กองทุนรัฐบาลญี่ปุ่นตาโตจีบร่วมทุน “ศรีฟ้าเบเกอรี่” เมืองกาญจน์ หลังสร้างปรากฏการณ์ผลิต “ชีสเค้ก” สูตรเด็ดจาก “บริษัท GOYO FOODS” ญี่ปุ่น ส่งขายร้านเซเว่นฯทั่วประเทศ 24,000 ชิ้นต่อวัน คนตามล่าหาซื้อกันไม่พอขาย ทำวงการเบเกอรี่ญี่ปุ่นตะลึง
หลายรายสนใจเข้ามาลงทุนขยายตลาดในไทย ด้าน “ศรีฟ้า” เผยตั้งเป้าอีก 5 ปี ผงาดขึ้น top 3 วงการเบเกอรี่ไทย พร้อมนำโรงงานผลิตแป้งโดจ์ “อาร์ต ออฟ เบคกิ้ง” ที่ผนึกกับยักษ์ “เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” ประกาศท้ารบชิงส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคอาเซียน
นายพีรวัส เจนตระกูลโรจน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ศรีฟ้า โฟรเซนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่ ทองม้วน และโฟรเซน ภายใต้แบรนด์ศรีฟ้าและสุธีรา จ.กาญจนบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยอดขายชีสเค้กซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ร่วมพัฒนาสูตรกับบริษัท GOYO FOODS จากญี่ปุ่นเพิ่งวางขายในร้านเซเว่นฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ยอดขายแรงเกินคาด จากที่คาดการณ์ไว้เพียง 5,000-6,000 ชิ้นต่อวัน พุ่งขึ้นไปมากกว่า 24,000 ชิ้นต่อวัน
คาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้ยอดขายรวมของบริษัทน่าจะดีกว่าปี 2562 กว่า 10% แม้ช่วงไตรมาส 2 ยอดขายตกไป 40% แต่ยอดขายชีสเค้กที่พุ่งขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถครอบคลุมรายได้ที่สูญเสียไป ทั้งนี้ ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ตั้งเป้ายอดขายปี 2563 ไว้ที่ 800 ล้านบาท
“ชีสเค้กถือว่าประสบผลสำเร็จเกินขาด และถือเป็นสินค้ารายการเดียวที่ทำรายได้สูงที่สุดกว่าทุกผลิตภัณฑ์ที่เคยผลิตมาจากสินค้าทั้งหมด 500 กว่าตัว ถือเป็นประวัติศาสตร์ของบริษัทศรีฟ้าฯที่ดำเนินธุรกิจทำขนมมา 30 กว่าปี ผมว่าตัวนี้น่าจะมีรายได้ 20% ของรายได้รวม นอกจากนี้ บริษัทศรีฟ้าฯมีรายได้จากการรับจ้างผลิต (OEM) สินค้าและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้แบรนด์ผู้ว่าจ้างทุกเดือน เช่น เทสโก้ โลตัส แม็คโคร และไมเนอร์ ฟู้ด ฯลฯ”
ส่วนโรงงานในเครือบริษัท อาร์ต ออฟ เบคกิ้ง ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทำโรงงานผลิตโฟรเซนโดจ์ และสินค้ากลุ่มเบเกอรี่อบสดและแซนด์วิชพร้อมรับประทาน บริษัทศรีฟ้าฯลงทุนไป 150 ล้านบาท เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เดิมคาดการณ์จะมีรายได้ปีนี้ประมาณ 400 ล้านบาท แต่มาเจอโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องจักร 2 ตัวที่ซื้อมาจากยุโรปติดตั้งแล้ว
แต่วิศวกรที่จะมาสอนการใช้เครื่องยังบินมาไม่ได้ ทั้งที่มีลูกค้ารออยู่แล้ว ทำให้โรงงานที่มีไลน์ผลิตหลัก ๆ อยู่ 3 ไลน์ แต่สามารถเดินเครื่องได้เพียง 1 ไลน์ ต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 4 เดือน ตกเดือนละประมาณ 6-7 ล้านบาท
“เรายังรอความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะต้องขออนุญาตยังไงให้วิศวกรเข้ามา ใช้ใบรับรองอะไรบ้าง ต้องกักตัว 14 วันหรือไม่ เราคุยกับหุ้นส่วนบอกเรื่องที่จะให้วิศวกรเข้ามาทันทีที่สามารถทำได้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำได้สะดวก เป็นหนึ่งในความเครียด เพราะเราลงทุนไปแล้ว จากกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ระยอง ทำให้นโยบายที่จะให้นักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ต้องถูกชะลอช้าออกไป
