รื้อโต๊ะเจรจาการค้า รับเทคโนโลยี 4.0

เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทะลายพรมแดนค้า ด้วยสัญญาณ“เน็ต” พลิกเกมเจรจาการค้า เปลี่ยน 360 องศา  จากเปิดตลาด "หนุน-ค้าน" แบบหัวชนฝา สู่หลักชัยใหม่หว่านล้อมหาคู่มิตร ชนะไปด้วยกัน ดึง“จุดแข็ง-เสริมจุดอ่อน” ปลดล็อกกับดัก สู่ โอกาสใหม่

การปฏิวัติการค้า และอุตสาหกรรมยุค 4.0 ไม่เพียงบีบรัดภาคธุรกิจให้เร่งเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อไม่ให้ตกขบวนโลกการค้ายุคใหม่เท่านั้น 

ทว่า การเปลี่ยนแปลงยังขยายวงกว้างไปสู่ “โต๊ะเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในกรอบการค้าที่มีอยู่ ทั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement) และการร่วมกลุ่มการค้าต่างๆ ที่ไทยเริ่มเดินหน้าไปแล้ว ได้แก่ เขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA), เขตการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP), เขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA), เขตการค้าเสรีไทย-เปรู (TPFTA), เขตการค้าเสรีไทย-ชิลี (TCFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน -ออสเตรเลีย -นิวซีแลนด์, เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP), เขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง

 ยังมีเขตการค้าเสรีที่อยู่ระหว่างการเจรจา คือ เขตการค้าเสรี ไทย -ปากีสถาน (PATHFTA), เขตการค้าเสรีไทย-ตุรกี (THTRFTA)

รวมถึงกำลังทบทวนการเจรจาการค้าไทย - สหภาพยุโรป (Thai-EFTA) รวมถึงเอฟทีเอไทย-สหรัฐ (THAI-U.S.FTA) ที่หยุดชะงักไป 3 ปีหลังเหตุการรัฐประหารในไทย แม้จะเป็นการเดินเกมเจรจาที่เหมือนกลับมาเริ่มต้นใหม่ แต่นั่นก็ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะปรับประเด็นการเจรจาค้าให้ทันสมัย รับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ ที่ไม่ได้มีแค่การขอเปิดตลาดซื้อขายสินค้า กุ้ง ไก่ มันสำปะหลัง หมู หรือข้าว ซึ่งเป็นสินค้าหลักของไทย เหมือนในอดีตอีกต่อไป จึงต้องเข้าใจกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อวางยุทธศาสตร์การเจรจาให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ อดีตนักเจรจาการค้าที่ผ่านมาแล้วหลายโต๊ะเจรจาตั้งแต่ยุคที่ไทยเดินหน้าขอเปิดตลาดสินค้าเป็นเรื่องหลัก แต่วันนี้ยุคที่การบริการ การลงทุน และนวัตกรรมลื่นไหล ไม่จำเป็นต้องผ่านการเปิดตลาดโดยภาครัฐ มาสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล ที่การเข้าถึงตลาดได้อย่างเสรี ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ท นำไปสู่ผลกระทบที่ชัดเจนใน ด้าน คือ 

1.การเชื่อมโยงตั้งแต่ความต้องการสินค้า(Demand) และภาคการผลิต (Supply) 

2.การค้าปลีกในโลกออนไลน์ รวมถึงการค้าระหว่างประเทศ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

3.โลกการค้าเกิดผู้เล่นมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้เล่น รายเล็ก และธุรกิจยุคใหม่ (Micro SMEs) จะเข้ามามีบทบาทเป็นในตลาดมากขึ้น 

4.เกิดการขยายตัวของกลุ่มภาคบริการมากขึ้น รูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เส้นแบบระหว่างสินค้าและบริการไม่ชัดเจน

5.ข้อมูลมากมายมหาศาล (Big Data) มีบทบาทมากมายต่อรูปแบบการทำธุรกิจ การสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า รวมถึงการทำตลาด 

