เริ่มนับหนึ่งนิคมอุตฯราชทัณฑ์ เล็งพื้นที่ EEC – สร้างอาชีพนักโทษพ้นคุก

นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์แห่งแรกของไทยจ่อนำร่องในพื้นที่ EEC ส.อ.ท.หารือสมาชิก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมแก้กฎรับนักโทษเข้าทำงาน หวังให้โอกาสสร้างอาชีพได้แรงงานราคาถูก “กนอ.” รับลูกใช้เกณฑ์การตั้งเหมือนนิคมทั่วไป 2-3 ปี คาดใช้พื้นที่กรมราชทัณฑ์เอง ล่าสุดตั้ง “วิบูลย์ กรมดิษฐ์” เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ หลังพบใช้บริการผู้ต้องขังอยู่แล้ว เชื่อดันโครงการให้สำเร็จไม่ยาก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส.อ.ท.ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ได้เริ่มหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงยุติธรรม ตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีปัญหาเรื่องของจำนวนนักโทษที่พ้นโทษแล้ว อัตรากลับเข้ามาอีกจำนวนมาก ดังนั้น แนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องเริ่มด้วยการฝึกอาชีพให้กับกลุ่มนักโทษเหล่านี้

“สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการ เบื้องต้น ส.อ.ท.จะหารือกับ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกก่อนว่า มีกลุ่มใดยังขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก และยังไม่สามารถหาแรงงานเข้ามาเสริมได้ มีจำนวนเท่าไร”

ส่วนพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์คาดว่าจะต้องใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอาจจำเป็นต้องนำร่องในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) และให้อุตสาหกรรมในพื้นที่เหล่านี้ยินยอมและยอมรับบุคคลที่ผ่านการฝึกจากนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์เข้าทำงาน หากโครงการดังกล่าวสำเร็จ นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์จะเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีเพียงพื้นที่บางแห่งอย่างใน จ.กาญจนบุรี หรือใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นเพียงสถานที่ฝึกอบรมอาชีพเท่านั้น ดังนั้น หากตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมได้ ผลที่จะได้คือการได้แรงงานค่าแรงไม่สูงและผ่านการฝึกอาชีพมาแล้ว

“ปัญหาหลักคือการรับสมัครงานของบริษัทจะมีการกรอกข้อมูลส่วนตัว เรื่องของการมีคดีการถูกจำคุกมาก่อนหรือไม่ เรื่องนี้มันจึงเป็นช่องโหว่ที่ทำให้นักโทษเหล่านี้ เขาไม่สามารถมาทำงานได้ แต่เมื่อเกิดนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ขึ้นมา เราต้องคุยกับทุกอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก และยังหาแรงงานไม่ได้ ให้เขาให้โอกาสคนเหล่านี้ ซึ่งจะถือเป็นการนำร่องก่อน อาจต้องมีการแก้กฎระเบียบบางอย่างในการรับสมัครงาน แต่สำหรับเอกชนบางแห่งที่เขามีกฎระเบียบเรื่องนี้เข้ม เราก็ไม่บังคับเพราะเป็นสิทธิของเขา”

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์เป็นนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ส่วนของ กนอ.จะมีหน้าที่ให้คำแนะนำในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยหากพื้นที่เหมาะสมแล้วจะต้องดำเนินการตามกระบวนการเหมือนตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป คือ เลือกพื้นที่ ทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนดวัตถุประสงค์ เคลียร์พื้นที่ ก่อสร้าง ซึ่งก็จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี โดยพื้นที่เหมาะสมในการตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์นั้นสามารถทำได้ทั่วประเทศ อยู่ที่ว่ากรมราชทัณฑ์มีพื้นที่ที่ใดพร้อมบ้าง ซึ่งก็จะใช้พื้นที่นั้นเป็นตัวตั้ง

ล่าสุดรายงานระบุว่า นายสมศักดิ์ได้เซ็นหนังสือคำสั่งแต่งตั้ง นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์เพิ่มเติม เนื่องจากอมตะฯเป็นผู้นำด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอันดับ 1ของประเทศ และที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ทั้งที่ชลบุรีและระยอง ใช้บริการผู้ต้องขังอยู่แล้ว โดยอมตะฯสามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐาน เชี่ยวชาญในการวางโครงสร้าง ระบบการจัดการ รวมถึงการหาลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เพื่อใช้บริการผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีแผนที่จะให้มหาวิทยาลัยมาศึกษาการบริหารจัดการต่าง ๆ เพื่อหาข้อบกพร่องร่วมกัน และจะกำหนดเกณฑ์คัดเลือกผู้ต้องขัง ซึ่งต้องเป็นนักโทษชั้นดีเยี่ยม กำหนดพ้นโทษไม่เกิน 2 ปี ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ67,000 ราย แต่ช่วงเริ่มโครงการคัดเลือกเข้าร่วมประมาณ 3,000 คนก่อน

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-506429


จำนวนผู้อ่าน: 2160

17 สิงหาคม 2020