ทิศทางความยั่งยืนโลก 8 บริษัทผู้นำกลุ่มอุตฯ DJSI 2020

หลังจากที่ “S&P Dow Jones Indices” และ “SAM” ในฐานะผู้จัดทำ “ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI)” ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนผ่านมา โดยมีบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกจำนวน 22 บริษัท โดยในปีนี้ “บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO)” ได้รับการจัดอันดับในกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets เป็นปีแรก

ที่สำคัญ ในปี 2563 บริษัทไทยยังได้รับการประเมินให้เป็น “ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Leaders)” จำนวน 8 บริษัท ได้แก่

1) บมจ.บ้านปู (BANPU) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Coal & Consumable Fuels

2) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining & Marketing

3) บมจ.ปตท. (PTT) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Upstream & Integrated

4) บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV) ผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม Beverages

5) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Chemicals

6) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Construction Materials

7) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Telecommunication Services

และ 8) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Transportation and Transportation Infrastructure

ส่วนบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2563 มีจำนวน 22 บริษัท แบ่งเป็น “กลุ่มดัชนี DJSI World” จำนวน 12 บริษัท ได้แก่ KBANK, SCB, PTTEP, PTT, CPALL, THBEV, IVL, PTTGC, SCC, CPN, ADVANC และ AOT โดยดัชนีในกลุ่มนี้จะคัดเลือกจากบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงที่สุด 2,500 อันดับแรกของโลก

ขณะที่ “กลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets” สำหรับตลาดเกิดใหม่มีจำนวน 22 บริษัท ได้แก่ KBANK, SCB, MINT, BANPU, IRPC, PTTEP, PTT, TOP, CPALL, CPF, THBEV, TU, IVL, PTTGC, SCC, CPN, HMPRO, ADVANC TRUE, AOT, BTS และ EGCO

“ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา” ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในการทำแบบประเมิน DJSI กล่าวว่า จากข้อมูลของ SAM ผู้ประเมินพบว่าในปี 2563 มีบริษัทจากทั่วโลกที่ร่วมตอบแบบประเมิน CSA (corporate sustainability assessment) มากถึง 1,386 บริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ผ่านมาถึง 19%

โดยทวีปเอเชียถือเป็นทวีปที่มีจำนวนบริษัทเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนนี้มากที่สุด คิดเป็น 36.44% รองลงมา ได้แก่ ทวีปยุโรป 26.19% และทวีปอเมริกาเหนือ 25.76% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าบริษัททั่วโลกให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับการประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในกรอบ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล)

“คำถามของแบบประเมิน CSA จะครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับ 61 อุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งคำถามทั่วไปที่ถามในทุกอุตสาหกรรม และคำถามเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม โดยในแต่ละปีแบบประเมิน CSA จะมีการเปลี่ยนแปลงประมาณ 10-15% เพื่อให้ข้อคำถามมีเรื่องปัจจุบัน”

“รวมถึงการรับฟังข้อเสนอแนะของบริษัทที่เข้าร่วมตอบแบบประเมิน และได้ให้ความคิดเห็นกลับมา ทำให้คะแนนการประเมินของแต่ละอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลง ปรับขึ้นลงตามเนื้อหาของคำถาม ตรงนี้ถือว่าเป็นความเฉพาะตัวของอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้การประเมินของ DJSI มีความพิเศษและน่าสนใจ”

“แม้ว่าในช่วงต้นปี 2563 ผ่านมา จะมีปัจจัยของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อผู้คน รวมถึงภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกแต่สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาเป็นคำถามที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการประเมิน CSA ในปีนี้ เนื่องจากการประเมินในแต่ละปีจะเป็นการนำข้อมูลของปีก่อนหน้ามาใช้ตอบข้อคำถาม”

“อย่างไรก็ตาม บริษัทที่เข้าร่วมตอบแบบประเมินสามารถนำแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ไปตอบคำถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ และคาดว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินของปี 2564”

