บี้ “รัฐวิสาหกิจ” ขึงเป้าลงทุน คลังมึนยอดขอกู้วูบ 4 แสนล้าน

การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีวงเงินหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในยามที่ภาคเอกชนยังคงชะลอการลงทุน เพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกลับพบว่า การลงทุนของรัฐวิสาหกิจมีแนวโน้ม “ลดลง” ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปีงบประมาณ 2564-2568) โดยสะท้อนจาก “แผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี” ที่มีโครงการลงทุนรวม 182 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 819,283.16 ล้านบาท หรือลดลงไปถึง 30% จากเดิมที่มีวงเงินถึง 1,201,118.71 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลดลงไป 56 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 381,835.55 ล้านบาท

ทั้งนี้ พบว่า รัฐวิสาหกิจในสาขาคมนาคม มูลค่าการลงทุนปรับลดลงมากที่สุดถึง 340,137.15 ล้านบาท หรือลดลง 15 โครงการ จากเดิมอยู่ที่ 31 โครงการ มูลค่า 827,070.93 ล้านบาท เหลือ 16 โครงการ มูลค่า 486,933.78 ล้านบาท

รองลงมาสาขาสาธารณูปการ ลดลง 56 โครงการ มูลค่า 38,151.83 ล้านบาท และสาขาอื่น ๆ มูลค่าลงทุนลดลงไป 7,087.85 ล้านบาท แต่จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 13 โครงการ (ดูตารางประกอบ)

โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งพบว่าแผนการลงทุนที่ปรับลดลง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัญหาความไม่ชัดเจนของนโยบายและรูปแบบการลงทุน และปัญหาความไม่พร้อมของหน่วยงานเจ้าของโครงการ

ซึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับลดลงค่อนข้างมากดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป้าหมายการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางให้ต่ำกว่าศักยภาพ และกระทบต่อนโยบายการขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนของรัฐบาล

ดังนั้น ครม.จึงได้เห็นควรให้กระทรวงเจ้าสังกัด ประสานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระยะต่อไป

โดยหลังจากเข้ารับตำแหน่ง “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลังคนใหม่ ได้สั่งการให้ “นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง จัดตั้ง “คณะกรรมการเร่งรัดเบิกจ่ายการลงทุนของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ” ทันที เพื่อให้เข้ามาดูแลเรื่องการเบิกจ่ายทั้งหมด และดูแลแก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ขั้นตอนการเบิกจ่ายสามารถทำได้เร็ว

นอกจากนี้ ล่าสุด ในการเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมบัญชีกลาง “นายอาคม” ยังได้ตั้งเป้าหมายให้ติดตามให้รัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเบิกจ่ายให้ได้ 100% ด้วย

ขณะที่ “นายประภาศ คงเอียด” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน พ.ย.นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เรียกประชุม สคร. เพื่อติดตามแผนการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในปีงบประมาณ 2564

โดย สคร.ยืนยันว่า จะเร่งการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายของปี 2564 เป็นหลัก ซึ่งมีวงเงินอยู่ที่ 2.91 แสนล้านบาท แม้ช่วงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด รัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้ขอปรับลดแผนการลงทุนลงก็ตาม ซึ่งจะต้องพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสมต่อไป

“หากมีการปรับแผนการลงทุนจริง ก็คาดว่าจะสามารถปรับได้ค่อนข้างน้อย เพราะช่วงนี้รัฐบาลต้องการเรื่องการลงทุน เพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่ง สคร.พูดคุยกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ขอปรับลดแผนลงทุนค่อนข้างมากแล้ว ว่าก็คงทำได้ยาก และให้เน้นไปตามแผนเดิม ยกเว้นรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีความจำเป็นจริง ๆ ก็จะพิจารณาปรับลดลงให้ แต่ก็คงมีไม่มาก” นายประภาศกล่าว

นายประภาศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ก็มีข้อติดขัดทั้งในเรื่องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ขั้นตอนที่มีการฟ้องร้องกัน และต้องมีการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา อย่างไรก็ดี ทาง สคร. และคณะกรรมการเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯลงทุน ก็พยายามติดตามและให้ความช่วยเหลือเต็มที่

นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ได้อนุมัติโครงการร่วมลงทุนไป 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 18,961 ล้านบาท ได้แก่ โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มูลค่ารวม 16,096 ล้านบาท และโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าที่จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก มูลค่ารวม 2,865 ล้านบาท ถือเป็นโครงการลงทุนใหม่ ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา

“สคร.จะเร่งติดตามโครงการที่มีปัญหาติดขัดให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้เร็วที่สุด เช่น โครงการรถไฟไทย-จีน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), โครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ยังติดขัดในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องเดินหน้าให้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากใช้เม็ดเงินลงทุนจากกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) วงเงินราว 3 หมื่นล้านบาท และโครงการลงทุนของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เป็นต้น” นายประภาศกล่าว

ในยามที่ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน เพราะไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ รัฐวิสาหกิจจึงต้องเป็น “หัวหอก” ร่วมกับภาครัฐในการ “นำ” การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นในระยะยาว ประเทศไทยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-553184


จำนวนผู้อ่าน: 1701

13 พฤศจิกายน 2020