ปตท.ลุยปั้นพอร์ตธุรกิจยา พลิกแผนลงทุนขุมทรัพย์น่านน้ำใหม่

ปตท.เดินเครื่องลุยธุรกิจใหม่ “ยาและเครื่องมือแพทย์” เต็มรูปแบบ ขุมทรัพย์ใหม่รับช่วงต่อ “พลังงาน-ปิโตรเคมี” กางโมเดลธุรกิจร่วมทุนพันธมิตรทั้งไทย-ต่างชาติ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ประเทศ ชูธงเป็นหัวหอกเอกชนไทยสร้าง “อีโคซิสเต็ม” อุตสาหกรรมการแพทย์ลดการนำเข้า โฟกัส 4 กลุ่มธุรกิจหลัก “ยา-อาหารอนาคต-อุปกรณ์การแพทย์-เทคโนโลยีวินิจฉัยโรค” เร่งเจรจาร่วมทุนพาร์ทเนอร์ผุดโรงงาน “ถุงมือยางไนไตรล์-หน้ากากอนามัย” ต่อยอดเพิ่มมูลค่าปิโตรเคมี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ยุคนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. มุ่งสู่การ transfrom สู่ธุรกิจใหม่ หรือ new business ต่อยอดธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี ตามนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม S-curve เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

โดยวางงบประมาณลงทุน 10-20% ของการลงทุนทั้งหมดของกลุ่มอุตสาหกรรมขั้นปลาย และได้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ด้วยการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อเดือน พ.ย. 2563

บุกธุรกิจยา-การแพทย์เต็มตัว

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ ปตท.มีนโยบายในการสร้างธุรกิจใหม่โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่เป็น new S-curve ที่ลิงก์กับธุรกิจ ซึ่งเป็นที่มาที่คณะกรรมการ ปตท.ระบุว่า บริษัทควรมีแฟลกชิปด้าน life science เรื่องวิทยาศาสตร์ชีวภาพ หรือ “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต” ขึ้นมา

ประกอบกับเกิดเหตุการณ์เรื่องโรคระบาดโควิด-19 ทำให้กระแสนี้เข้ามา ซึ่งเดิมประเทศไทยทำแต่สเกลเล็กไม่สามารถแข่งขันระดับโลกได้ ดังนั้น เป้าหมายคือ ปตท.จะเป็นหัวหอกเอกชนไทยที่จะสร้าง ecosystem ของวิทยาการการแพทย์นี้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาให้เป็นประเทศไทยสามารถแข่งขันได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีจุดแข็งในการเป็น “เมดิคอลฮับ” คือมีจำนวนโรงพยาบาล แพทย์ที่เก่ง เพื่อให้บริการ แต่อุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่ายา อุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ หากประเทศไทยสามารถพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้ได้ โดยเข้าทำตั้งแต่ต้นทาง ลดการนำเข้า ในอนาคตประเทศไทยอาจเป็นฐานเรื่องการวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์ของภูมิภาคได้

ดร.บุรณินกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับ ปตท. และการพัฒนาวิจัยเรื่องยาและการแพทย์ ต้องใช้เวลาต่อยอดธุรกิจอาจจะ 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี เพราะการวิจัยยาแต่ละตัวอาจต้องใช้ขั้นตอน 7-10 สเต็ป ขณะที่ปัจจุบันการวิจัยพัฒนาในประเทศไทยอยู่แค่สเต็ป 1-3 ความท้าทายเรื่องนี้ไม่แตกต่างจากที่เคยสร้าง ปตท. เมื่อปี 2521

วางสเต็ปธุรกิจใหม่

ขณะนี้ ปตท.ได้ตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2563 และได้ตั้งบริษัทลูกชื่อ อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท เพื่อเป็นผู้ไปลงทุนกับต่างประเทศ

และล่าสุดได้คัดเลือกคณะกรรมการบริษัท ด้วยการดึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ มีทั้งแพทย์ เภสัชกร และผู้บริหารที่เคยทำงานกับบริษัทยาข้ามชาติ และเคยอยู่ในสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) มาร่วมทีม ส่วนบุคลากรจาก ปตท.มีผม และทีมด้านการเงิน ความท้าทายคือการดึงประสิทธิภาพของบุคลากรที่มีความสามารถจากส่วนธุรกิจต่าง ๆ มาทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

ดร.บุรณินกล่าวว่า ในช่วง 2 -3 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินสายหารือกับหน่วยงานและองค์กร บริษัทยาต่างชาติ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้เริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นว่าหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนการพัฒนาของ ปตท. เพราะเขามองว่าควรมีบริษัทใหญ่ที่เชื่อถือได้มาเป็นหัวหอกในการดำเนินการ

ขณะเดียวกันไทยก็มีจุดแข็ง มีคณะแพทย์ สถาบันวัคซีน สถาบันมะเร็งที่มีผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงองค์การเภสัชกรรม ต้องดึงมาร่วมงาน

