ดอลลาร์แข็งค่าหลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐ

ภาวะการเคลื่อนไหวปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/10) ที่ระดับ 33.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าหลังการเปิดเผยข้อมูลเงิน โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ทั่วไปพุ่งขึ้น 4.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2514 ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ นอกจากนี้ นายเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ จะทำการคัดเลือกประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ โดยในรายงานระบุว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนปัจจุบันนั้น มีแนวโน้มที่จะได้ครองเก้าอี้ต่อไปเป็นสมัยที่ 2 แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบุคคลอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมด้วยเช่นกัน ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนบางรายแสดงความวิตกกังวลว่า ตลาดการเงินอาจจะเผชิญกับความผันผวน หากท้ายที่สุดแล้วประธานาธิบดีไบเดนเลือกประธานเฟดคนใหม่ที่พลิกโผจากการคาดการณ์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น กระทรวงการคลังได้เพิ่มวงเงินสนับสนุนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวน 1,500 บาทต่อคน โดยนำไปรวมกับวงเงินสิทธิคงเหลือจากรอบที่ 1 และรอบที่ 2 โดยอัตโนมัติ รวมเป็นวงเงินสุทธิที่ได้รับจำนวนทั้งสิ้น 4,500 บาทต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี มอบหมายทุกภาคส่วนราชการจัดเตรียมมาตรการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ หลังจากเปิดประเทศในวันนี้ โดยเปิดประเทศเพิ่มจาก 46 เป็น 63 ประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว นักวิชาการชี้การเปิดประเทศจะช่วยสร้างรายได้ 5 หมื่นล้านในช่วง 2 เดือนสุดท้าย หนุนเศรษฐกิจสกัดจีพีดีร่วง แม้เสี่ยงโควิดกลับมาระบาด โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.32-33.48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 1.1558/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/10) ที่ระดับ 1.1652/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าหลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อในแถบยูโรโซนนั้น สำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) เปิดเผย อัตราเงินเฟ้อของประเทศในยูโรโซนเดือนตุลาคม ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร 19 ประเทศปรับตัวขึ้นแตะ 4.1% ในเดือนตลุาคม จากระดับ 3.4% ในเดือนกันยายน และมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 3.7% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1546-1.575 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1571/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่นไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 114.14/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/10) ที่ระดับ 113.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี ส่งผลให้เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคญี่ปุ่นประจำเดือนตุลาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีครึ่ง เนื่องจากยอผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศลดลงมาก จนส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกภาวะฉุกเฉินในทุกพื้นที่ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่มีสมาชิกตั้งแต่สองคนขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4 จุดจากเดือนกันยายน มาอยู่ที่ 39.2 จุดในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ระดับ 39.5 จุดในเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดโรคโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยน เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.03-114.46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.25/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ต.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือน ก.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ต.ค.ของจีน ยูโรโซน อังกฤษด้วยเช่นกัน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +1.00/+1.05 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.00/+3.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-793643


จำนวนผู้อ่าน: 1076

02 พฤศจิกายน 2021