นอกจากนี้ ภายใน 5 ปีตนและนายวิเชียร เจนตระกูลโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทศรีฟ้าฯตั้งเป้าจะขึ้นไปยืนอยู่อันดับ 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมผลิตเบเกอรี่ของประเทศไทย ด้วยยอดขายรวม 2 โรงงาน ประมาณ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทศรีฟ้าฯประมาณ 800 ล้านบาท และบริษัท อาร์ต ออฟ เบคกิ้ง จำกัด ประมาณ 1,200 ล้านบาท
“จริง ๆ ผมมองตั้งแต่สร้างอาร์ต ออฟ เบคกิ้ง เพราะเครื่องจักรมีกำลังการผลิตสูงมากกว่าศรีฟ้า 6-7 เท่า ยกตัวอย่างครัวซองต์ชิ้นเล็ก ผลิตได้ 10,000 ชิ้นต่อชั่วโมง ดังนั้น ภายใน 12 ชั่วโมงต่อวัน ผลิตได้ 120,000 ชิ้นต่อวัน, แผ่นแป้งตอร์ติญ่า (Tortillas) ผลิตได้ 6,500 แผ่นต่อชั่วโมง ผลิตได้เกินความต้องการบริโภคในประเทศไทย พร้อมขึ้นไปเทียบชั้นกับผู้ผลิตในระดับภูมิภาค
บริษัทจะเริ่มแผนพัฒนาธุรกิจร่วมกับคู่ค้าจากนานาประเทศทันทีที่สถานการณ์อำนวย เรามีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อหน่วยต่ำ ใช้แรงงานคนน้อยมาก ทำให้ราคาสินค้าอยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันได้ โดยกำลังการผลิตหลักจะป้อนให้ บมจ.ไมเนอร์ฯ 40% ส่วนกำลังผลิตอีก 60% จะไปขายลูกค้าข้างนอก”
นายพีรวัสกล่าวต่อไปว่า หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทปรับเปลี่ยนพลวัตโฟกัสกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2563 ไปถึงปี 2564 มุ่งเน้นทำตลาดภายในประเทศมากขึ้น พัฒนาสินค้าที่ดีและอยู่ในกระแส ตั้งราคาให้เป็นมิตรและเลือกช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง
“แนวโน้มการบริโภคเบเกอรี่ของคนไทยยังเพิ่มขึ้นอีก คนต่างจังหวัดเริ่มบริโภคแซนด์วิช คนภาคอีสานและภาคใต้เริ่มบริโภคแป้งสาลีเป็นอาหารหลัก”
ขณะที่ตลาดส่งออกยังไม่ค่อยแน่นอน เช่น บางประเทศที่ส่งออกยังมีโควิดระบาด การบริโภคน้อย เช่น ทองม้วนแบรนด์สุธีราส่งออกไปตลาดจีนมา 10 ปีแล้ว ช่วงโควิด-19 ออร์เดอร์หาย แต่ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้น จีนเริ่มสั่งออร์เดอร์เข้ามา ส่วนตลาดสายการบินในญี่ปุ่นหายไปเลย เนื่องจากลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทฟู้ดเซอร์วิสที่ขายวัตถุดิบอาหารให้กับสายการบินที่ประเทศญี่ปุ่นหยุดการสั่งซื้อตั้งแต่เกิดโควิด
นายพีรวัสกล่าวต่อไปว่า การขยายสาขาร้านศรีฟ้าเบเกอรี่ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพิ่มยอดขายตลาดภายในประเทศช่วงโควิดที่รอดมาได้ส่วนหนึ่ง เพราะยอดขายสาขานำเงินสดมาให้ถึงจะติดลบแต่ยังขายได้ ปัจจุบันมี 8 สาขา ท่าเรือ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี ศูนย์ของฝากท่าม่วง ศาลายา วังสารภี และสาขาพลับพลาไชย กทม.ถือเป็นสาขาใหม่สาขาแรกที่ กทม.เพิ่งเปิดเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2563 ทั้งนี้ การเลือกทำเลเปิดสาขาเน้นขายคนในชุมชนทำสินค้าคุณภาพดี ราคาย่อมเยา
