กรมท่องเที่ยวชู’เอไอ’สร้างระบบฐานข้อมูล-เรทติ้ง

กรมการท่องเที่ยว วางแผนใช้เทคโนโลยี “เอไอ”  ดึงข้อมูลโซเชียลมีเดียจัดระบบ “บิ๊กดาต้า-ดัชนีความพึงพอใจสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยว ป้อนหน่วยงานเกี่ยวข้องใช้ต่อยอด พัฒนา-เพิ่มขีดแข่งขัน

นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า จากแนวคิดจัดทำดัชนีความพึงพอใจในสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวในการกำหนดคุณภาพสินค้าและบริการเตรียมหารือผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในเชิงการใช้เทคโนโลยี จัดทำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตรวจจับข้อมูลและเก็บสะสมความเห็นของนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว, ธุรกิจบริการของไทย ในทุกหมวดหมู่ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย เพื่อนำมาประมวลผลความพึงพอใจในรูปแบบการให้คะแนน (เรทติ้ง) สะท้อนคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและบริการนั้นๆ ที่มาจากความเห็นของนักท่องเที่ยวเอง

ช่วง 6 เดือนจากนี้วางแผนศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ คาดใช้งบประมาณ 3-5 ล้านบาท ทดสอบระบบ เริ่มจากหมวดหมู่แหล่งท่องเที่ยวก่อน เพื่อให้ได้ผลในรูปแบบกราฟเรดาร์ (กราฟใยแมงมุม) ชี้จุดอ่อนและจุดแข็งชัดเจน แบบเดียวกับที่เวิลด์ อีโคโมมิก ฟอรัม (WEF) ใช้แสดงผล

เมื่อระบบมีเสถียรภาพและตรวจทานแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือจึงเพิ่มการประมวลผลในหมวดอื่น  วิธีนี้นอกจากจะได้ข้อมูลที่หลากหลายเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ดี ยังช่วยประหยัดงบประมาณจากเดิมใช้วิธีเดินสำรวจความเห็นชาวต่างชาติ ใช้งบปีละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ขณะที่การใช้เทคโนโลยีจะมีประโยชน์ในด้านจัดเก็บเพราะเป็นแบบเรียลไทม์และสม่ำเสมอ

จากการสำรวจความนิยมของโซเชียลเน็ตเวิร์คทั่วโลกพบสิ่งที่น่าสนใจคือ แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ยูทูบ  มีถึง 7 ราย ติดใน 10 อันดับแรกที่มีประชากรใช้งานมากที่สุดในโลก ไม่น้อยหน้าจีนหรืออินเดีย การดึงคอมเมนท์เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ จะสะท้อนความคิดเห็นและคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวหรือบริการได้ตรงที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อได้ผลลัพธ์จะทำให้เห็นข้อบกพร่องหรือปัญหาของแหล่งท่องเที่ยวที่ชัดเจน ต่างจากเดิมที่กรมฯ อาจรู้ปัญหาแต่ไม่มีข้อมูลอ้างอิงเพื่อชักจูงให้เกิดการแก้ปัญหา หรือช่วยเหลือในการยกระดับมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว ยกตัวอย่าง หากพบว่าคุณภาพการประเมินแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตกแห่งหนึ่งต่ำมาก ก็จะนำผลดังกล่าวไปนำเสนอในงานสัมมนา และหาทางแก้ไขด้วยการเชิญทั้งเจ้าของพื้นที่ที่ได้รับการประเมินต่ำ และเจ้าของพื้นที่น้ำตกในลักษณะเดียวกันมารับฟังพร้อมกันเพื่อเป็นกรณีศึกษา

“ปัญหาที่ผ่านมา กรมการท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวเอง แต่อยู่ภายใต้หน่วยงานต่างๆ อาจมีความเชี่ยวชาญด้านอื่น แต่ไม่รู้ว่าจะจัดระบบรองรับการท่องเที่ยวอย่างไร เช่น ถ้าเป็นบ่อน้ำพุร้อนควรมีจุดพักให้ร่มเงา การจัดห้องสุขาในแหล่งท่องเที่ยวควรเตรียมสำหรับผู้หญิงไว้มากกว่าผู้ชาย ฯลฯ นอกจากดัชนีจะทำให้ตื่นตัวแล้ว จะชี้ให้เห็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์ ตอบสนองความต้องการนักท่องเที่ยวให้เกิดความพึงพอใจได้จริงด้วย”

สำหรับเป้าหมายการใช้เทคโนโลยีในขั้นต่อไปต้องการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีระบบจดจำหน้าตาของแหล่งท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ สินค้าท่องเที่ยว เพื่อดึงข้อมูลสิ่งที่อยู่ตรงหน้าขึ้นมาทันที เช่น เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นยกโทรศัพท์ถ่ายรูปเสาชิงช้า จะมีประวัติขึ้นมาพร้อมคะแนนรีวิว ปัจจุบันเริ่มมีผู้ให้บริการในหมวดหมู่สินค้าอื่นๆ 

 

ที่มาของข่าว : bangkokbiznews.com/


จำนวนผู้อ่าน: 2077

07 ธันวาคม 2017