ห้ามขายเหล้า-เบียร์ออนไลน์ งัดกฎหมายคุมเข้มรายย่อยระส่ำ

คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชงห้ามขายเหล้าเบียร์ออนไลน์ หลังผลพวงโควิด-19 หนุนเทรนด์ขายผ่านออนไลน์พุ่งกระฉูด วงการลุ้นระทึก คาดประชุมนัดแรก 22 มิถุนายนนี้ หวั่นผู้ประกอบการรายย่อย-ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์กระทบหนัก หาช่องทางแจ้งเกิดยาก ฝ่าฝืนโทษหนักทั้งปรับ-จำคุก

นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการเหล้าเบียร์จำนวนหนึ่งที่หันมาทำการตลาดโดยใช้วิธีการโฆษณาและขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ลดลง บวกกับมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่องทางหรือร้านจำหน่ายเหล้าเบียร์ถูกปิดลง ซึ่งทำให้การบริโภคเหล้าเบียร์ลดลงโดยสภาพ ผู้ประกอบการจึงต้องดิ้นและพยายามหาช่องทางใหม่ ๆ มาช่วยเพื่อจะได้ขายสินค้าให้มากขึ้น

โดยความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เรื่องการห้ามการโฆษณา ตามมาตรา 32 โดยผู้กระทำผิดหลัก ๆ จะเป็นผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก รวมถึงเจ้าของเพจที่มีคนนำเข้าสินค้าไปฝากลงโฆษณา รีวิวเวอร์ ซึ่งการโฆษณามีอิทธิพลต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างมาก เพราะการโฆษณาเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากดื่มและจะมีผลกระทบตามมาในหลาย ๆ เรื่อง กฎหมายจึงมีการควบคุมด้วยการห้ามโฆษณา เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

สำหรับขั้นตอนก่อนที่เรื่องจะมาถึงสำนักงาน จะต้องมีผู้ร้องเรียนเข้ามาในระบบ จากนั้นสำนักงานก็จะมีการตรวจสอบข้อมูล หากพบว่าเข้าข่ายว่ามีความผิดเรื่องการโฆษณา สำนักงานก็จะทำหนังสือไปเชิญผู้ประกอบการรายนั้น ๆ มาชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง และดำเนินการตามขบวนการ จริง ๆ มีหลายเรื่องที่สำนักงานอยากจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล เพื่อจะได้มีคำพิพากษาออกมาเป็นบรรทัดฐาน เพราะหากไม่มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานก็มักจะมีการกล่าวอ้างกันได้ว่า เป็นการใช้ดุลพิจารณาของเจ้าหน้าที่

“โดยเฉพาะช่วง 2-3 เดือนหลังจากที่มีโควิด-19 มีเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามามากกว่า 100 เคส ตอนนี้สำนักงานเรียกมาชี้แจงทุกวัน หลายรายยอมจำนนและยอมเสียค่าปรับ อย่างไรก็ตาม หลัก ๆ เราจะดูจากเจตนารมณ์ของคนทำเป็นหลัก หรือหากกังวลว่าอะไรที่ทำได้หรือไม่ได้ โทร.เข้ามาสอบถามก่อนก็ได้”

ชงห้ามขายเหล้าเบียร์ออนไลน์

ต่อคำถามที่ว่า นอกจากการโฆษณาผ่านสื่อที่ไม่สามารถทำได้ และผิด พ.ร.บ.ควบคุมฯ ดีลิเวอรี่ทำได้หรือไม่ นายแพทย์นิพนธ์กล่าวว่า เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายห้ามขายเหล้าเบียร์ออนไลน์ บริการดีลิเวอรี่จึงยังทำได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กำลังมีการหารือกันว่าจะออกกฎเพื่อห้ามการขายเหล้า-เบียร์ในช่องทางออนไลน์ โดยหลักการเบื้องต้นจะเป็นห้ามเฉพาะการขายจากผู้จำหน่ายถึงผู้บริโภค ไม่ห้ามระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้จำหน่าย เมื่อมีข้อห้ามนี้ก็จะทำให้ไม่มีการโฆษณาออนไลน์ไปโดยปริยาย แต่ทั้งนี้ก็จะมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น เข้าไปที่ร้าน แล้วทางร้านมีระบบการสั่งอาหารเครื่องดื่มแบบออนไลน์ ประกาศนี้ก็จะอนุโลม เพราะเป็นการขายออนไลน์ในสถานที่ขายที่มีใบอนุญาต