ส่วนร้านสุธีราที่เปิดขายทองม้วน 3 สาขา ได้แก่ บริเวณวันนิมมาน จ.เชียงใหม่, เดอะมาร์เก็ต ข้างบิ๊กซี ราชประสงค์ และเอเชียทีค ตอนนี้ปิดไป 2 สาขา เหลือเชียงใหม่เพียงสาขาเดียว เพราะเป้าหมายของร้านสุธีราเป็นลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งจีน เกาหลี ตะวันออกกลาง แต่พอโควิดมาไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ส่วนแผนการเปิดขายแฟรนไชส์ยังมีความตั้งใจจะเปิดอยู่ แต่ขอพักไว้ก่อน รวมถึงแผนการนำบริษัทศรีฟ้าฯเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ชะลอออกไปก่อน รอช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โรคโควิด-19 ตอนนี้ไม่ดี และบริษัทต้องปรับปรุงเรื่องอัตรากำไรให้จูงใจนักลงทุน
“ตอนนี้การวางแผนดำเนินธุรกิจผมว่ามองยาวไม่สำคัญเท่ากับมองสั้นแล้วแก้ปัญหา ปรับตัวได้เร็ว การดำเนินธุรกิจวันนี้ต้องวางแผนปีต่อปี ทั้งโรคระบาด เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไว ผมว่าการวางแผนระยะยาวหมดยุคแล้ว ถ้ามองยาว ๆ ต้องมองภาพใหญ่ว่าเราจะไปยืนอยู่ตรงจุดไหนของอุตสาหกรรม”
นายพีรวัสกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาหลังจากร่วมพัฒนาสูตรชีสเค้กกับบริษัท GOYO FOODS จากเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีบริษัทเบเกอรี่ในญี่ปุ่นรายอื่น ๆ สนใจมาร่วมลงทุนกับบริษัทศรีฟ้าฯ โดยเมื่อช่วงปลายปี 2562 มีกองทุนของรัฐบาลญี่ปุ่นมาคุยอยากจะมาซื้อหุ้นของบริษัทเพื่อมาขยายตลาดในประเทศไทย โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากจึงอยากหาพาร์ตเนอร์ในประเทศไทย
เพราะการส่งสินค้ามาจากญี่ปุ่นต้นทุนสูงสู้ราคาไม่ได้ โดยทางกองทุนญี่ปุ่นเสนอเงินลงทุนให้ตั้งโรงงานผลิตขึ้นมาใหม่อีก 1 โรง เพราะบริษัทบอกตอนนี้กำลังการผลิตของโรงงานเต็มที่แล้ว และอยากมาเยี่ยมชมโรงงานของศรีฟ้าฯในประเทศไทยมาก แต่ติดเรื่องโควิดยังเดินทางมาไม่ได้
“ล่าสุดผมเพิ่งคุยกับทางกองทุนญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทางญี่ปุ่นบอกอยากได้พาร์ตเนอร์ที่สามารถเป็น production hub ให้กับบริษัทผลิตขนมในญี่ปุ่น หากบริษัทญี่ปุ่นรายไหนอยากทำตลาดในประเทศไทยสามารถมาคุยกับเราได้เลย ให้เราผลิตและทำตลาดให้” นายพีรวัสกล่าว
สำหรับปี 2563 ไม่มีแผนการลงทุนใหญ่ เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมาได้ใช้เงินลงทุนไปค่อนข้างมาก ในส่วนบริษัทศรีฟ้าฯมีการซื้ออุปกรณ์มาเสริมความสามารถในการผลิตประมาณ 40 ล้านบาท และรีโนเวตสาขาของศรีฟ้าเบเกอรี่ประมาณ 10 กว่าล้านบาท รวมกันปี 2562 ใช้เงินไปประมาณ 200 กว่าล้านบาท ปีนี้บริษัทวางแผนใช้ประโยชน์และดูแลการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และรักษาคุณภาพกับลูกค้าที่ค้าขายในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด
อนึ่ง บริษัท ศรีฟ้า โฟรเซนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่ ทองม้วน และโฟรเซน ภายใต้แบรนด์ศรีฟ้าและสุธีรา จังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินกิจการมา 34 ปี และเมื่อปี 2562 ได้ร่วมทุนกับบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอาร์ต ออฟ เบคกิ้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 310,000,000 บาท ตั้งโรงงานผลิตโฟรเซนโดจ์ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ได้เซ็นสัญญากับบริษัท GOYO FOODS ผู้ผลิตชีสเค้กต้นตำรับจากเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น แต่งตั้งบริษัทศรีฟ้าฯให้เป็นผู้ผลิตเบเกอรี่ของบริษัทแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-521463
จำนวนผู้อ่าน: 3917
15 กันยายน 2020