ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/8) ที่ระดับ 31.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (17/8) ที่ระดับ 31.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบค่าเงินสกุลหลัก หลังจากนักลงทุนยังคงกังวลว่า นโยบายทางการคลังที่รัฐสภาสหรัฐออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วดังที่คาด
และนักลงทุนยังคงมีความกังวลในความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน หลังจากเลื่อนการเจรจาเพื่อทบทวนข้อตกลงการค้าเฟสแรก ซึ่งเดิมกำหนดไว้วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา และยังไม่ได้กำหนดวันใหม่
รวมไปถึงประเด็นทางการเมืองของสหรัฐเอง ที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐยังคงน่ากังวล แม้จะมีคนเสนอให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามที่จะคัดค้านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีนี้
ในส่วนของค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ แม้ว่าเมื่อวาน (17/8) ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าทะลุระดับ 31.20 หลังจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยดัชนีผลิตภัณพ์มวลรวมภายในประเทศของไทยประจำไตรมาสที่ 2/2563 ออกมาที่หดตัวร้อยละ 12.2 เทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าหดตัวมากที่สุดในรอบ 22 ปี
อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวถือว่าลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ร้อยละ 13.3 จึงทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวในระยะสั้น และรอปัจจัยใหม่เพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.13-31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.14/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/8) ที่ระดับ 1.1889/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/8) ที่ระดับ 1.1834/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากอ่อนค่าของดอลลาร์ และดุลการค้าที่เกินดุลเมื่อเทียบกับสหรัฐ
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยุ่ในกรอบระหว่าง 1.1864-1.1915 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1905/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/8) ที่ระดับ 105.75/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (17/8) ที่ระดับ 106.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ยังคงไม่มีความคืบหน้าหลังจากเลื่อนการเจรจาออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.38-106.06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.55/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้างสหรัฐเดือนกรกฎาคม (18/8), รายงานใบอนุญาตก่อสร้างบ้านสหรัฐ (18/8), ดุลการค้าญี่ปุ่นเดือนกรกฎาคม (19/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหราชอาณาจักรเดือนกรกฎาคม (19/8), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหราชอาณาจักร (19/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรปเดือนกรกฎาคม (19/8), อัตราดอกเบี้ยนโยบายจีน (20/8), ดัชนีภาคการผลิตโดยธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย-สหรัฐ (20/8), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (20/8),
ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่นเดือนกรกฎาคม (21/8), ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักรเดือนกรกฎาคม (21/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเยอรมันเดือนสิงหาคม (21/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหภาพยุโรปเดือนสิงหาคม (21/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหราชอาณาจักรเดือนสิงหาคม (21/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐเดือนสิงหาคม (21/8), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐเดือนกรกฎาคม (21/8), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรปเดือนสิงหาคม (21/8)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.55/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.70/+5.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-507693
จำนวนผู้อ่าน: 2030
19 สิงหาคม 2020