มุ่ง 4 ธุรกิจยาและการแพทย์

สำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่โฟกัสไว้ 4 เรื่อง คือ 1) อุตสาหกรรมยา 2) อาหารนิวเตชั่น หรืออาหารอนาคต (ฟิวเจอร์ฟู้ด) ซึ่งเกี่ยวกับการใช้โภชนาการบำบัด เพื่อป้องกัน รักษา และลดอาหารที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย ต่อยอดจากอุตสาหกรรมไบโอชีวภาค

3) อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับวัตถุดิบที่เป็นผลพลอยได้จากปิโตรเคมี เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย

และอื่น ๆ 4) ระบบการวินิจฉัยโรคและเมดิคอล ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังระบบการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ

“ในส่วนธุรกิจยาเลือกจะทำยาสามัญ หรือ generic ก่อน คือเป็นยาที่เราไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตร โดยเน้นเลือกยาชีววัตถุ เพราะมันส่งผลข้างเคียงน้อยกว่า และสามารถปรับใช้รักษาตรงกับอาการของแต่ละคน และมุ่งไปที่ยารักษาโรคไม่ติดต่อ หรือ NCD ซึ่งเป็นโรคที่มีคนไทยเป็นมากที่สุด คือ มะเร็ง เบาหวาน ความดัน หัวใจ ซึ่งต้องใช้ยาตลอด โดยโฟกัสยาสำหรับมะเร็งก่อน

เพราะโรคนี้มีวิวัฒนาการไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และราคายาค่อนข้างสูง ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาใช้เทคโนโลยีสูง และการรักษามะเร็งจะเชื่อมโยงทั้งเชนของเรา คือ อาหารสุขภาพ เพราะเกี่ยวกับพันธุกรรมหรือพฤติกรรมการกิน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการตรวจวินิจฉัย ซึ่งเราจะไม่เข้าไปลงทุนทำโรงพยาบาล เพราะไทยมีโรงพยาบาลเยอะ เราขอเป็นมิตรกับทุกโรงพยาบาลจะดีกว่า”

โดยปลายปีที่ผ่านมา ปตท.ก็ได้มีความร่วมมือกับองค์การเภสัชฯ เพื่อโรงงานผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของไทย ซึ่งโครงการนี้จะต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปี หรือประมาณปี 2570 จึงจะสามารถเดินเครื่องการผลิตได้

โมเดลผนึกพันธมิตรไทย-เทศ

สำหรับโมเดลธุรกิจใหม่นี้จะเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทต่าง ๆ ที่มีการร่วมทุนกับทั้งบริษัทในและต่างประเทศ เพราะเพื่อเป็นการดึงองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้ามา คล้ายกับในยุคที่ ปตท.เริ่มต้นธุรกิจปิโตรเคมี จนทำให้เป็นพอร์ตธุรกิจใหญ่ขึ้นมา แต่ไม่ใช่การมาเริ่มต้นทุกอย่างเอง

ขณะนี้ตั้ง “ทีม” ศึกษารายการยามะเร็งที่ใกล้หมดสิทธิบัตร โดยมองว่าไม่จำเป็นต้องผลิตที่เมืองไทยทั้งหมด เพราะใช้ต้นทุนสูง และมีเรื่องอีโคโนมีออฟสเกล ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ใหญ่ การคิดสิทธิบัตรยาใช้เวลานาน 10-20 ปี จึงใช้วิธีการเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ

ทั้งผู้ผลิตยาต้นตำรับซึ่งมีโนว์ฮาว, ผู้ผลิตยาเจเนริก กลุ่มที่เป็น first generic หมายถึงพอสิทธิบัตรใกล้หมดอายุจะสามารถมียาเจเนริกออกมาเลย ซึ่งก็มีการพูดคุยกับบริษัทยาชั้นนำของโลก ทั้งสหภาพยุโรป อเมริกา อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน และจีน

แต่ละประเทศมีจุดแข็ง เช่น อินเดียสามารถผลิตสารที่สำคัญได้ ส่วนเกาหลีมีโมเดลคล้าย ปตท. เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ มีทั้งแอลจี ซัมซุง ที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องยาแต่ขยายเข้ามาลงทุน ฉะนั้น โมเดล ปตท.จะไปรีเรตกับเกาหลีได้ ส่วนจีนโมเดลก็จะเป็นอีกแบบ แข็งแรงเรื่องการทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น

“ถ้าเราวิจัยและพัฒนาไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จใน 5 หรือ 10 ปี แต่ต้องใช้เวลา ดังนั้น คีย์สำคัญคือไทยจะทำอย่างไรที่จะสร้างนวัตกรรมและสร้างแบรนด์ แล้วค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปในซัพพลายเชนนี้ให้ได้ เช่น เราอาจวิจัยขั้น 1-2 แล้วส่งต่อให้ต่างประเทศ จากนั้นเราค่อยมาทำ finish product เช่นเดียวกับที่บริษัทยาใหญ่ ๆ ทำ ซึ่งต้องร่วมมือกันและวางระบบแบ่งปันผลประโยชน์”

