คอลัมน์ Pawoot.com ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
เทคโนโลยีเริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้น และขยับไปเป็นอวกาศมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันพาณิชย์อวกาศ เมื่อก่อนเป็นการแข่งขันระหว่างระดับประเทศ ตอนนี้เริ่มเป็นเอกชนแล้ว มีค่าย SpaceX ของ Elon Musk ค่าย Blue Origin ของ Jeff Bezos แห่ง Amazon ค่าย Boeing ฯลฯ
กลายเป็นการแข่งขันของภาคเอกชนในการที่จะทำให้คนออกไปนอกอวกาศได้
ทำให้เห็นว่าเรากำลังจะไปต่อในแง่ที่เราจะไปอยู่บนดวงจันทร์ได้
มีข่าวที่น่าสนใจอย่างการลงนามซื้ออาวุธระหว่างสหรัฐกับไต้หวัน ที่มี “โดรน” เข้ามาเป็นอาวุธด้วย โดรนกับเรื่องอาวุธมีมาสักพักใหญ่แล้ว สังเกตว่าอเมริกาเริ่มส่งโดรนหรือเครื่องบินไร้คนขับไปทิ้งบอมบ์บ้าง ไปสังเกตการณ์บ้าง ฯลฯ
ที่น่าสนใจมากในเชิงธุรกิจ คือ เมื่อก่อนธุรกิจบางอย่างต้องใช้คนไปนั่งสอดส่อง ตอนนี้เราใช้โดรนบินได้แล้ว ผมไปเจอสตาร์ตอัพคนไทยรายหนึ่งทำเกี่ยวกับการใช้โดรนในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมแท็งก์น้ำมันที่ต้องมอนิเตอร์ตลอด ต้องมีการตรวจสอบต่าง ๆ โดยน้องกลุ่มนี้ออกแบบโดรนและใช้โดรนสแกนถังน้ำมันว่ามีจุดไหนรั่วบ้าง และอื่น ๆ จนชนะเลิศในการแข่งขันสตาร์ตอัพ
โดรนในไทยบินมั่ว ๆ ไม่ได้นะครับมีกฎหมายบังคับ ราคาโดรนมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่กี่พันบาท หรือระดับดี ๆ เมื่อก่อน 3-5 หมื่นบาท เดี๋ยวนี้หมื่นต้น ๆ ตัวเล็ก ๆ ก็บินได้ดีในระดับหนึ่งเลย
การบินโดรนได้ต้องมีใบอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือน หากนำไปใช้และทำอะไรบางอย่าง เช่น ถ่ายรูปไปลงบนอินเทอร์เน็ตก็มีโอกาสโดนสอบถามว่ามีใบอนุญาตหรือเปล่าอาจโดนปรับได้
แม้ใน 2-3 ปีที่ผ่านมามีข่าวการใช้โดรนขนส่งสินค้า อีคอมเมิร์ซก็มีการแข่งขันกันตรงนี้ แต่เอาจริง ๆ ผ่านมาหลายปีเรายังไม่เห็นการใช้งานจริงจัง ไม่ได้ออกมาเป็น main stream มากเท่าไหร่ มีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้การใช้โดรนในเชิงพาณิชย์ยังไม่มากนัก
ในทางกลับกันยังมีโดรนหรือหุ่นยนต์ประเภทอื่นที่นำมาใช้เยอะขึ้น อาจไม่ใช่เรื่องการบิน เช่น JIB Computerนำหุ่นยนต์มาบริหารจัดการเรื่องขนของในแวร์เฮาส์ จากเดิมเวลามีการสั่งสินค้าเข้ามา พนักงานต้องเดินไปหยิบของตามจุดต่าง ๆ แต่เดี๋ยวนี้ให้หุ่นยนต์หยิบมาให้แทน
หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประเภทที่ใช้ในโรงงานเป็นแบบแขนกลที่ทำงานซ้ำ ๆ ต้องยกของหนัก เมื่อก่อนราคาเป็นล้าน ตอนนี้เหลือหลักแสน
เทคโนโลยีเหล่านี้จีนโคลนไปแล้ว ทำให้ราคาถูกลง ฉะนั้น ใครที่ทำงานเกี่ยวกับโรงงานหรืออยู่ในอุตสาหกรรมสายการผลิตต่าง ๆ จากเดิมต้องใช้ “คน” ตอนนี้นำหุ่นยนต์มาแทนได้แล้วในราคาไม่แพง เทียบกันแล้วคุ้มค่าแรง ฯลฯ
การทดแทนคนด้วยการเอาหุ่นยนต์มาใช้มีหลายแบบ แบบแรกทำแทนคนในลักษณะงานที่ต้องทำอะไรซ้ำ ๆ เช่น งานที่ต้องใช้คนกรอกข้อมูลบางอย่างตรงนี้ AI ช่วยได้เยอะมาก เมื่อก่อนต้องมานั่งกรอกข้อมูลเมื่อจะเปิดบัญชีธนาคาร แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว มีแค่บัตรประชาชนใบเดียวก็ทำได้แล้ว
เช่นเดียวกับที่ผมเล่าไปแล้ว การใช้หุ่นยนต์เป็นฮาร์ดแวร์ เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาท และไม่ไกลตัวอีกต่อไป หลาย ๆ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่พัฒนาหุ่นยนต์ได้ ผมมีโอกาสได้ไปคุยกับน้อง ๆ กลุ่มหนึ่งที่เคยชนะเลิศการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ แต่คำถามคือชนะแล้วอย่างไรต่อ
ประเทศไทยในสายการผลิตหรือในซัพพลายเชนของคนที่ทำเรื่องหุ่นยนต์ไม่ค่อยมี เรายังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการใช้หุ่นยนต์อย่างเต็มรูปแบบ ฉะนั้น เมื่อคนกลุ่มนี้จบออกมาหางาน เขาจะทำอย่างไรเมื่อไม่มีงานรองรับ กลุ่มคนเหล่านี้จึงเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ไปทำวิศวกรด้านอื่นแทนหรือโดนซื้อตัวไปต่างประเทศ
หากในฝั่งภาคธุรกิจ ในโรงงานก็ดี ในสายการผลิตเองก็ดี ดูว่าการทำงานตามปกติตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงของเสร็จใช้เวลาเท่าไหร่ ลองให้วิศวกรพวกนี้มาออปติไมซ์ดูว่าจะเอาหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เร็วขึ้นได้ไหม
ถ้ามีโจทย์แบบนี้และให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ มาช่วยดู เขาจะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยได้ บางอย่างอาจจะลดคนน้อยลง ทำให้การผลิตงานดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ด้วยเหมือนกันอันนี้เหมาะกับโรงงานหรือสายการผลิตที่ทำมาประมาณ 10-20 ปีแล้วยังทำแบบเดิมอยู่ ไม่ได้มีการพัฒนาอะไรเลย ผมอยากสนับสนุนให้ลองทำดูเลยครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/ict/news-553154
จำนวนผู้อ่าน: 2041
13 พฤศจิกายน 2020