6.เกิดการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ท ซื้อสินค้าไม่ตรงตามสินค้าและบริการที่ปรากฏ หรือการแฝงตัวในรูปแบบต่างๆ นี่คือประเด็นที่ต้องหามาตรการมาปกป้องผู้บริโภค

พิมพ์ชนก ยังระบุว่า ตัวชี้มูลค่าและคุณค่าธุรกิจในยุคต่อไปไม่ใช่ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ แต่เป็น ข้อมูลระหว่างประเทศ (Cross Border Data Transfer) เริ่มตั้งแต่ปัจจัยการผลิตในท้องถิ่น การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า และข้อมูลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างพรมแดน เช่น การบริหารจัดการคลังสินค้าแบบไร้กระดาษ (Paperless Trading) การจดทะเบียนออนไลน์ การจ่ายค่าธรรมเนียมพิธีการศุลกากร 

ทั้งหมดเกิดขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ท ที่จะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจในอนาคต !

สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกอินเตอร์เน็ท โดยประเทศที่พัฒนาแล้วต่างมีกฎระเบียบมากำกับดูแล ป้องกันการเคลื่อนย้ายข้อมูล (Data Flow Regulations) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางภูมิศาสตร์ภายในประเทศ กำหนดเส้นทางการส่งผ่านข้อมูลเฉพาะทาง ขณะที่ไทยยังถือกฎหมายฉบับเดิมที่ยังไม่ครอบคลุมการเกิดขึ้นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

ส่วนประเด็นที่มีอิทธิพลในยุคอนาคตอีกหนึ่งด้าน คือ “ภาคบริการ” (Services) ที่เริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทมากกว่าสินค้า จะเห็นได้จากการขยายตัวต่อเนื่องของมูลค่าการส่งออกบริการของไทยเพิ่มขึ้น 19,000ล้านดอลลาร์ในปี 2548 และขยับขึ้นมามีมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2553 มาอยู่ที่ 66,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 มูลค่าที่เกิดขึ้นเกือบเท่าตัวหรือขยายตัวเฉลี่ย 12% ระหว่างปี 2548-2559 ที่ถือว่าสูงกว่าภาคการผลิตสินค้า

โดย 2 ปรากฎการณ์ทั้งข้อมูลมหาศาล  (Big Data) และการขยายตัวของภาคบริการ จะเข้ามามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทย เช่น การเข้ามาของอาลีเพย์ (Alipay) โมบาย เพย์เมนท์ จากจีนที่รุกเข้ามาเปิดลงทะเบียนท่องเที่ยวชาวจีนในไทย ที่เข้ามาซื้อสินค้าและบริการ ปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

นี่คือ แต้มต่อสำคัญ” ของข้อมูลทำให้อาลีเพย์รู้ทันข้อมูลนักท่องเที่ยวจีนแบบปัจจุบันทันด่วน (Real Time) รู้ว่าอยู่ตรงไหน ใช้จ่ายเท่าไหร่ และสินค้าอะไร

นักท่องเที่ยวใช้อาลีเพย์เพราะมีโปรโมชั่น ซื้อของได้ถูก แต่อาลีเพย์ก็มีข้อมูลว่านักท่องเที่ยวซื้อสินค้าและทำอะไรที่ไหน โดยที่เงินไม่ได้อยู่ในไทย ทั้งค่าธรรมเนียมและอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ไปอยู่ในจีน ไทยได้ประโยชน์เล็กน้อย เราจึงต้องมีฐานข้อมูลของประเทศ เพื่อเก็บไว้สร้างมูลค่า ที่อาจจะไม่ต้องถึงระดับผู้บริโภค แต่ดูเรื่อง Supply และ Demand เพื่อบริหารจัดการข้อมูล”  ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูล

ประเด็นเหล่านี้ “พิมพ์ชนก” ระบุว่า ต้องยกขึ้นมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจา จากรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป การเจรจาจึงต้องคิดเชื่อมโยงกระแสโลก เชื่อมโยงความคิด นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เข้ามาเชื่อมโยงทิศทางยุทธศาสตร์อนาคตประเทศไทย จะมุ่งไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 

นอกจากนี้ การค้าในยุคหน้าภาครัฐจะมีบทบาทลดลงจากการเข้ามาของอินเตอร์เน็ท ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ รวมถึงการค้าขาย ดังนั้นผู้มีอิทธิพลกำหนดทิศทางไม่ใช่ภาครัฐอีกต่อไป แต่เป็นผู้ที่มีความคิด เป็นเจ้าของนวัตกรรม เจ้าของเทคโนโลยี เงินทุน ลูกค้าและผู้บริโภค 

เพราะโลกยุคใหม่นวัตกรรม คือตัวขับเคลื่อนสำคัญ !

