พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา
กองทุนบัวหลวงคงเป้าหมาย AUM ปีนี้โต 5% แตะ 9.55 แสนล้านบาท หลังครึ่งปีแรก AUM หดตัวจากสิ้นปีก่อนประมาณ 8.7% เหลือ8.31 แสนล้านบาท จากผลกระทบมูลค่า NAV อุตสาหกรรมกองทุนที่ลดลง เหตุตลาดตราสารหนี้ผันผวนหนัก-นักลงทุนตื่นโควิด-19 เตรียมเสนอขาย 2 กองทุนใหม่ดัน AUM โตตามเป้า กองแรก “B-MAPS” เน้นลงทุนหุ้นไทย อีกกอง “Chin A Share RMF”ลงทุนหุ้นจีน ผลตอบแทนจูงใจ 6-20%
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา กองทุนบัวหลวงมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหาร (AUM) ลดลงตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2563 มี AUM อยู่ที่ 8.31 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2562 ประมาณ 8.7% เป็นผลกระทบจากความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ที่นักลงทุนกังวลสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนัก จึงตื่นตระหนกเทขายหน่วยลงทุน จนทำให้ต้องมีปิดกองทุนรวมตราสารหนี้ 4 กองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.แห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 บลจ.บัวหลวงมีมูลค่ากองทุนรวม (mutual fund) อยู่ที่ 5.72 แสนล้านบาท กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 2.24 แสนล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 9.40 หมื่นล้านบาท และกองทุนส่วนบุคคล 1.90 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี ยังคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2563 นี้ จะสามารถบริหารกองทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย AUM ที่ 9.55 แสนล้านบาท หรือเติบโต 5% จากสิ้นปีก่อนได้ โดยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมากองทุนบัวหลวงยังเป็นยอดซื้อสุทธิที่1.81 หมื่นล้านบาท และเป็นยอดขายสุทธิเพียง 268 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ทั้งอุตสาหกรรมเป็นยอดขายสุทธิถึง 1.62 แสนล้านบาท และมียอดซื้อสุทธิเพียง 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
นายพีรพงศ์กล่าวว่า ครึ่งปีหลัง บลจ.บัวหลวง จะเสนอขาย 2 กองทุนใหม่ ได้แก่ กองทุน “B-MAPS” ที่คาดว่าจะเสนอขายเป็นครั้งแรก (IPO) ในเดือนก.ย. โดยจะเป็นกองทุนหุ้นที่จัดพอร์ตความเสี่ยงของนักลงทุน เช่น สัดส่วนลงทุนหุ้น 25% 50% หรือ 100% เป็นต้นซึ่งประมาณการผลตอบแทนที่ 6-7%
ถัดมากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) “Chin A Share RMF” ที่เบื้องต้นตั้งเป้าขายในเดือน ต.ค. โดยคาดว่าจะสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าที่มองหาการลงทุนในกองทุน RMF เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีในช่วงปลายปีได้ ซึ่งประมาณการผลตอบแทนที่ 20% โดยที่ผ่านมากองทุน RMF ของ บลจ.บัวหลวง ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนค่อนข้างดี โดยเฉพาะกองทุนเปิดบัวหลวงทศพลเพื่อการเลี้ยงชีพ(B-TOPTENRMF) ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 300 ล้านบาท (ณ 10 ก.ค. 2563) จึงตั้งเป้าออกกองทุน RMFเพิ่มอีก 1 กองทุนในปลายปีนี้
“ถือว่าท้าทายมากที่จะทำให้ได้ตามเป้าที่วางเอาไว้ หลังจากที่ AUM กลางปีลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนต่าง ๆ สะท้อนจากปริมาณเงินฝากในระบบที่เพิ่มขึ้น รวมถึงกระแสเงินเป็นยอดขายสุทธิ(net sell) ทั้งอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามในส่วนของ บลจ.บัวหลวง พบว่า กองทุนตราสารหนี้และกองทุน RMF ยังเป็นยอดซื้อสุทธิอยู่” นายพีรพงศ์กล่าว
นอกจากนี้ นายพีรพงศ์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นไทยเพื่อการออม (BEQSSF) และกองทุนผสมบัวหลวง 70/30 เพื่อการออม (BM70SSF) ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี โดยมียอดซื้อสุทธิประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท ล่าสุด บลจ.บัวหลวงเปิดดำเนินการต่อในรูปกองทุนรวมเพื่อการออมปกติ (SSF) ซึ่งปัจจุบันมียอดซื้อสุทธิเข้ามาประมาณ 78 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจ จากมูลค่ากองทุน SSF ของทั้งอุตสาหกรรมที่อยู่ที่ประมาณ 200 กว่าล้านบาท
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-498083
จำนวนผู้อ่าน: 2066
30 กรกฎาคม 2020