิตเตอร์ส่วนบุคคลของทรัมป์

คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขกฎหมายความเหมาะสมด้านการสื่อสาร (Communications Decency Act) ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองทางกฎหมายบางประการต่อบริษัทโซเชียลมีเดีย โดยในมาตรา 230 ที่ระบุว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่โพสต์โดยผู้ใช้งาน และสามารถปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมอย่างเนื้อหาลามกอนาจาร การล่วงละเมิด และความรุนแรงได้

คำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์เรียกร้องให้มีการทบทวนมาตรา 230 ดังกล่าว โดยชี้ว่ากฎหมายไม่ได้ครอบคลุมการแก้ไขเนื้อหาของผู้ใช้งานโดยบริษัทโซเชียลมีเดีย รวมถึงการปิดกั้นหรือลบโพสต์ด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้

ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐพิจารณาทบทวนเพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงมาตรา 230 ให้ชัดเจน โดยยกเลิกความคุ้มครองทางกฎหมายในประเด็นดังกล่าวต่อบริษัทโซเชียลมีเดีย โดยประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทเหล่านี้มี “อำนาจไร้ขีดจำกัด”

นอกจากนี้ คำสั่งพิเศษนี้ระบุให้ คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐ (เอฟซีซี) เป็นผู้พิจารณาว่า การดำเนินการปิดกั้นหรือลบเนื้อหาใดของบริษัทโซเชียลมีเดียที่เป็นการกลั่นแกล้ง ไม่มีเหตุผล หรือไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของผู้ให้บริการ

รวมทั้ง รัฐบาลสหรัฐจะมีการทบทวนว่าแพลตฟอร์มเหล่านั้นมีการจำกัดมุมมองที่หลากหลายหรือไม่ และจะมีการจัดตั้ง “ช่องทางร้องเรียนอคติทางเทคโนโลยี” เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทโซเชียลมีเดียเข้ามายังทำเนียบขาวโดยตรงได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม คำสั่งพิเศษดังกล่าวต้องมีการพิจารณาว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการของสหรัฐต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาดำเนินการตามคำสั่งพิเศษนี้ ในการเปลี่ยนแปลงหรือตีความกฎหมายเกี่ยวกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่

ก่อนหน้านี้ ทวิตเตอร์ได้แสดงข้อความแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ตรวจสอบข้อเท็จจริงบนข้อความของทรัมป์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ ที่ทรัมป์โจมตีว่าสามารถก่อให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ระบุว่าทวิตเตอร์กำลังแทรกแซงการเลือกตั้ง และขู่ว่าจะดำเนินการปิดบริษัทโซเชียลมีเดียดังกล่าวก่อนหน้านี้

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-470798


จำนวนผู้อ่าน: 1866

29 พฤษภาคม 2020