นั่นจึงตามมาด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนระหว่างประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ที่มีแนวโน้มจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาก็จะใช้เวลานานในการสร้างสรรค์ คิดพัฒนาเทคโนโลยีกว่าจะได้นวัตกรรมใหม่

การให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารที่มีคุณค่า จะนำมาสู่โต๊ะเจรจาได้อย่างไร เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) จะกระทบต่อความต้องการสินค้า ภาคการผลิตสินค้าอย่างไร รวมไปถึงเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ซึ่งไทยมีจุดแข็งในภาคการเกษตรจะมาต่อยอดอย่างไร แต่เป็นความท้าทายเมื่อต้องเจรจา รวมถึงวิวัฒนาการโลกที่มีการคิดค้นนวัตกรรมปลูกข้าวในสภาพอากาศร้อนแล้ง อย่างแอฟริกา หรือการคิดค้นปาล์มน้ำมันผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้ปลูกปาล์มระดับโลกอย่างไรไทย ไทยจะมีประเด็นการต่อรองอย่างไร

เหล่านี้เป็นความท้าทายที่รัฐต้องงปรับ กระบวนทัศน์” ในการเจรจา !

--------------------

เทคนิคพลิกเกมเจรจา

1.ปรับวิธีคิดการเจราจา หมดยุคคิดปิดหรือเปิดประตูค้าแบบสุดโต่ง เถียงหัวชนฝา (Zero Sum Game) เพื่อหวังผลแค่“แพ้-ชนะ”มีคนผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เพราะการค้ายุคใหม่ ต้องมองคู่ค้าเป็นพันธมิตร เพื่อนคู่คิดที่เติบโตไปด้วยกัน เพราะมีสิ่งที่ต้องยอมรับในจุดอ่อนของไทยคือ ไทยเป็นเพียงประเทศผู้รับเทคโนโลยีมาลอด (Taker) ไม่ใช่ผู้ผลิต หรือเจ้าของความคิดเทคโนโลยี (Maker)

ดังนั้น หัวใจสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ คือ การเปิดรับ ไปสู่การสร้างความร่วมมือเพื่อเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี และปรับมาส่การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน และพาไปประเทศไทยไปสู่ ยุค 4.0 ที่ดึงให้กลุ่มประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านที่ไทยยังขาดแคลน เข้ามาลงทุนในด้านนี้

เรียกว่า การมองแบบเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Strategic Partnership)

“อย่างคิดเอาชนิดสินค้า ต้องมองความร่วมมือกับประเทศที่จะเจรจา เช่น อังกฤษ เยอรมัน มีความโดดเด่นอะไรและจะช่วยต่อยอดประเทศไทยได้อย่างไร”

2.มองทุกอย่างให้เชื่อมโยงกัน (Cluster) ในอดีตแยกขาดการเจรจาสินค้าออกจาก บริการและการลงทุน จึงขอเจรจาลดกำแพงภาษีก่อน ซึ่งในยุคปัจจุบันการค้าและบริการแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น กลุ่มธุรกิจสุขภาพ ให้การดูแลรักษาที่เป็นการบริการและก็จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ยารักษาโรคต่างๆ ดังนั้นการเจรจาจึงมองเป็นเป็นคลัสเตอร์ ตั้งแต่ สินค้า บริการ การลงทุน รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา ที่เป็นการคุ้มครองสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยี

ซึ่งที่ผ่านมาเมืองไทยยังคิดแยกส่วน แต่ละหน่วยงานดูแลเพียงแต่ละกลุ่มธุรกิจ เช่น ค้าปลีก ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์  การเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงต้องครอบคลุมการทำธุรกิจยุคหน้าที่มีการเชื่อมโยงธุรกิจมากขึ้น

