เปิดพอร์ต “คีรี” 4 แสนล้าน จ่อเซ็นสัญญาร่วมรัฐบาลประยุทธ์

พอร์ตงานใหญ่ใต้ปีกของ “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส กำลังรอการอนุมัติ เซ็นสัญญา เดินหน้าโครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.6 แสนล้านบาท โดยรวมดูเหมือนจะฉลุย แต่สุดท้ายต้องมาติดหล่ม จนทำให้ไม่สามารถปิดดีลได้ตลอดรอดฝั่ง

ไม่ใช่แค่สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกำลังรอไฟเขียวจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายสัญญาให้อีก 30 ปี ที่ติดหล่ม “คมนาคม” จนกลายเป็น “วิบากกรรม” ลามไปถึงสนามประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) เค้กก้อนใหญ่ที่วงการรับเหมาและผู้ประกอบการเดินรถหมายตา แต่สุดท้ายล้มกลางคัน รอวันนับหนึ่งยื่นประมูลใหม่

ในพอร์ตยังมีงานใหญ่รอเซ็นสัญญา งานจ้างติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมาและบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 39,138 ล้านบาท มีกรมทางหลวงเป็นเจ้าของโครงการ เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP gross cost 30 ปี

งานนี้ BTS ยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราช กรุ๊ป โดยกดราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางร่วม 21,948 ล้านบาท ทิ้งห่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และกลุ่มยูนิคฯและไชน่า คอมมิวนิเคชั่น แบบขาดลอย

แม้จบประมูลกันมากว่า 1 ปี ผ่านการประทับตราจาก “ครม.” แล้ววันที่ 21 ก.ค. 2563 จนถึงขณะนี้โครงการยังไม่มีทีท่าจะได้เซ็นสัญญา ล่าสุดติดปมปรับแบบก่อสร้าง 17 ตอนของสายบางปะอิน-โคราช ที่มีงบฯก่อสร้างเพิ่มประมาณ 6,000 ล้านบาท ทำให้ยังไม่ได้รับไฟเขียวจาก “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม

“กรมทางหลวงต้องเคลียร์ 17 ตอนให้เสร็จก่อน ถึงจะส่งมอบพื้นที่และเซ็นสัญญากับเอกชนได้ หากส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ หลังเซ็นไปแล้วอาจเกิดการฟ้องร้อง ทำให้เกิดค่าโง่ได้ แต่อาจจะเซ็นช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรีก่อนในต้นปีนี้ ทั้ง 2 โครงการยังเดินหน้าก่อสร้างเหมือนเดิม ตามแผนจะเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2566” นายศักดิ์สยามกล่าว

ไม่ต่างจาก “สัมปทานส่วนต่อขยายสายสีชมพูศรีรัช-เมืองทองธานีและสายสีเหลืองรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน” ที่บีทีเอสเสนอลงทุนเพิ่มเติมให้ต่อเชื่อมจากสัมปทานสายหลักที่ได้รับสัมปทาน 30 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อโครงการมากยิ่งขึ้น ตั้งเป้าจะเปิดบริการพร้อมกันในปี 2564 สุดท้ายไทม์ไลน์ขยับไป 1 ปี

ส่วนต่อขยายสายสีชมพูช่วง “ศรีรัช-เมืองทองธานี” ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 3,379 ล้านบาท ชักเข้าชักออก ครม.อยู่หลายครั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 “ศักดิ์สยาม” ออกมาระบุได้เข้า ครม.วันที่ 9 ก.พ. เพราะหนังสือที่ทำถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอให้ตรวจพิจารณาเอกสารแนบท้ายร่างสัญญา เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดได้มีหนังสือตอบกลับมาแล้ว พร้อมย้ำไม่เคยถอนเรื่องออกจาก ครม. แต่เป็นความเข้าใจผิดของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่องขั้นตอนต่าง ๆ

น่าจะรอยาวถึงปี 2565 “สายสีเหลืองส่วนต่อขยาย” ช่วงรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. วงเงิน 3,779 ล้านบาท ล่าสุด คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว

แต่ทางปฏิบัติเป็นปัญหาสามเส้า ระหว่าง “รฟม.-BTS-BEM” ยังไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องการจ่ายค่าชดเชยรายได้ให้ BEM ผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงิน กรณีที่ส่วนต่อขยายสายสีเหลืองเปิดบริการแล้ว อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารสายสีน้ำเงินลดลง

ที่ผ่านมา “รฟม.” พยายามเจรจา BTS ให้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน ขณะที่ “BTS” ทำหนังสือถึง รฟม.ยืนกรานจะไม่ชดเชยรายได้ให้ไม่ว่ากรณีใด ๆ เพราะเป็นผลกระทบที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของผลกระทบในอนาคต จะต้องมีการพิสูจน์หลังเปิดบริการไปแล้ว

ขณะที่ “เมืองการบินอู่ตะเภา” โปรเจ็กต์มาสเตอร์พีซของ “หมอเสริฐ-คีรี” แม้กำลังนับถอยหลังเริ่มต้นโครงการปลายปี 2564 หากไม่มีเหตุทำให้ไทม์ไลน์ขยับออกไป เพราะโครงการนี้ต้องเชื่อมโยงกับโครงการอื่น โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง

โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 290,000 ล้านบาท โดย BTS จับมือ บมจ.การบินกรุงเทพและ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ควัก 305,555 ล้านบาทจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ แลกสัมปทาน 50 ปี ซึ่งตั้ง บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) เซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563

ปัจจุบันรอส่งมอบพื้นที่จากกองทัพเรือ ทางอีอีซีประเมินว่าสิ้นปี 2564 จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ อีกด้านหนึ่ง UTA อยู่ระหว่างออกแบบ master plan การพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด มีเนื้อที่ 6 ,500 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 6 เดือน

ประเดิม 30,000 ล้านบาท ลงทุนเฟสแรกให้เสร็จในปี 2567 มีอาคารผู้โดยสาร พื้นที่กว่า 157,000 ตร.ม. พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

เป็นงานใหญ่ที่ “เจ้าพ่อบีทีเอส” คว้ามาได้ภายใต้ “รัฐบาล คสช.มาถึงรัฐบาลประยุทธ์” ถึงจะกำชัยไว้ในมือ แต่ก็ยังไม่ฉลุยเสียทีเดียว

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-610370


จำนวนผู้อ่าน: 2144

11 กุมภาพันธ์ 2021