นอกจากนี้ “ณัฐณรินทร์” ยังสะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กับการเติบโตขององค์กรธุรกิจว่า การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน เศรษฐกิจ และองค์กรธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็กเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นความท้าทายที่จะทำอย่างไรให้การดำเนินชีวิตของผู้คน รวมถึงเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้

“ส่วนตัวแล้วมองว่าปัจจัยที่ทำให้องค์กรสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ได้ คือ ความยั่งยืนที่สร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้ว่าวันนี้ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ภาคธุรกิจ หรือองค์กร มองประเด็นเรื่องสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นรองลงมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และมีความท้าทายต่อการสร้างสมดุลระหว่างทั้ง 3 มิตินี้”

“แต่อย่างไรก็ตาม การคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจากรายงาน Sustainable investing : Resilience amid uncertainty ของ BlackRock บริษัทบริหารกองทุนระดับโลกที่มีมูลค่าสินทรัพย์ ภายใต้การบริหารจัดการสูงที่สุดในโลก”

“เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาระบุว่า ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ในสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้ปัจจัยของความผันผวนของเศรษฐกิจ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม จะมีความยืดหยุ่น สามารถประคับประคองธุรกิจ สร้างคุณค่า และมูลค่าให้ผู้ลงทุน รวมถึงมี performance ที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนมากนักในอุตสาหกรรมเดียวกัน”

“ดังจะเห็นได้ว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะทำให้องค์กรธุรกิจมองเห็นปัจจัยทางความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหรือแม้กระทั่งความผันผวนภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสามารถวางแผนในการจัดการ รับมือกับปัจจัยที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้ แม้ว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะมีกระบวนการทำงานและอาจต้องใช้ระยะเวลาที่นานกว่าจะเห็นผลก็ตาม”

ขณะที่ “ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน

ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงผลประกอบการในอดีต ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญของข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างคำว่า ESG ที่เกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน

“ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาข้อมูลความยั่งยืนในรูปของดัชนี หรือการจัดอันดับจากผู้ให้บริการข้อมูลในวงจรข้อมูลความยั่งยืน จึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้ลงทุน โดยมีผู้ให้บริการรายสำคัญ อย่างเช่น เอสแอนด์พี/ดาวโจนส์ (ควบรวมกันในปี 2554) ที่กำเนิดจากฝั่งอเมริกา และฟุตซี่ จากฝั่งยุโรป (อังกฤษ)”

“ซึ่งนำข้อมูลที่ใช้จัดทำดัชนีมาจากบริษัทประเมิน หรือบริษัทวิจัยที่ทั้งรวบรวมข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิเอง และซื้อจากบริษัทขายข้อมูล อาทิ บลูมเบิร์ก หรือทอมสัน รอยเตอร์ส ซึ่งจะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ เช่น รายงานประจำปี รายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการ หรือจากแบบสอบถาม และข้อมูลจากแหล่งทุติยภูมิ เช่น เสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคประชาสังคม และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ”

“บริษัทที่ทำการเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจน ครบถ้วน มีความน่าเชื่อถือและเป็นไปตามบรรทัดฐานสากลตั้งแต่ต้นทาง ทั้งยังส่งต่อให้ผู้รวบรวมข้อมูล (aggregators) ไปยังบริษัทวิจัยข้อมูล (researchers) และบริษัทผู้ประเมิน (raters) สู่การจัดทำข้อมูลดัชนี (indexes) เพื่อส่งตรงไปยังผู้ใช้ข้อมูล (users) ซึ่งเป็นผู้ลงทุนโดยส่วนใหญ่ และผู้ใช้ข้อมูลปลายทาง จะยังประโยชน์ให้แก่ตัวองค์กรต่อการเป็นที่ยอมรับและการตัดสินใจลงทุนในบริษัทในอีกทางหนึ่งด้วย”

