สภาปลดอาวุธ “กองทัพ” ตัดงบทหาร 7 พันล้าน มากสุดใน 28 หน่วยงาน

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในวาระ 2-3 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16-17 กันยายนนี้ 1 ในไฮไลต์หนีไม่พ้น “งบกองทัพ”

แม้กองทัพเรือจะถอยทัพ ผลักดันประเด็นร้อนเรือดำน้ำไปแล้ว แต่งบกองทัพในก้อนเงินงบประมาณ 2564 ยังถูกตัดงบมากที่สุดในบรรดา หน่วยขอรับงบประมาณ 28 หน่วยงาน

สูงถึง 7,788,500,000 บาท จากที่ขอไปตอนต้น 115,528,646,800 บาท เหลือ 107,740,146,800 บาท

แกะไส้ในงบกองทัพ ที่ถูกตัดไปแบ่งได้ดังนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถูกตัดงบลงทุกแผนงาน โดยแผนงานของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมที่ถูกตัดงบไป อาทิ แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ซึ่งมีผลผลิต คือ การดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ ทั้งค่าสาธารณูปโภค งบลงทุนในค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง

แผนงานการสนับสนุนการถวายความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์และปฏิบัติตามพระราชประสงค์

แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านความมั่นคง

รวมทั้งหมดจากที่ขอไป 5,750,152,100 บาท ถูกตัดไป 215,000,000 บาท เหลือ 5,535,152,100 บาท

– ขณะที่ “กองทัพบก” เป็นเหล่าทัพที่ของบมากที่สุด คือ 48,708,933,500 บาท แต่ถูกหั่นงบทิ้งไป 1,667,000,000 บาท เหลือ 47,041,933,500

ขีดเส้นใต้งบกองทัพบกที่ถูกตัด เช่น แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ของบไว้ 14,919,604,800 บาท ถูกตัดไป 211,000,000 บาท เหลือ 14,708,604,800 บาท ซึ่งในแผนงานดังกล่าวแบ่งเป็นงบครุภัณฑ์ งบลงทุนก่อสร้าง ปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆ ในกองทัพ

ขณะที่การจัดซื้ออาวุธ อยู่ในแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทกุ มิติ ของบไว้ 29,784,672,200 บาท แต่ถูกตัดไป 1,456,000,000 บาท เหลือ 28,328,672,200 บาท ในเงินก้อนนี้รวมถึงโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ขอไป 3,131,611,000 บาท ถูกตัดไป 250,133,000 บาท เหลือ 2,881,478,000 บาท

ข้ามฝั่งมากองทัพเรือ ที่มีประเด็นเรื่องงบจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ซึ่งที่สุดแล้วต้องถอยลอขอใช้งบไหม่ในงบประมาณปี 2565  ซึ่งครั้งนี้ของบไว้ 23,906,810,900 บาท แต่ถูกตัดไป 4,725,000,000 เหลือ 19,181,810,900 บาท

แผนงานที่ถูกตัดงบไป คือ แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ขอไว้ 4,325,524,000 บาท ถูกลดไป 17,520,000 เหลือ 4,308,004,000 บาท

ในส่วนแผนงาน : แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อม เผชิญภัยคุกคามทุกมิติ ขอไว้ 19,253,972,600 บาท ถูกตัดไป 4,677,074,900 เหลือ 14,576,897,700 ในงบก้อนนี้โฟกัสไปที่โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ถูกขอไป 9,006,411,900 แต่ถูกปรับลด 4,625,000,000 แน่นอนว่าหนึ่งในนั้น “มันคืองบผูกพันจัดซื้อเรือดำน้ำ” ที่ถูกแขวนเอาไว้

นอกจากนี้ “กองทัพเรือ” ยังถูกตัด งบแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปอีก 30,405,100 บาท จากที่ขอไป 268,934,900 บาท

มาถึง “กองทัพอากาศ” ของบไปทั้งสิ้น 26,940,076,200 บาท ถูกปรับลดไป 986,500,000 บาท เหลือ 25,953,576,200 บาท

แผนที่ถูกลดคือ แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ของบไป 5,192,471,100 บาท ถูกตัดไป 91,582,900 บาท เหลือ 5,100,888,200 บาท

ขณะที่แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ ขอไป 21,655,925,200 ถูกตัดไป 894,917,100 ลดเหลือ 20,761,008,100 บาท ในเม็ดเงินก้อนนี้ โครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ ถูกตัด 124,917,100 บาท และโครงการเสริมสร้างกําลังกองทัพทีผูกพันข้ามปีงบประมาณ 670,000,000 บาท

ส่วนหน่วยงานอื่นของกองทัพ คือ กองบัญชาการกองทัพไทย ของบไว้ 9,626,078,200 บาท ถูกตัด 180,000,000 บาท เหลือ 9,446,078,200 บาท ถูกตัดงบไปทั้ง

แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง แผนงานยุทธศาสตร์ปองกันและแก้ไขปัญหา ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ และแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ของบไว้ 596,595,900 บาท ถูกปรับลด 15,000,000 บาท เหลือ 581,595,900 บาท

สรุปแล้วงบกองทัพถูกลดไป 7,788,500,000 บาท

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-521455


จำนวนผู้อ่าน: 2143

15 กันยายน 2020