ธุรกิจกะทิ ระดมสมอแก้เกม PETA ยอดขาย “ชาวเกาะ” ในอังกฤษหด 30 %

จุรินทร์ ประชุมร่วมเอกชน หาแนวทางชี้แจงปัญหา ลิงเก็บมะพร้าว

จุรินทร์ เผยภายหลังการประชุมร่วมเอกชน หาแนวทางชี้แจงปัญหา ลิงเก็บมะพร้าว กระทบสินค้าไทยในอังกฤษ เห็นชอบ จัดทำรหัสตรวจสอบย้อนกลับยันไม่มีการใช้ลิง ด้านกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ ชี้ 6 ปีที่ผ่านมาไม่มีเรื่องร้องเรียนลิงเก็บมะพร้าว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าที่ได้จากมะพร้าว โดยเฉพาะกรณีที่ห้างสรรพสินค้าในอังกฤษ นำผลิตภัณฑ์กะทิของไทย เช่น แบรนด์กะทิชาวเกาะและแบรนด์กะทิอร่อยดี ออกจากชั้นวางสินค้า เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าได้มีการนำลิงมาเก็บมะพร้าวซึ่งเป็นการทารุณกรรมสัตว์นั้น ว่า เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจว่าสินค้าจากประเทศไทยไม่ได้มีการทารุณกรรมสัตว์อย่างที่สงสัย ผู้ประกอบการ ผื้ผลิต และผู้ส่งออกที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะกำหนดเรื่องของมาตรฐานในการตรวจสอบสินค้าย้อนกลับว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆไม่ได้มีการทารุณกรรมสัตว์แต่อย่างใด โดยสามารถตรวจสอบได้ว่าวัตถุดิบที่ได้จากมะพร้าวมาจากสวนไหน ชาวสวนรายใด และไม่มีการนำลิงมาเก็บมะพร้าวอย่างแน่นอน

โดยจะมีการติดรหัสลงในบรรจุภัณฑ์ในสินค้ากะทิของไทย เพื่อให้ให้ผู้นำเข้า ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสินค้าได้ นอกจากนี้ จะเชิญผู้เกี่ยวข้องเบื้องต้นจะเชิญเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย รวมไปถึงองค์กรพิทักษ์สัตว์ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อดูขบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การเก็บมะพร้าวจนกระทั่งการผลิตเพื่อสร้างความแน่ใจว่าประเทศไทยไม่ได้มีการทารุณกรรมสัตว์ และหากสถานการณ์โควิด-19ดีขึ้น เปิดประเทศได้ กระทรวงพาณิชย์จะเชิยผู้นำเข้าและผู้กระจายสินค้าเข้ามาลงพื้นที่ตรวจสอบขบวนการผลิตด้วยเช่นกัน โดยจะเร่งพาลงพื้นที่โดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ทีมไทยแลนด์ที่อยู่ต่างประเทศตนได้มอบหมายให้เร่งชี้แจงเพื่อทำควมเข้าใจในประเด็นดังกล่าวด้วย

นายโรเจอร์ โลหะนันท์ ประธานอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์สมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) กล่าวว่า สมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกกฎหมายจัดการจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะในส่วนของลิงเข้าไปอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2547 ซึ่งประเทศไทยมีการออกกฏหมายเพื่อสัตว์สวัสดิภาพหลายชนิดเช่นสุนัข แมว ปางช้าง Pet Shop ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ยกร่างไปแล้ว แต่ยังไม่มีการออกกฏหมายเพื่อสวัสดิภาพของลิง ดังนั้น การที่มีองค์กรของต่างชาติ ออกมาให้ข่าวว่าประเทศไทยมีการใช้งานและทารุณลิงจึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐของไทยปฎิเสธไม่ได้เพราะมีการใช้แรงงานลิงอยู่จริง

ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมมะพร้าวการท่องเที่ยวการแสดงละครสัตว์ อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวตนเองมองว่าอุตสาหกรรมมะพร้าวเป็นเพียงเหยื่อและจุดเริ่มต้นของการโจมตีขององค์กรด้านพิทักษ์สวัสดิการสัตว์ อื่น ๆ ต่อไปเชื่อว่าจะมีการนำประเด็นการทารุณสัตว์ออกมาเรื่อย ๆ หากประเทศไทยไม่มีการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์โดยเฉพาะลิง หรือสัตว์อื่นที่มีการใช้แรงงาน

“องค์กรพิทักษ์สัตว์ โดยเสนอให้มีการร่างกฏหมายเพื่อสวัสดิภาพ และคุณภาพของแรงงานลิงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องมองว่าควรให้ความสำคัญกับสุนัขและแมวก่อน จนทำให้เกิดประเด็นขึ้นมาก่อนที่จะทำร่าง ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐควรใช้โอกาสนี้เร่งออกกฎหมายลูกออกมาโดยเร็ว” นายโรเจอร์ กล่าว