โอกาส-ความท้าทาย

“ความยากก็คือเรื่องนี้มีความเสี่ยงสูงในการทำ เพราะไม่ใช่ทุกตัวยาที่ทำจะประสบความสำเร็จ ฉะนั้นมันต้องเรียนรู้ระหว่างทาง คือการบริหารความเสี่ยงไปด้วยกัน ประเทศไทยเรื่องพวกนี้ยังใหม่มาก และยังขาดระบบอีโคซิสเต็มที่จะส่งเสริม ระบบการบริหารจัดการถ้าหากทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี”

“เรื่องยาเป็นวิทยาศาสตร์ แต่พอมารวมเป็นธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมยา กว่าจะอธิบายให้นักธุรกิจยอมรับได้ สมมุติลงทุนพัฒนา 10 ตัว ล้มเหลวสัก 8 ตัว และสำเร็จสัก 1 ตัว บางทีก็จะคัฟเวอร์หมด หรือเป้าหมายพัฒนายาตัวหนึ่ง แต่อาจจะฟลุกรักษาได้อีกตัวหนึ่ง เหมือนวัคซีนโควิด-19

แต่หากในอนาคตอุตสาหกรรมนี้สำเร็จ ก็จะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ ให้กับระบบเศรษฐกิจไทย เข้าใจว่าภาครัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สภาพัฒน์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ก็พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ เป็นหนึ่งใน 12 new S-curve ซึ่งการที่ ปตท.มาทำตอนนี้ก็ถือเป็นจังหวะที่ดี แต่ก็อย่าใจร้อนเกินไป”

ผุดโรงงานถุงมือยาง “ไนไตรล์”

ดร.บุรณินกล่าวว่า สิ่งที่กดดันมากที่สุดคือคำถามว่าจะมีสินค้าออกมาวางตลาดเมื่อไร ด้วยความที่เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เวลาพัฒนา 10-20 ปี ระหว่างทางต้องมีสินค้าอะไรที่ให้เก็บเกี่ยวสร้างรายได้ ฉะนั้นบางอย่างต้องพัฒนาก่อน

เช่น อาจจะขอสิทธิบัตรยาบางตัวมาผลิตและจำหน่ายก่อน หรือในกลุ่มของการพัฒนาสินค้า วัสดุเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท. ยกตัวอย่าง การผลิตหน้ากากอนามัย ถุงมือยางสังเคราะห์ (ไนไตรล์) ซึ่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นก่อน

“ขณะนี้กำลังหารือกับพันธมิตรต่างชาติเพื่อขอไลเซนส์สร้างโรงงานถุงมือยางไนไตรล์ เพราะ ปตท.มีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต 2 ตัว จาก IRPC และ GC ซึ่งก็ต้องหาโมเดลความร่วมมือในการผลิตและทำตลาดร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทมีเทคโนโลยีเรื่องนี้ก็จะเป็น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย ซึ่งถ้าได้ไลเซนส์ก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี หรือปี 2566 ก็น่าจะพร้อมผลิตในเชิงพาณิชย์ได้”

ความมั่นคงทางสุขภาพ

ดร.บุรณินกล่าวสรุปว่า จุดมุ่งหมายของอินโนบิก คือ ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจัดอันดับดีในแง่การรักษา คือ มีจำนวนโรงพยาบาล จำนวนเตียง จำนวนหมอดี แต่ยังขาดอีโคซิสเต็ม เมื่อเกิดวิกฤตจึงมองว่าควรเริ่มมีการผลิตเพื่อความมั่นคง เป็นเรื่องที่ต้องกัดฟัน ต้องยอม แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกตัว มีบางตัวที่เก่ง ที่สามารถยืนในตลาดโลกได้ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

และที่สำคัญคือกระบวนการทำเรื่องนี้เพื่อให้เข้าไปสู่คอมเมอร์เชียลมากขึ้น

“วันนี้ ปตท.ถือว่าใหม่มากสำหรับเรื่องนี้ เพียงแต่เอาตัวไปแทรก ดึงองค์ความรู้ และทำเรื่องพวกนี้ให้เป็นระบบ เป็นพัฒนาการ ผมว่าเรื่องนี้มันเหมือนกับการลงทุนปิโตรเคมีในอดีต คือต้องไปร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ญี่ปุ่นบ้าง เกาหลีบ้าง อเมริกาบ้าง ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยติดระดับโลกธุรกิจปิโตรเคมี เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

คือเราเชื่อว่าหากมีบริษัทใดบริษัทหนึ่งลุกขึ้นมาเป็นแบ็กโบน หรือหัวหอกหลัก ก็จะสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดบริษัทไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เพราะผมเชื่อว่าวันนี้พวกสตาร์ตอัพที่พัฒนาด้านการแพทย์ต่าง ๆ หรือผู้ประกอบการไทยรายย่อย เก่งกว่า ปตท. เพียงแต่ว่าเค้ายังเล็ก ทำเป็นจุด ๆ ความท้าทายคือเราจะดึงพวกนี้เข้ามาร่วมได้อย่างไร”

อันนี้เป็นโจทย์สำหรับ ปตท.ในการ transform และเรื่องยาเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวพันกับเรื่องเศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก ใครทำธุรกิจนี้ต้องบาลานซ์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-610956


จำนวนผู้อ่าน: 1490

11 กุมภาพันธ์ 2021