จักรทิพย์ ไม่ลงผู้ว่ากทม. ไม่ได้กลัวแพ้ แต่มีเหตุผล

ภาพจากเฟซบุ๊ก จักรทิพย์ ชัยจินดา

หลังมีรายงานข่าวว่า่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ตัดสินใจไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. จึงมีการวิเคราะห์หาสาเหตุว่าเกิดจากเรื่องใด

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 กรณีมีรายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประกาศต่อหน้าผู้สมัคร ส.ก. ที่ให้การสนับสนุน ว่า “ตัดสินใจว่าจะไม่ลงสมัครผู้ว่าฯกทม.แล้ว” โดยให้เหตุผลว่า ผู้ใหญ่ให้ถอนตัวเพื่อไปทำงานการเมืองด้านอื่น สร้างความตกใจให้กับผู้สนับสนุน เนื่องจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น

ล่าสุด ข่าวสด รายงานว่า สาเหตุการตัดสินใจถอนตัวของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เนื่องจากความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. ต้องการส่ง ส.ก. ในนามพรรค พปชร. รวมถึงจะสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. สมัยหน้าด้วย จึงเท่ากับว่าจะต้องไปแข่งกันเอง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เคยกล่าวว่าไม่ต้องการแข่งกับ พล.ต.อ.อัศวิน ซึ่งเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่มีความใกล้ชิดกัน ตั้งแต่สมัยเป็นข้าราชการตำรวจ จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจครั้งนี้ด้วย

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ไม่ได้กลัวแพ้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ที่ผลโพลมีคะแนนนำ เนื่องจากนายชัชชาติยังจะต้องไปแย่งฐานเสียงเดียวกับกลุ่มที่เป็นฐานเสียงของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย หรือแม้แต่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลก็ตาม

แต่สาเหตุหลักคือไม่ต้องการให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพต้องลำบากใจ นอกจากนี้ ยังมีผู้ใหญ่ขอมาให้ถอนตัว และอาจจะให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ไปทำงานการเมืองด้านอื่นแทน

คน กทม. อยากได้ผู้ว่าฯชื่อ “ชัชชาติ”

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อยากได้ใคร เป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 6” สำรวจระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่าง

 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯกทม. พบว่า

  • อันดับ 1 ร้อยละ 29.74 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
  • อันดับ 2 ร้อยละ 27.92 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ
  • อันดับ 3 ร้อยละ 13.66 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา
  • อันดับ 4 ร้อยละ 9.33 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
  • อันดับ 5 ร้อยละ 4.10 ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล
  • อันดับ 6 ร้อยละ 3.26 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
  • อันดับ 7 ร้อยละ 2.73 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล
  • อันดับ 8 ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
  • อันดับ 9 ร้อยละ 1.97 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์
  • อันดับ 10 ร้อยละ 1.29 ระบุว่าเป็น นายสกลธี ภัททิยกุล
  • อันดับ 11 ร้อยละ 1.14 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) และจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในสัดส่วนที่เท่ากัน
  • และร้อยละ 1.52 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ผู้สมัครจากพรรคกล้า ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี และเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯกทม. ครั้งที่ 5 เดือนกันยายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) มีสัดส่วนลดลง

ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังไม่ตัดสินใจ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และนายสกลธี ภัททิยกุล มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-793775

 

 


จำนวนผู้อ่าน: 1012

02 พฤศจิกายน 2021