5 เคล็ดลับลงทุน SSF และ RMF รับโค้งสุดท้ายลดหย่อนภาษี

คอลัมน์ สถานีลงทุน

สวภพ ยนต์ศรี
บลจ.ทิสโก้

เหลือระยะเวลาอีกเพียงไม่ถึง 2 เดือนการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวม SSF และ RMF ในปีนี้ก็จะหมดลงพร้อมกับปี 2021 ที่จะหมดไป ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสและความผันผวนของตลาดการลงทุนทั่วโลก ทำให้หลายคนอาจจะยังไม่ได้ตัดสินใจลงทุนใน SSF หรือ RMF

แต่เมื่อเข้าถึงช่วงระยะเวลาปลายปี ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายแบบนี้คงจะต้องถึงเวลาแล้วในการพิจารณาลงทุนในกองทุน SSF และ RMF วันนี้เราจึงมี 5 เคล็ดลับการลงทุนใน SSF และ RMF เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจมาฝากกัน

1.มองภาพการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก

กองทุนรวม SSF และ RMF นั้นเป็นการลงทุนในระยะยาว คือกองทุน SSF ต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ส่วน RMF ก็ต้องลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี และยาวไปจนถึงอายุครบ 55 ปี นั่นหมายความว่า การตัดสินใจในการเลือกลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ควรพิจารณาถึงผลตอบแทนระยะยาวและภาพการลงทุนที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นหลัก

ตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัด คือ ภาพในระยะสั้นตั้งแต่ต้นปีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่ม growth ในต่างประเทศ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี มีความผันผวนและบางช่วงระยะเวลามีผลตอบแทนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่ม old economy เช่น กลุ่มการเงิน แต่หากจะลงทุนระยะยาวเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนั้น แน่นอนว่ากลุ่มที่มีโอกาสเติบโตสูงอย่างเทคโนโลยียังมีโอกาสเติบโตได้ดีมากเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่น ๆ

2.กระจายความเสี่ยงในการลงทุน

ย้อนกลับไปในอดีตที่เรายังสามารถลงทุนในกองทุนรวม LTF ซึ่งมีข้อจำกัดคือทุกกองทุนต้องมีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ส่งผลให้การกระจายความเสี่ยงอาจจะทำได้ไม่มากนัก แต่ในปัจจุบันกองทุน SSF ที่มาแทนที่ได้มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งหลายสินทรัพย์และหลายภูมิภาค

 

ดังนั้น เราสามารถเลือกลงทุนกระจายความเสี่ยงได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับกองทุน RMF ที่กำหนดให้นโยบายการลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ได้หมายความว่า เราก็สามารถที่จะกระจายความเสี่ยงได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะในปัจจุบันกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศทั้ง SSF และ RMF มีทางเลือกค่อนข้างหลากหลาย การพิจารณาลงทุนนอกเหนือจากการลงทุนในหุ้นไทยเพียงอย่างเดียวก็ถือเป็นตัวเลือกที่ควรกระจายมาลงทุน

3.พิจารณาผลตอบแทนย้อนหลัง จากกองทุนเดิมที่นโยบายการลงทุนเหมือนกัน

การพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังกองทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนนั้น สำหรับกองทุน SSF ที่พึ่งมีขึ้นในปี 2020 ที่ผ่านมา ทำให้แต่ละกองทุนอาจจะไม่มีผลตอบแทนย้อนหลังให้ใช้พิจารณา แต่ที่จริงแล้วกองทุน SSF ของแต่ละ บลจ.มักจะเป็นการออกกองทุน SSF อ้างอิงจากกองทุนทั่วไปเดิมที่เคยมีอยู่ หรือแยก class (ชนิดหน่วยลงทุน) ของกองทุนออกมาเป็น class SSF เราจึงสามารถดูผลตอบแทนย้อนหลังจากกองทุนทั่วไปเดิมที่เคยมีอยู่แล้วในการประกอบการตัดสินใจ

นอกจากนี้ กองทุน SSF ที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศยังสามารถใช้กองทุนหลักในต่างประเทศ หรือ master fund ในการใช้พิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อีกวิธีหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องอย่าลืมด้วยว่าผลตอบแทนในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

4.เมื่อต้องเลือกลงทุนระหว่าง SSF และ RMF อาจต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่สามารถขายกองทุนได้

แน่นอนว่าหากใครต้องการลดหย่อนภาษีโดยใช้สิทธิอย่างเต็มที่ก็สามารถลงทุนได้ทั้งกองทุน SSF และ RMF แต่เมื่อนำการลงทุนของทั้งสองกองทุนมารวมกันกับการลงทุนเพื่อสิทธิลดหย่อนภาษีในหมวดการเกษียณอื่น ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันแบบบำนาญ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการนั้นจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาเลือกลงทุนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

โดยปัจจัยที่น่าจะนำมาพิจารณาคือช่วงอายุในการขายคืนกองทุนเมื่อครบกำหนด เช่น หากเป็นผู้มีอายุ 50 ปีและใกล้เกษียณแล้ว การลงทุนใน SSF ต้องรออีก 10 ปี ถึงจะขายกองทุนได้ หมายความว่าเราต้องมีอายุ 60 ปี ในขณะที่การลงทุนใน RMF ใช้ระยะเวลาถือครองสั้นกว่าคือ 5 ปี และอายุครบ 55 ปีเท่านั้น

5.วางแผนการลงทุนแบบ DCA ในปีหน้า

การวางแผนลงทุนสำหรับปีต่อไปตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยการลงทุนถัวเฉลี่ยในแต่ละเดือน หรือ DCA (dollar-cost-averaging) ทั้งในกองทุน SSF และ RMF ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดความผันผวนด้านราคาที่เกิดขึ้นกับกองทุนได้ ทั้งยังเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอให้เกิดขึ้นอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-801687


จำนวนผู้อ่าน: 1118

16 พฤศจิกายน 2021