มหากาพย์ วินด์ เอนเนอร์ยี่ ธุรกิจพลังงานร้อนๆ ในมือ “ณพ ณรงค์เดช”

หนึ่งในมหากาพย์ของตลาดหุ้นไทย คงมีเรื่องราวของ “วินด์ เอนเนอร์ยี่” รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน บริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ “WEH” แห่งนี้มีตำนาน ผ่านตัวละคร “นพพร ศุภพิพัฒน์” สู่ “ณพ ณรงค์เดช”

ย้อนอดีตมหากาพย์นี้ด้วยการทำความเข้าใจในตัวละครสำคัญ ผ่านเส้นทางชีวิตของ “นพพร ศุภพิพัฒน์” หรือ “เสี่ยนิค” ที่โลดโผนโจนทะยานอย่างเหลือเชื่อที่สุด

อาชีพแรกของเขาคือการเป็น “นักลงทุน” ในตลาดหุ้น ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เวลาต่อมาเขาได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่กลุ่มทุนต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ต้องการเข้ามาในสนามนี้ด้วยผลตอบแทนการลงทุนที่น่าดึงดูดเป็นอย่างยิ่ง

แต่ธุรกิจนี้อยู่ภายใต้สัมปทานจากภาครัฐ ใครที่ต้องการจะเข้ามาในสนามนี้ต้องยอมรับว่านอกจาก “เก่งงาน” แล้วยังต้อง “เก่งคน” อีกด้วย โดยเฉพาะการเข้าหาผู้ที่ถือครองสัมปทาน โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

“นพพร” วัย 30 ปีที่ไม่เคยอยู่ในแวดวงธุรกิจพลังงานมาก่อน เข้ามาในสนามนี้คงจะต้องมีความมั่นใจใน “คอนเน็กชั่นระดับสูง”

ในกลางปี 2550 นพพร ได้เริ่มต้นลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกโดยเปิดบริษัทภายใต้ชื่อ “บริษัท เขาค้อ พลังงานลม จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ “บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด” เป็นผู้ริเริ่มการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมเป็นรายแรก ๆ ของไทย

ส่วนผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินก็คือ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ที่มี นายประเดช กิตติอิสรานนท์ อดีตวิศวกรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ นายสวาสดิ์ ปุ้ยพันธวงศ์ อดีตผู้ว่าการ กฟภ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

คอนเน็กชั่นในแวดวงราชการของ “ประเดช” มีส่วนผลักดันให้บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยีฯ ขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งได้รับสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. จำนวน 60 เมกะวัตต์

หลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาสู่ยุคของรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่ คือ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ธุรกิจของ “นพพร” ก็ไม่สะเทือนแต่อย่างไร บ่งบอกถึง “เครือข่าย” ทางการเมืองที่กว้างขวางของเขาได้อย่างดี

เดือน ก.พ. 2552 บริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เข้ามาลงทุนในบริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี่ฯ ของ “นพพร”

“นพพร” ได้จัดตั้งบริษัท วินด์เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ขึ้นในเวลานั้น เพื่อเตรียมพร้อมที่จะขยายกิจการให้เร็วที่สุดเพื่อเป็น Energy Tycoon คนใหม่ของไทย

การที่ “พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช” หรือ เสธ.อู้ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา และกรรมการใน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.มานั่งเป็นกรรมการในบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง เป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าความเครือข่ายของเขาไม่ธรรมดา

“นพพร” ติดอันดับมหาเศรษฐีของไทย ลำดับที่ 31 ในปี 2557 ถือครองมูลค่าทรัพย์สิน 26,076 ล้านบาท จากการถือครองหุ้นกว่า 2 ใน 3 ของวินด์ เอนเนอร์ยี่ ขณะที่ “ประเดช กิตติอิสรานนท์” ผู้ร่วมก่อตั้งติดอันดับที่ 44 ของประเทศไทยในปีเดียวกัน

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นชื่อ “นพพร” ปรากฏเป็นบุคคลที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกหมายจับ ตามคำแถลงของ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าตำรวจอยู่ระหว่างพิจารณาออกหมายจับ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง

“ในคดีเป็นผู้จ้างงานกลุ่มผู้มีอิทธิพลนำตัว นายบัณฑิต โชติวิทยะกุล ผู้เสียหายมาเจรจาตกลงให้ลดหนี้ให้กับตนเอง จากยอดหนี้ 120 ล้านบาท ให้เหลือเพียง 20 ล้านบาท โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินร้อยละ 10 ของยอดหนี้ที่ลดได้ ซึ่งในระหว่างการเจรจามีการข่มขู่ผู้เสียหายโดยการแอบอ้างเบื้องสูง”

คำสั่งจับกุมเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2557 โดยศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติออกหมายจับ นายนพพร ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพเลขที่ 138/2557 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2557 ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

และจ้างวานใช้ให้ผู้อื่นกระทำการร่วมกันทำร้ายผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

หลังเกิดข่าวดังกล่าวผลกระทบได้ส่งมาถึงวินด์ เอนเนอร์ยี่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช หรือ เสธ.อู้ ประกาศลาออกจากกรรมการบริษัท

นอกจากนี้ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ยังได้ถูกออกหมายจับโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วยคดีหมายเลขดำ ที่ อ.3757/2559 ที่บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง นายนพพร ศุภพิพัฒน์ กับพวกรวม 3 คน ในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ลงบัญชีเป็นเท็จ และความผิดฐานฟอกเงิน เพื่อสอบปากคำให้การจำเลย และตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันสืบพยาน

เนื่องจากนายนพพร จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลอาญากรุงเทพใต้จึงได้ออกหมายจับ หลังไม่มาปรากฏตัวต่อศาล

ถึงตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าเขาไปหลบซ่อนอยู่ที่ไหนกันแน่ เบาะแสสุดท้ายน่าจะเป็นประเทศฝรั่งเศส

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤตของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่รายเดียว ควานหานักลงทุนรายใหม่มาแทน “นพพร” เพื่อให้วินด์ เอนเนอร์ยี่ ยังเดินต่อไปได้ ไม่ให้การบริหารเสียหายจนกลายเป็นหนี้สูญก้อนใหญ่ของธนาคาร

“ณพ ณรงค์เดช” ทายาทเครือเคพีเอ็น ที่ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโครงการของวินด์ เอนเนอร์ยี่ มีความสนใจในการเป็น “เจ้าของคนใหม่” เพื่อชุบชีวิตทางธุรกิจให้ฟื้นกลับมา แม้อาจยังมองไม่เห็นอุปสรรคและปัญหาทั้งหมดที่ซ่อนอยู่ก็ตาม

ด้วยการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มองเห็นศักยภาพของความเป็น “ณพ ณรงค์เดช” ในการเข้ามาฟื้นฟูวินด์ เอ็นเนอร์ยี่ สามารถหาผู้สนับสนุนด้านการเงิน เข้าซื้อหุ้นต่อจาก  นายนพพรได้ทั้งหมด เพื่อเข้ามาบริหารให้กิจการของวินด์ เอนเนอร์ยี่ สามารถเดินต่อไปได้

“ณพ ณรงค์เดช”  อายุ 47 ปี เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 3 คนของ ดร.เกษม และคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช (เสียชีวิตไปแล้ว) จบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท 2 ด้านบริหารธุรกิจและการเงิน จากมหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ ประเทศอังกฤษ สมรสกับ “พอฤทัย บุณยะจินดา” ลูกสาวของอดีตอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.พจน์ และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา

ทีมงานของเขาได้เข้าทำการศึกษากิจการ (Due Diligence) จนพบว่าวินด์ เอนเนอร์ยี่ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เข้าซื้อหุ้นนอกตลาดก่อนที่จะไอพีโอหรือ OTC มากกว่า 200 ราย ซึ่งเมื่อเปิดรายชื่อผู้ถือหุ้นออกมาพบว่า มีทั้งผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนชื่อดังและนักลงทุนรายใหญ่เข้าถือหุ้น บ่งบอกว่ามีผู้ที่สนใจในธุรกิจดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ในที่สุด ณพ ณรงค์เดช ก็ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเขายังคงทีมผู้บริหารชุดเดิมเอาไว้ทั้งหมด ขณะเดียวกันกลุ่มของ “ประเดช กิตติอิสรนันท์” ก็ยัคงมีหุ้นในวินด์ เอนเนอร์ยี่ สัดส่วนประมาณ 30%

ความท้าทายที่รอเขาอยู่ คือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นตามที่นักลงทุนคาดหวัง ภารกิจดังกล่าวไม่ได้ง่ายนัก เพราะโครงสร้างธุรกิจของวิน เอนเนอร์ยี่ ไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ก.ล.ต. เนื่องจากเกณฑ์ของการเป็น Holding Company ที่จะเข้าตลาดหุันจะต้องถือหุ้นในบริษัทลูกมากกว่า 51% แต่สองโครงการ Wind Farm แรก วินด์ฯถือหุ้นเพียง 46%

ส่งผลให้การระดมทุนไอพีโอต้องถูกเลื่อนออกไปเพราะต้องรอให้เกิดโครงการที่สามขึ้น และต้องรอให้มีการจ่ายไฟเข้าระบบจริงหรือ COD ครบสองปีถึงจะผ่านเกณฑ์ในการเข้าตลาด mai และสามปีถึงจะเข้าไปตลาด SET ซึ่งมูลค่าธุรกิจของวินด์ฯ เหมาะสมกระดานหลักมากกว่า

บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำหันลมผลิตไฟฟ้าจำนวน 270 ต้น มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 717 เมกะวัตต์ กระจายอยู่ในสองจังหวัดคือนครราชสีมา และชัยภูมิ ขนาดพื้นที่รวม 850 ตารางกิโลเมตร (ขนาดประเทศสิงคโปร์ 721.5 ตารางกิโลเมตร) ถือว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าปี 2561 มีรายได้รวม 1,623.94 ล้านบาท กำไรสุทธิ 954.35 ล้านบาท สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท โดยรายได้และกำไรของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ยังมีรายได้เพียง 794.78 ล้านบาท

จากศักยภาพของบริษัทฯ มีความพร้อมในการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ค่อนข้างมาก หากสามารถก้าวผ่านความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นเดิมกับผู้ถือหุ้นใหม่ที่เกิดขึ้นในอดีตได้ และคดีความต่าง ๆ ที่รุมเร้ามาหลายปี ซึ่งน่าจะกำลังคลี่คลายไปในทิศทางที่เป็นบวก

หากวินด์ เอนเนอร์ยี่ สามารถเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นได้ภายในต้นปีหน้า (2564) จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยให้มากขึ้นในสายตานักลงทุนต่างชาติ เพราะธุรกิจของวินด์ เอนเนอร์ยี่ คือหนึ่งใน New  Normal ของอุตสาหกรรมพลังงาน

“ณพ ณรงค์เดช” ประกาศวิสัยทัศน์ “วินด์ เอนเนอร์ยี่” ให้เป็นบริษัทในระดับโลก เป็นหนึ่งในห้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producers : IPPs) รายใหญ่ของโลกให้สำเร็จภายในทศวรรษหน้า…ต้องรอพิสูจน์

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-507585


จำนวนผู้อ่าน: 1575

19 สิงหาคม 2020