นายโรเจอร์ กล่าวอีกว่า การใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าวของคนไทยถือเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีมานานซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะทำให้หมดไป ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการก็คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์ที่คนนำมาใช้แรงงานและประกาศให้ทั่วโลกได้รับทราบและเข้าใจ แทนการออกมาแก้ตัวหรือกล่าวหาว่าประเทศไหนก็มีการใช้แรงงานสัตว์กันทั้งนั้น ซึ่งมองว่าเป็นการเถียงกันไม่จบไม่สิ้นทางออกที่ดีที่สุดก็คือการทำให้ทั่วโลกเข้าใจว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์ที่เรานำมาใช้แรงงานตามมาตรฐานที่สากลยอมรับ

นายเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหารและผู้จัดการโรงงานชาวเกาะ บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดการแบนสินค้ากะทิชาวเกาะ ที่ประเทศอังกฤษ และถูกถอดออกจากชั้นวางสินค้าในห้างขนาดใหญ่ 2-3 ห้าง กระทบยอดขายหายไป 30%

นอกจากนี้ ลูกค้าที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเองได้มีการสอบถามเข้ามาถึงปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่กระทบยอดขาย ซึ่งทางบริษัทได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วว่ามีการใช้แรงงานคน และมีการลงนามบันทึกข้อตกลงกับชาวสวนที่เป็นซัพพลายเชนโดยกำหนดว่าจะต้องไม่มีการนำลิงมาเก็บมะพร้าวเพื่อเป็นวัตถุดิบในการส่งเข้าดรงงานผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งขณะนี้ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและสมุทรสงคราม ได้ตรวจสอบสวนแล้วว่าไม่มีการนำลิงมาเก็บมะพร้าวอย่างแน่นอน พร้อมกับหนังสือรับรองจากผู้ว่าราชการจังหวัด

ทั้งนี้ เอกชนเองก็ต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจไม่เฉพาะตลาดอังกฤษแต่รวมไปถึงตลาดยุโรปด้วย ทั้งนี้ ยอมรับว่ากรณีที่เกิดขึ้น 4-5 ปีที่ผ่านมาก็ถูกเป็นประเด็นในตลาดสหรัฐ ซึ่งก็ได้ชี้แจงทำความเข้าใจไปซึ่งก็ได้รับการยอมรับและไม่มีปัญหา เพราะสามารถตรวจสอบได้ พร้อมกันนี้ในตลาดจีน เอเชียเอง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของสินค้ากะทิ แม้ขณะนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ แต่อนาคตก็ยังมั่นใจไม่ได้ซึ่งเอกชนก็ต้องจำเป็นทำความเข้าใจด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เร็วนี้ทางเอกชนผู้ผลิตจะเชิญกลุ่มชาวสวนเข้าทำความเข้าใจและชี้แจงปัญหานี้ เพื่อดำเนินการจัดทำรหัสเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ สำหรับคู่แข่งกะทิของไทย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สัดส่วนการส่งออกกะทิไทยไปอังอังกฤษอยู่ที่ 80%

นายแจ๊ค วัฒนาพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทสุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดสิจำกัด กะทิ แบรนสุรีย์และเอกไทย กล่าวว่า บริษัทได้แสดงคลิปวิดีโอการเก็บมะพร้าวซึ่งเป็นการใช้แรงงานคนสอยมะพร้าว อีกทั้ง บริษัทยังได้ทำเอ็มโอยูกับเกษตรกรผู้ส่งผลิต ตั้งแต่2 ปีที่แล้วว่าวัตถุดิบที่ส่งมานั้นจะต้องไม่มีการใช้ลิงในการเก็บมะพร้าว เนื่องจากมีลูกค้าจากบริษัทในเนเธอแลนด์เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานสัตว์ เพราะประเทศมีการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการใช้แรงงานสัตว์ ซึ่งบริษัทรับซื้อผลผลิตภาคใต้เป็นหลักตั้งแต่จังหวัดสมุทรสาครลงไป นอกจากนี้ บริษัทได้รั้งมูลนิธิเกี่ยวกับกาคุ้มครองสัตว์ เนื่องจากเห็นความสำคัญในเรื่องนี้

นายธีรวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ผอ.กองการสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องของการทารุณกรรมสัตว์ และพบว่า 6 ปีที่ผ่านมาไม่มีการร้องเรียนปัญหาการทารุณกรรมสัตว์โดยเฉพาะเรื่องของลิงเก็บมะพร้าวแต่อย่างไร นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายลูกเฉพาะในเรื่องของสัตว์ด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำร่างเพื่อเสนอให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-488372


จำนวนผู้อ่าน: 2061

09 กรกฎาคม 2020