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และต้องดูระดับนโยบายว่าจะเห็นชอบกับเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร แต่ในส่วนสำนักงานได้มีการเตรียมร่างประกาศนี้ไว้แล้ว โดยเป็นการปรับประยุกต์มาจากการห้ามขายบุหรี่ออนไลน์ที่มีการบังคับใช้มานานแล้ว โดยจะออกมาเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

รายเล็ก-คราฟต์เบียร์อ่วม

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์รายใหญ่แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า หากมีประกาศดังกล่าวออกมา ในทางปฏิบัติน่าจะส่งผลกระทบกับบริษัทผู้ผลิตเบียร์รายเล็กรายน้อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ที่เกิดเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา สำหรับบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่คงไม่มีผลกระทบอะไร เนื่องจากบริษัทเหล่านี้จะมีช่องทางจำหน่ายหลัก ๆ ของตัวเองอยู่แล้ว ทั้งเอเย่นต์ และโมเดิร์นเทรด ส่วนการขายผ่านช่องทางออนไลน์ปัจจุบันก็มีตัวเลขเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แหล่งขาวระดับสูงจากวงการเหล้าเบียร์อีกรายหนึ่งกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว และเบื้องต้นจะร้องเรียนผ่านสื่อ แต่หากประกาศเป็นกฎหมายเมื่อไหร่ จะใช้ช่องทางทางกฎหมายในการเรียกร้องอีกครั้ง โดยจะอาศัยข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 วรรค 1 ระบุว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวก และสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง”

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายหนึ่งกล่าวว่า ได้รับทราบถึงร่างกฎหมายดังกล่าวมาสักระยะแล้ว และล่าสุดมีกระแสข่าวที่สำนักงานกำลังจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณา ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ หากมีมติเห็นชอบก็จะถูกเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติพิจารณาต่อไป และหากคณะกรรมการชุดนี้เห็นชอบก็จะมีผลบังคับใช้ หากเป็นไปตามร่างดังกล่าวก็จะบังคับใช้เมื่อครบ 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีบทลงโทษสำหรับการฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 40

เปิดสถานที่ต้องห้าม “ขาย-ดื่ม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 27 ได้กำหนดสถานที่หรือบริเวณที่ “ห้ามขาย” อาทิ วัด หรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, สถานบริหารสาธารณสุขของรัฐ สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร, หอพัก, สถานศึกษา, ปั๊มน้ำมัน, สวนสาธารณะของราชการ หรือสถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศ และกำหนดสถานที่ที่ “ห้ามบริโภค” อาทิ วัด หรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, สถานบริหารสาธารณสุขของรัฐ ยกเว้นบริเวณที่พักส่วนบุคคล, สถานที่ราชการ ยกเว้นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี, สถานศึกษา ยกเว้นที่พักส่วนบุคคลหรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี, ปั๊มน้ำมัน. สวนสาธารณะของราชการ หรือสถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศ

หลังจากนั้น ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ในปี 2555 ห้ามขายหรือห้ามบริโภคในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน, ในรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ, ห้ามบริโภคขณะขับขี่ หรือโดยสารอยู่ในรถ ปี 2556 ห้ามขายหรือบริโภคในสวนสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ปี 2558 ห้ามขายหรือบริโภคในสถานีขนส่ง, บนทาง, บนทางรถไฟ, ท่าเรือโดยสารสาธารณะ และห้ามขายรอบสถานศึกษา ตลอดจนการกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายในร้านค้าปลอดอากรในสนามบินนานาชาติ ไปจนถึงการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้ขายได้แค่เวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. และในปี 2561 ห้ามขายด้วยวิธีการใช้เครื่องจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อ หลังจากมีเคสของการขายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อเกิดขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-479409


จำนวนผู้อ่าน: 2234

19 มิถุนายน 2020