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวอีกว่า อย่างการประเมินเพื่อคัดเลือกบริษัทที่โดดเด่นด้านความยั่งยืนให้เข้าเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) จะพิจารณาจากข้อมูลที่บริษัทตอบแบบสอบถามในด้านความยั่งยืนที่บริษัทดำเนินการ หมายความว่า ปัจจัยสำคัญ 2 ส่วน ที่มีผลต่อการประเมิน คือ ผลงานด้านความยั่งยืนที่โดดเด่นตามที่ได้ดำเนินการ กับการจัดทำข้อมูลที่ตอบแบบสอบถามได้อย่างตรงจุดตามเกณฑ์ที่ผู้ประเมินตั้งไว้

โดยทั้ง 2 ปัจจัยอาจจะมีสหสัมพันธ์ (correlation) ที่มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเที่ยงตรงในการนำเสนอข้อมูลของบริษัทที่เข้าร่วมรับการประเมิน และเกณฑ์การประเมินที่เหมาะสมต่อการวัดผลด้านความยั่งยืนของหน่วยงานผู้ประเมิน ที่ครอบคลุมประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ (material topics) และสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม

“ทั้งนี้ การประเมินซึ่งมุ่งไปที่การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ของบริษัทที่มีความโดดเด่นในมิติเดียว ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ผู้ลงทุนอาจต้องแลก (trade-off) ระหว่างการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี แต่ผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือไม่ตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า การลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี จะช่วยลดความผันผวนด้านราคาของหลักทรัพย์ และยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่งให้แก่ผู้ลงทุนในระยะยาวด้วย”

“หากพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ของหุ้น DJSI ทั้ง 21 ตัว (equal-weighted) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่ามีอัตราผลตอบแทนติดลบอยู่ที่ -20.71% ขณะที่ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ลดลง -14.56% ในช่วงเวลาเดียวกัน”

“และเมื่อเทียบกับดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG มีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ลดลงในระดับที่ต่ำกว่า คือ -11.28% (ข้อมูล ณ 17 พ.ย. 2563) หรือคิดเป็นส่วนต่างของผลตอบแทน 9.43% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนหุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI โดยข้อมูลที่ใช้ในการประเมินทั้งในส่วนของหุ้นไทยในดัชนี DJSI และหลักทรัพย์ในดัชนี Thaipat ESG ใช้ข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปี 2562”

ถึงตรงนี้ “ดร.พิพัฒน์” สะท้อนมุมมองถึงความสำคัญของ ESG ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า จากข้อมูลการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์บ่งชี้ว่า มูลค่าของกองทุนที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน ได้ทะลุตัวเลข 1 ล้านล้านเหรียญ เป็นครั้งแรก หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2020 และตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลกระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนโดยใช้ข้อมูลด้าน ESG มีตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 40.5 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2020

“ผู้ลงทุนที่ยึดแบบแผนการลงทุนที่ยั่งยืน โดยอาศัยเกณฑ์ ESG เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน เชื่อว่ายิ่งมีข้อมูล ESG ที่เพียงพอมากเท่าใด การวิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัท เพื่อที่จะคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท จากการพิจารณาปัจจัย ESG จะมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นเช่นกัน และที่สำคัญ ผู้ลงทุนจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว และไม่ได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป ตรงนี้เป็นเพราะผลประกอบการในอนาคตของบริษัท มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท”

“การส่งเสริมและกระตุ้นให้ บจ.มีการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่เพียงพอสำหรับการใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตลาดทุนทั่วโลก ขนาดของตลาดข้อมูล ESG จึงมีตัวเลขที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา”

“โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ESG มีตัวเลขที่ชนะดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 2.5% สอดคล้องกับตัวเลขผลประกอบการของกองทุน ESG ที่มีความผันผวนน้อยกว่ากองทุนทั่วไปในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับข้อมูล ESG มากขึ้น บริษัทจำต้องขยายบทบาทการดำเนินงานของกิจการมาสู่การคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ด้วยการเพิ่มเติมการดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม นอกเหนือจากประเด็นด้านธรรมาภิบาลที่มีอยู่เดิมอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-559879


จำนวนผู้อ่าน: 1749

24 พฤศจิกายน 2020