ทำน้อยได้มาก “สถาบันปิดทองหลังพระ” ใช้ปัญญา หาน้ำปลูกผักหลงฤดู

สถาบันปิดทองหลังพระ ใช้ปัญญาทุกวิถีทาง ช่วยเกษตรกรปลูกผักใช้น้ำน้อย แต่ได้ผลผลิตมาก ด้วยการอาศัยความรู้จาก “ปัญญาภิวัตน์” ใช้เทคโนโลยีตัดวงจรปัญหา “น้ำแล้ง” สร้างอาชีพเสริม

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่า ปิดทองหลังพระฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ศึกษาวิจัยระบบการปลูกผักในโรงเรือนที่ใช้น้ำน้อย เพื่อหาความเหมาะสมการปลูกผักในโรงเรือนในพื้นที่แห้งแล้ง และหารูปแบบ แนวทางในการขยายผลการทำเกษตรแบบ “ทำน้อย ได้มาก” เป็นทางเลือกการประกอบอาชีพให้กับให้กับเกษตรกร และผู้ต้องการมีอาชีพเสริม

 

สถาบันปิดทองหลังพระ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการปลูกผักในโรงเรือน ในพื้นที่ที่เกิดปัญหาภัยแล้ง ให้กับเกษตรกรต้นแบบ 10 ราย ในพื้นที่โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี พื้นที่ต้นแบบที่ปิดทองหลังพระทำงานในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งที่ผ่านมากการปลูกผักในโรงเรือนสามารถเป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรต้นแบบประมาณเดือนละ 3,000 บาทต่อราย

ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระ กล่าวว่า “ผลที่ได้จากการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา คือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เพื่อทำการศึกษาและวิจัยโครงการปลูกผักโรงเรือนแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เป็นโมเดลที่ผู้ที่สนใจสามารถนำไปขยายผลที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ทั้งในพื้นที่ต้นแบบและพื้นที่อื่นที่มีปัญหาภัยแล้ง”

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ที่จะนำไปถ่ายทอดต่อ ทั้งวิธีการทำ รูปแบบการปลูกผักในโรงเรือนที่เหมาะสม เรียนรู้ปัจจัยที่มีผลต่อการการเจริญเติบโตของผักในโรงเรือนแต่ละฤดูกาล การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผักที่ปลูกได้ ให้ได้มูลค่าสูงขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด และโมเดิร์นเทรด ตลอดจนการลงทุนที่เหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุน

นายมนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า โครงการปลูกผักในโรงเรือนครั้งนี้ ปัญญาภิวัฒน์จะนำความรู้ทั้งด้านนวัตกรรมการเกษตร รวมถึงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีอยู่มาช่วยในการพัฒนาอย่างครบวงจร เกิดความน่าเชื่อถือ ให้เกษตรกรขยายการผลิตได้ นำไปสู่ภาพใหม่ของเกษตรกรคือการทำการเกษตรและการค้าที่ให้รายได้ดีขึ้น เช่น การทำ Home delivery ที่จะส่งสินค้าอย่างไรให้ไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-479328


จำนวนผู้อ่าน: 2081

19 มิถุนายน 2020