ผู้นำทั่วโลกร่วมประชุม COP26 ประเทศสกอตแลนด์ ถก 4 ประเด็น หนทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 หรือ COP26 ได้ดำเนินมาเป็นวันที่ 3 แล้ว โดยงานถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 มีผู้นำจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเครือสหราชอาณาจักร เพื่อหารือหนทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน
“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวบที่มาที่ไป และความสำคัญของ COP26 ดังนี้
COP เป็นการประชุมเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก โดยจุดเริ่มต้นคือเมื่อปี 2535 องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้จัดงาน Earth Summit ที่เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เพื่อริเริ่มนำเอากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) มาใช้
ในสนธิสัญญานี้ นานาประเทศตกลงที่จะ “รักษาความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้คงที่” เพื่อป้องกันการแทรกแซงในการสร้างผลกระทบสู่ภูมิอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยปัจจุบันสนธิสัญญามีผู้ลงนาม 197 ประเทศ
นับตั้งแต่ปี 2537 สนธิสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทุก ๆ ปี และทาง UN จะชวนทุกประเทศบนโลกเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศโลก (COP) ซึ่งการประชุม COP สมัยที่ 1 (COP1) จัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม – 7 เมษายน 2538 และแต่ละปีประเทศเจ้าภาพหมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของ ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกา, เอเชีย, ละตินอเมริกาและแคริบเบียน, ยุโรปกลางและตะวันออก, และยุโรปตะวันตก
ในระหว่างการประชุม COP แต่ละปี มักมีการเจรจาเรื่องส่วนขยาย (extensions) จากสนธิสัญญา UNFCCC และการกำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันทางกฎหมายสำหรับแต่ละประเทศ และเพื่อกำหนดกลไกการบังคับใช้
ประกอบด้วยพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามสนธิสัญญา UNFCCC โดยให้ประเทศอุตสาหกรรมและประเทศที่พัฒนาแล้วจำกัด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ตามเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันให้ได้ภายในปี 2555 และขอให้ประเทศสมาชิกนำนโยบายและมาตรการในการบรรเทาผลกระทบมารายงานเป็นระยะ
แต่ด้วยสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐภาคีกรอบอนุสัญญา UNFCCC จำเป็นต้องเจรจาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ จนในที่สุดสามารถตกลงกันได้ระหว่างการประชุม COP สมัยที่ 21 (COP21) ที่จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2558 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เกิดเป็นความตกลงปารีส (Paris Agreement) นับตั้งแต่นั้น
ตามความตกลงปารีส ทุกประเทศทั่วโลกจะเพิ่มความพยายามในการจำกัดภาวะโลกร้อนตามหลักการดังนี้
แม้ COP จะจัดขึ้นทุกปี (ยกเว้นปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก) แต่การประชุม COP26 ในปีนี้ถูกกล่าวถึงว่าเป็นโอกาสสุดท้ายในการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส และนับเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจาก Paris Agreement ได้ถูกลงนาม โดยนานาประเทศต้องร่วมกำหนด NDC และอัปเดตความมุ่งมั่น เพราะครบกำหนด 5 ปีแล้ว
ตลอดระยะเวลา 13 วัน การประชุมจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยสัปดาห์แรกประกอบด้วยการเจรจาทางเทคนิคโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรี และประมุขระดับสูงในสัปดาห์ที่ 2 เพื่อร่วมหาข้อตกลงแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ภายในครึ่งศตวรรษ (ปี ค.ศ 2050) และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยแต่ละประเทศต้องเร่งการยุติการใช้ถ่านหิน ตัดไม้ทำลายป่า และมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงพัฒนากลไกตลาดคาร์บอน
2. ปรับตัวเพื่อปกป้องชุมชนและถิ่นที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ จึงต้องฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างการป้องกัน ระบบเตือนภัย และโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น
3. การระดมเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว ตามที่ประเทศพัฒนาแล้วได้ให้คำมั่นสัญญาไว้เมื่อการประชุม COP15 ว่าจะสนันสนุนอย่างน้อย 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปีแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อใช้ในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. สร้างความร่วมมือเพื่อทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม
นอกเหนือจากการเจรจาอย่างเป็นทางการแล้ว คาดว่า COP26 จะจัดตั้งโครงการริเริ่ม และแนวร่วมใหม่ ๆ เพื่อดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศด้วย
ภาพ Reuters: นายบอริส จอหน์สัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ ที่ประชุม COP26
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น ประเทศสกอตแลนด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมพิธีเปิด COP26 และกล่าวต่อที่ประชุมว่า การมาร่วมประชุมครั้งนี้ เป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน”
“ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเพียงประมาณร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี 2558 โดยไทยอยู่ในประเทศกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของ Paris Agreement”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ภายใต้ UNFCCC ไทยได้กำหนดเป้าหมาย NAMA เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2563 แต่ทว่าในปี 2562 ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วร้อยละ 17 ซึ่งเกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี
นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดส่ง NDC ฉบับปรับปรุงปี 2563 และจัดทำแผนงานต่าง ๆ ในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ล่าสุดไทยได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำให้กับ UNFCCC โดยไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดทำยุทธศาสตร์นี้
“ไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2608 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ ผมมั่นใจว่าไทยจะสามารถยกระดับ NDC ของขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2593”
นอกจากนั้น ประเทศไทยนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG มาเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ และจะนำแผนนี้มาเป็นวาระหลักของการประชุมเอเปค (APEC) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า
ภาพ: เฟสบุ๊ก Top Varawut
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เดินทางไปร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย ได้โพสผ่านเฟสบุ๊ควันนี้ (2 พฤศจิกายน 2564) ว่า ภารกิจ COP26 ในครั้งนี้ผมและชาวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเดินทางมากับท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย
การเข้าร่วมประชุม COP26 ในครั้งนี้ จะเป็นการเน้นย้ำท่าทีของประเทศไทย ที่ได้ให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย ภายใต้ Paris Agreement
ตลอดจนจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term low greenhouse gas emission development strategies: LT-LEDS) เพื่อแสดงถึงความชัดเจนและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังในการประชุมครั้งนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-794676
จำนวนผู้อ่าน: 1516
03 พฤศจิกายน 2021