ดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่า หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจต่ำกว่าคาดการณ์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/11) ที่ระดับ 32.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/11) ที่ระดับ 32.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครและอัตราเงินหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ลดลงสู่ระดับ 10.44 ล้านตำแหน่งในเดือนกันยายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.46 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 10.63 ล้านตำแหน่งในเดือนสิงหาคม

ส่วนอัตราการเปิดรับสมัครงานอยู่ที่ระดับ 6.6% ในเดือนกันยายน ตัวเลขการลาออกจากงานโดยสมัครใจพุ่งขึ้น 164,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 4.43 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราการลาออกจากงาน โดยสมัครใจอยู่ที่ระดับ 3% ซึ่งเป็นระดับสุงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ตัวเลขการปลดออกจากงานอยู่ที่ระดับ 1.4 ล้านตำแหน่งในเดือนกันยายน ขณะที่อัตราการปลดออกจากงานทรังตัวที่ระดับ 0.9%

ทั้งนี้ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 66.8 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 จากระดับ 72.8 ในเดือนกันยายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผย เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/64 หดตัว 0.3% จากที่ขยายตัว 7.5% ในไตรมาสที่ 2/64 จากผลกระทบวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ยัคงแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน ขณะที่เศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 1.3% เทียบกับการหดตัว 6.8% ใน 9 เดือนแรกของปี 2563

 

โดยภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมแะภาคบริการขยายตัว 2.3% 3.6% และ 0.0% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงเฝ้าติดตามกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.66-32.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.70/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/11) ที่ระดับ 1.1457/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/11) ที่ระดับ 1.1443/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในแถบยูโรโซนจะปรับตัวลดลงในปีหน้า เนื่องจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อขณะนี้เป็นเพียงแค่ระยะชั่วคราว ทาง ECB จึงมองว่ายังไม่มีความจำเป็นในการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1437-1.1464 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1448/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/11) ที่ระดับ 113.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/11) ที่ระดับ 113.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2564 หดตัวลง 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ไตรมาส และหดตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัวลงเพียง 0.8% เนื่องจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจญี่ปุ่น หากเทียบเป็นรายไตรมาสตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นหดตัวลง 0.8% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัวเพียง 0.2%

ข้อมูลของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังระบุด้วยว่า การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ปรับตัวลง 1.1% ในไตรมาส 3 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 0.5% ส่วนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจปรับตัวลง 3.8% ในไตรมาส 3 ขณะที่การส่งออกลดลง 2.1% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.75-114.04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.91/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐ (16/11) ตัวเลขเงินเฟ้ออังกฤษ (17/11) ตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซน (17/11) ตัวเลขสร้างบ้านสหรัฐ (17/11) จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (18/11) ยอดค้าปลีกอังกฤษ (19/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.60/+0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.40/-0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-802863


จำนวนผู้อ่าน: 1104

16 พฤศจิกายน 2021