'ไทยไลอ้อนแอร์'ผนึก5สายการบินชิงตลาดโลว์คอสต์เอเชีย

หลังจากเปิดตลาดในไทยมากว่า 4ปี "ไทย ไลอ้อน แอร์" โลว์คอสต์น้องใหม่ที่มี “ไลอ้อน กรุ๊ป” เบอร์ 1 จากอินโดนีเซียหนุนหลัง สร้างการเติบโตจนครองส่วนแบ่งตลาดเส้นทางในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ปีที่ผ่านมาได้เริ่มขยายเส้นทางต่างประเทศโดยมีสัดส่วน 40%

ปีนี้ไทย ไลอ้อน แอร์ ประกาศใช้กลยุทธ์หลัก “การเชื่อมต่อ” กับ 4 สายการบินในเครือข่ายที่ต่างรุกหนักในอินโดนีเซีย,มาเลเซีย โดยวาดผังเส้นทางครอบคลุมเอเชียแปซิฟิก

อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ มั่นใจว่าวันนี้ส่วนแบ่งตลาดในทุกเส้นทางสูสีกับคู่แข่ง่โดยผลัดกันครองอันดับ 1 และ 2 ต่อเนื่อง โดยมี 5 เส้นทางในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่รั้งอันดับ 1 ได้เหนียวแน่น

ปัจจุบันไลอ้อน กรุ๊ป มี 3 สายการบินในอินโดนีเซีย ได้แก่ ไลอ้อน แอร์ และวิงส์ แอร์ ที่ให้บริการแบบโลว์คอสต์, บาติก แอร์ อินโดนีเซีย ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ส่วนในมาเลเซียมีมาลินโด้ แอร์ ที่ให้บริการเต็มรูปแบบและมีแผนจะรีแบรนด์เป็นบาติก แอร์ มาเลเซีย พร้อมกลยุทธ์รุกเส้นทางต่างประเทศทั้งระยะใกล้และไกลมากขึ้น เช่น ออสเตรเลีย 

ทั้งนี้ไลอ้อน กรุ๊ป ได้สั่งซื้อเครื่องบิน700 ลำ สำหรับทุกสายการบินในเครือ โดยรับมอบแล้ว400 ลำ จึงยังมีเครื่องที่พร้อมรับการเติบโตในอนาคตได้อีก

ทั้งนี้หากนำทุกเส้นทางของ 5 สายการบินในเครือมากาง ผู้โดยสารจะมีตัวเลือกที่สะดวกมาก เช่น หากผู้โดยสารจากไทยต้องการไปออสเตรเลียก็สามารถใช้ศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ของมาลินโด้ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นจุดเชื่อมต่อ และกลับกันก็จะช่วยส่งเสริมไทยไลอ้อนแอร์ที่ปัจจุบันเป็นสายการบินที่เปิดเส้นทางสู่จีนมากที่สุดในเครือกว่า 18 จุดบิน ทำให้สามารถใช้จุดแข็งของเครือข่ายนำเสนอทางเลือกการเดินทางเสริม โดยให้ดอนเมืองเป็นฮับเพื่อเดินทางต่อไปยังอีก 2 ประเทศในกลุ่ม “ไท่ซิ่งหม่า” ได้แก่ สิงคโปร์และมาเลเซียที่ชาวจีนนิยมไปเยือน

รวมถึงการเตรียมเปิดเส้นทางไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งอาจทำให้ไทย ไลอ้อน แอร์ แข็งแกร่งในเส้นทางเอเชียเหนือมากที่สุดในกลุ่ม สามารถเป็นศูนย์กลางให้ผู้โดยสารจากมาเลเซียหรืออินโดนีเซียได้

“ปีนี้เราจะเน้นความเป็นเน็ตเวิร์คของไลอ้อน กรุ๊ป มากขึ้น เพื่อให้ผู้โดยสารเลือกใช้บริการในเครือไม่ว่าจะไปที่ไหนซึ่งการเติบโตนี้เป็นไปได้เพราะทุกสายการบินในเครือต่างเปิดเส้นทางของตัวเองอย่างหนักโดยเฉพาะไทยที่น่าจะเห็นเส้นทางใหม่ญี่ปุ่น 2 แห่งที่โตเกียวและฟุกุโอกะรวมถึงเกาหลีใต้ที่มองไว้ทั้งกรุงโซลและปูซานเมืองทางตอนใต้”

ส่วนในจีนนั้นแม้ว่าจะปักธงไปแล้ว 18 จุดบินและเป็นตลาดที่สร้างรายได้มากที่สุดสัดส่วน 35-40% ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีก เพราะการเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) แทนกรุ๊ป ทัวร์ มีมากขึ้นและไทย ไลอ้อน แอร์ เริ่มปรับตัวรองรับ ด้วยการจัดจำหน่ายเข้าถึงกลุ่มลูกค้านี้ได้ด้วยตัวเองไม่ได้พึ่งพากรุ๊ป ทัวร์อย่างเดียวอีกต่อไป

