สวทช.วิจัยเชิงรุก พลิกโฉมอุตสาหกรรม

รายได้จากการวิจัย 1,961 ล้านบาทจากเป้าหมาย 1,830 ล้านบาทในปี 2560 เป็นผลจากการทำงานของ สวทช. ที่เดินหน้าเต็มกำลังวิจัยพัฒนาตอบโจทย์ทุกภาคส่วน และเตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่ปี 2561 มุ่ง 5 ด้านทั้งอาหารเพื่ออนาคต, ระบบขนส่งสมัยใหม่, การสร้างสุขภาพและคุณภาพ

“ตลอด 1 ปีที่บริหารงานเป็นช่วงที่ สวทช. ได้รับโอกาสในการทำงานหลายๆ เรื่องจากรัฐบาล โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมผลักดันระบบวิจัยของประเทศอย่างเข้มข้น จนเกิดแผนยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี” ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวภายในการแถลงผลงานในรอบปี

ปีแห่งนวัตกรรมเชิงรุก

การศึกษาค้นคว้าที่ทำมาอย่างต่อเนื่องเกิดเป็นผลงานพร้อมใช้ ที่ตอบสนองความต้องการของภาคเกษตร บริการและอุตสาหกรรมได้เป็นที่น่าพอใจ ทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์ 255 โครงการให้กับ 311 หน่วยงาน สร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม 27,546 ล้านบาท เกิดการลงทุนด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคการผลิตและบริการ 9,456 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย การขายสิทธิบัตรรวมทั้งการให้คำปรึกษาต่างๆ ด้วย

ในปี 2560 สวทช.ยื่นจดสิทธิบัตร 301 รายการ และผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 578 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้มีผลงานตีพิมพ์ที่มี Impact Factor ระดับ 34 ที่ถือว่าสูงมาก 1 ฉบับ หากนับรวม 4 ปีที่ผ่านมา สวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้ว 2,035 ฉบับ โดยผลงาน 1 ใน 3 ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติชั้นนำของโลก รวมถึงได้รับการนำไปใช้อ้างอิงในทางวิชาการสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมของประเทศ

ด้านการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยผ่านโปรเจคหลักๆ ประกอบด้วย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ส่งผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ 1,551 โครงการ มูลค่าผลกระทบ 2,573 ล้านบาท มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประมาณการตัวเลขผลกระทบด้านการลงทุนปี 2559 ระบุว่า ทุก 1 บาทที่ภาคเอกชนลงทุนก่อให้เกิดผลกระทบประมาณ 7.64 บาท หรือ 7 เท่า ในระยะเวลา 1 ปี

โครงการหิ้งสู่ห้าง 3 หมื่นบาททุกสิทธิบัตร มีผู้ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่า 306 รายการ ขณะที่โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม หรือ Start-up Voucher 8 แสนบาทต่อโครงการ ได้สนับสนุนเงินด้านการตลาด 82 ราย มูลค่า 60 ล้านบาท สร้างรายได้ 80 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการภาษีวิจัย 300% ได้ให้การรับรอง 400 โครงการ ในส่วนของบัญชีนวัตกรรมก็มีผู้ยื่นขอ 326 รายการให้การรับรอง 136 รายการ

“จากรายได้ที่เราขยายเป้าเพิ่มระหว่างปีนี้ เราเชื่อว่าในปี 2561 จะสร้างรายได้มากกว่า 2 พันล้านบาททั้งจากการรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัยกับภาคเอกชน รวมถึงบริการทางเทคนิคต่างๆ ที่สำคัญ คือ การเพิ่มส่วนของการฝึกอบรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องขยับสู่เทคโนโลยีใหม่ (Retrain) รวมถึงภาคเกษตรกรรมที่ต้องเปลี่ยนสู่เกษตรสมัยใหม่”

5 กรอบวิจัยนำไทยสู่ 4.0

ทิศทางการวิจัยของ สวทช. จะมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและตอบความต้องการของภาคเอกชน ผ่านนโยบายการขับเคลื่อนด้วยประเด็นมุ่งเน้น 5 ด้าน ตามแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 6 (2560-2564) ได้แก่ อาหารเพื่ออนาคต ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรามซัพพลายเชน, ระบบขนส่งสมัยใหม่, การสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทย, เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน

ขณะเดียวกันจะต่อยอดจากฐานความเชี่ยวชาญของ 4 ศูนย์แห่งชาติ ของ สวทช. ทั้งด้าน ไบโอเทคโนโลยี ดิจิทัลเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุ และนาโนเทคโนโลยี มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมให้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ ได้ใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของไทย อาทิ อีอีซีไอซึ่งมีจุดโฟกัสอยู่ที่ 6 อุตสาหกรรม

“สวทช.ได้ลงนามร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวม 63 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาอีอีซีไอบนพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ประกอบด้วย พื้นที่สีเขียว 40% พื้นที่วิจัย 40% และส่วนสนับสนุนการวิจัย 20% ทั้งนี้มีแผนการพัฒนาโครงการอีอีซีไอในปี 2561 อาทิ การออกแบบอาคาร การใช้ศักยภาพของโปรแกรม ITAP ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับเอสเอ็มอีในพื้นที่ นอกจากนี้ยังนำงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเกษตรของหน่วยงาน สท. ลงพื้นที่ 50 ชุมชนทันที”

ในปี 2561 สวทช.เตรียมจัดทำเมกะโปรเจคใหม่ อาทิ ธนาคารพันธุ์พืช ธนาคารข้อมูลจีโนมหรือดีเอ็นเอ เป็นสิ่งที่ไทยต้องลงทุนเพื่อผลในระยะกลางหรือระยะยาว

 

ขอบคุณที่มาข่าว : bangkokbiznews.com


จำนวนผู้อ่าน: 2188

18 ธันวาคม 2017