จี้รัฐแก้ปม 300 โรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ หวั่นจีนกินรวบ

จีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ จี้รัฐแก้ปม 300 โรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ หวั่นจีนกินรวบยก “ซัพพลายเชน” มาไทย

ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย มีนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง

ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ 2.นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ 3.นิคมอุตสาหกรรม 304 ปาร์ก 4.นิคมอุตสาหกรรม ทีเอฟดี 2 และเป็น 1 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) มีโรงงานขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ กว่า 2,000 แห่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “จีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมจังหวัดและทิศทางการลงทุนในหลายด้าน

“โควิด” ทำอุตฯชะลอตัว

“จีรทัศน์” เล่าว่า ภาพรวมภาคอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราตอนนี้ชะลอตัวเล็กน้อย แต่พอขับเคลื่อนไปได้หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันภายในจังหวัดสามารถควบคุมการระบาดได้ระดับหนึ่ง ด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1.ควบคุมโรค 2.ควบคุมการเดินทาง 3.ควบคุมคน 4.มาตรการเผชิญเหตุ ทำให้มีการระบาดน้อยลง

ปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทรามีโรงงานทั้งหมด 2,000 แห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก มีแรงงานทั้งหมดประมาณ 100,000 คน ทางสภาอุตสาหกรรมได้มีการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการเป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างโรงงานกับภาครัฐ รวมถึงติดตามสถานการณ์และช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน หากผ่านพ้นสถานการณ์ช่วงนี้ไปได้ คาดว่าในอนาคตภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะสามารถขับเคลื่อนได้ดี

โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง อาทิ1.เป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน 2.อยู่ใกล้สนามบิน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออก-นำเข้าสินค้า 3.ท่าเรือแหลมฉบัง 4.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จี้รัฐกระตุ้นการค้า-ลงทุน

“สำหรับสถานการณ์เรื่องการค้าการลงทุน ตอนนี้อยากให้ภาครัฐปลดล็อกมาตรการการควบคุมต่าง ๆ เช่น มาตรการเคอร์ฟิว ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไม่สะดวกเท่าที่ควร เพราะต้องทำเรื่องขออนุญาตก่อนทุกครั้งส่งผลให้การขนส่งล่าช้ามากขึ้น หากภาครัฐยกเลิกเคอร์ฟิว หรือลดขั้นตอนต่าง ๆแต่ยังอยู่ในภายใต้การควบคุม จะทำให้สถานการณ์ดีมากขึ้น”

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาในรูปของโครงการต่าง ๆ ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นในระดับหนึ่งแต่อยากให้ภาครัฐมีการผลักดันมาตรการที่ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมโดยตรงมากกว่า โดยเฉพาะการกระตุ้นการค้าและการลงทุน อยากให้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการคล้ายกับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

และสุดท้ายคือภาครัฐต้องประกาศทิศทางในการพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราให้ชัดเจน เช่น หากจะผลักดันด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตรถยนต์ ก็ต้องซัพพอร์ตให้เต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมก้าวต่อไปได้

 

“จีรทัศน์” บอกว่า อยากผลักดันให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ตอนนี้การลงทุนในฉะเชิงเทราค่อนข้างจะคึกคัก โดยเฉพาะ 1.อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การขอพื้นที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้า อาทิ Shopee Lazada 2.อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด มีนักธุรกิจในประเทศลงทุนตั้งโรงงานผลิต

อาทิ แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น และที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ มีกลุ่มบริษัทพลังงานลงทุนตั้งโรงงานขนาดใหญ่ใช้พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ มีการขอจดทะเบียนกว่า 10 โรงงาน

“ตอนนี้ที่นิคมอุตสาหกรรม BP กำลังผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้กรุงเทพฯ มีการขับเคลื่อนไปในระดับหนึ่ง และที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทคฯกำลังสร้างโรงงานอยู่ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ ซึ่งเรามองว่าเป็นอนาคตของประเทศไทยเลย ถ้ามีโซลาร์เซลล์มากเท่าไหร่จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดพลังงานไปได้เยอะ และเมื่อผ่านพ้นโรคโควิด-19ไปได้ ควรจะมีการผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของจังหวัดฉะเชิงเทราอีกด้วย”

โรงงานชิ้นส่วนหวั่นทุนจีนกินรวบ

ปัจจุบันผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความกังวลว่า ในอนาคตที่มีการเชิญชวนนักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะถ้านักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนทั้งซัพพลายเชน อาทิ นำบริษัทผลิตเครื่องจักร บริษัทผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ กลุ่มผู้ให้บริการ รวมถึงกลุ่มพันธมิตรต่าง ๆ ของจีนเข้ามาด้วย จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยขายสินค้าได้น้อยลง

ประเด็นนี้ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรามีการพูดคุยกันอยู่ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นจะทำอย่างไร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นสันดาปของจังหวัด ที่มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ในฉะเชิงเทรากว่า 300 แห่ง อาจจะเกิดการปิดตัวลงจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนกำลังปรับตัวไปผลิตเครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้น

ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐจับตามองนักธุรกิจจีนด้วย ไม่ใช่มอบสิทธิพิเศษทางภาษีให้เข้ามาลงทุนโดยไม่มองถึงข้อเสีย และหากไม่มีการช่วยเหลือผลักดันผู้ประกอบการภายในประเทศเลยก็คงสู้ต่างชาติไม่ไหว ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้มีการพูดกับทางภาครัฐมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

อยากให้รัฐบาลคิดถึงผู้ประกอบการคนไทย ช่วยกันระดมความคิดทำอย่างไรถึงจะผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยแข็งแรง อย่ามองแต่เพียงการลงทุนจากต่างประเทศ คิดถึงคนไทยให้เหมือนกับคิดถึงคนต่างประเทศที่จะมาลงทุนด้วย รัฐบาลไทยมอบสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนให้นักลงทุนต่างประเทศไม่ต้องเสียภาษี 5-7 ปี แต่ผู้ประกอบการไทยจ่ายเต็มก็ไม่ไหว สถานประกอบการเราจะไปไม่รอด

 

“ขอให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยอยู่รอด และปรับตัวขึ้นสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้ ภาครัฐมีคนทำงานที่เก่งจำนวนมาก ต้องผลักดันช่วยเหลือผู้ประกอบการคนไทยให้จริงจังอย่างเป็นรูปธรรม” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-791792


จำนวนผู้อ่าน: 1027

02 พฤศจิกายน 2021