ปริมาณตลาดจีนที่สูงดังกล่าวยังทำให้ตัดสินใจนำเครื่องบินแอร์บัสเอ 330-300 ลำใหม่ 3 ลำ ที่นำเข้ามาเมื่อปลายปีที่แล้วซึ่งมีขนาดถึง 392 ที่นั่ง เข้าไปบินเสริมทัพในตลาดดังกล่าว ได้แก่กรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้,กรุงเทพฯ-หนานชาง,ภูเก็ต-หนานจิง และในเดือน ก.พ.นี้ จะเพิ่มเส้นทางกรุงเทพฯ-เทียนจิน และ ภูเก็ต-เทียนจิน อีก 2 เส้นทางด้วย

“เราไม่มีข้อจำกัดเรื่องการเปิดเส้นทางใหม่เลย ในอนาคตเส้นทางไกลอย่างยุโรปก็อยากเข้าไปเพราะพร้อมมากอยู่แล้วในเรื่องเน็ตเวิร์คและฝูงบินจากการมีเครื่องบิน เอ 330-300 เข้ามาประจำการแล้วและปีนี้ยังรับเครื่องโบอิ้ง 737 แม็กซ์ อีก 4 ลำ ซึ่งรุ่นนี้มีความสามารถในการบินได้ถึง 6 ชม. เช่นกัน ในช่วงทำตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แรกๆ อาจจะทดลองบินด้วยเครื่องนี้ก่อนก็ได้ขณะที่การขยายฝูงบินยังมีต่อเนื่องที่ 4 ลำต่อปีเป็นมาตรฐาน”

อย่างไรก็ตามอัศวินยอมรับว่าท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นที่ต้องจับตามองการแข่งขันด้วยราคาที่ต่ำมากๆ อาจจะลดลง โดยจะพยายามประคองราคาให้เท่ากับปีที่ผ่านมาและหันมาควบคุมต้นทุนการใช้จ่ายของตัวเอง การใช้กลยุทธ์ราคาจะมีบ้างเฉพาะเส้นทางที่เข้าไป “เปิดตัวใหม่” ที่ต้องการสร้างการรับรู้ให้ลูกค้ามาทดลองใช้บริการเท่านั้น เนื่องจากปีนี้จะให้ความสำคัญกับการ “ทำกำไร” ให้ได้เป็นครั้งแรกหลังจากขาดทุนในปีก่อนจากการรับเครื่องขนาดใหญ่เข้ามาพร้อมกันถึง 3 ลำ และเป็นการขาดทุนที่มากกว่าปี 2559 ด้วย แม้ว่าในเชิงรายได้จะเติบโตถึง 40% จากปี 2559

“ราคาตั๋วที่ต่ำกว่าหลักพันบาทอาจจะมีให้เห็นไม่มากเท่าเดิมเพราะทุกคนต้องกลับมาสู่จุดที่ทำกำไรได้ ถึงการแข่งขันในเส้นทางในประเทศยังมีสูงแต่เราจะใช้จุดขายเรื่องบริการเสริมที่คู่แข่งไม่มีและเป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้โดยสารที่ผ่านมาตัดสินใจเลือก เช่น การให้น้ำหนักกระเป๋าฟรี 10 ก.ก. และ 20 ก.ก. สำหรับเส้นทางในและต่างประเทศและโหลดเครื่องกีฬาได้ 15 กก. ฟรีเช่นกันรวมถึงการติดระบบจอภาพความบันเทิงในเครื่องบินขนาดใหญ่เป็นต้น”

เป้าหมายในปีนี้คือการบรรทุกผู้โดยสาร 13-15 ล้านคน ซึ่งเป็นการเติบโตตามอัตราที่นั่งที่จะเพิ่มขึ้นจากฝูงบินที่รวมเป็น 35 ลำขณะที่อัตราบรรทุกเฉลี่ยจะไม่ต่ำกว่า 89% ใกล้เคียงกับปีก่อน

“เส้นทางในประเทศมีผลงานดีแตะ 90% โดยตลอด  ส่วนเส้นทางต่างประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นก็มีอัตราบรรทุก 81-82% ค่อยๆ และการมีเน็ตเวิร์คจากไลอ้อน กรุ๊ปจะช่วยส่งเสริมให้แข็งแกร่งขึ้นอีก”

 

ขอบคุณที่มาข่าว : bangkokbiznews.com


จำนวนผู้อ่าน: 1788

25 มกราคม 2018