“ตอนเริ่มเจรจาการค้าหลังปี 2542 ภาคบริการไทยเพิ่งผ่านพ้นต้มยำกุ้ง ฝรั่งรุมเข้ามาเปิดธนาคารต่อสู้เพื่อให้ได้เปิดสาขา และมีตู้เอทีเอ็ม ไทยเปิดให้ซิตี้แบงก์ 1 ตู้ แต่ปัจจุบันการเข้ามาขยายสาขาไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป เพราะมีระบบอินเตอร์เน็ทแบงก์กิ้ง”

วิวัฒนาการเหล่านี้สะท้อนถึงวิธีคิดใหม่ที่จะปรับวิธีคิด (Re-mindset)

3.การคำนึงถึงการลดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Inclusive Negotiation) เพราะความแตกต่าง การเข้าถึงเทคโนโลยี และการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีของประเทศพัฒนาแล้ว ก็สามารถคิดค้นต่อยอดเข้าถึงได้รวดเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่เพิ่งเริ่มต้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มยิ่งห่างออกไป จึงควรปรับกลยุทธ์วางท่าทีให้มองการเติบโตยั่งยืนไปพร้อมกัน

“การเจรจาควรช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยี และความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเพื่อทำงานอย่างบูรณาการ”

นี่คือ ความเปลี่ยนแปลงที่นักเจรจาไทยที่ต้องมองหาแต้มต่อ และหลักชัยใหม่ให้กับประเทศในเศรษฐกิจยุคใหม่ เปิดกว้างเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี ยิ่งต่อไปไทยกำลังเผชิญกับยุคสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) จึงต้องเปิดกว้างรับคนเก่งเข้ามาพัฒนาเรียนรู้ร่วมกัน แทนการมุ่งเพียงปกป้องและปิดตลาด

“นักเจรจาการค้ารุ่นใหม่ต้องเข้าใจเทคโนโลยี สร้างพันธมิตร ไม่ใช่เพียงแค่รู้เทรนด์เทคโนโลยี แต่จะต้องเรียนรู้ว่าประเทศอื่นมีอะไรสำคัญ ปรับวิธีคิด หาวาระสำคัญจากความเปลี่ยนแปลงการค้าต่างๆ ที่เชื่อมโยงยกระดับไทย รวมถึงการคำนึงถึงประเด็นทางสังคมที่ให้โอกาสการเข้าถึงของคนกลุ่มเล็ก ทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)  และประชาชนทั่วไป เพราะประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ สังคมขาดเสถียรภาพ เกิดการก่อการร้าย มีบ่อเกิดมาจากความไม่เท่าเทียมกัน”

-----------------------------

เอกชนแนะแพ็คเกจเจรจา

ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย มองการเจรจาให้รู้เท่าทันโลก และคู่เจรจาเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวางเงื่อนไขการเจรจในรูปแบบใหม่ เพราะความก้าวล้ำของเทคโนโลยี เข้ามาช่วยทำให้การผลิต การวิเคราะห์ การสื่อสาร และการพัฒนาก้าวไปอย่างรวดเร็ว การเจรจาที่ติดกับดักวิธีคิดและวังวนเดิมๆ ก็มีแต่ทางตัน

การเจรจายุคใหม่จะต้องมีวิธีคิด ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี มาเป็นเครื่องมือ มาเสริมเพื่อวางบทการเจรจาให้ได้ประโยชน์จากโต๊ะเจรจา โดยเฉพาะข้อมูลจำนวนมาก (Big Data) เป็นหัวใจสำคัญต่อการเจรจาที่จะใช้ประกอบการวิเคราะห์ไปข้างหน้า ถึงผลกระทบ ผลดีผลเสีย จากสิ่งที่ประเทศไทยยังเป็นจุดอ่อน

ที่สำคัญที่สุด คือ การไม่มองเพียงแค่การเจรจาลดกำแพงภาษีในสินค้าแต่ละตัว ที่ไม่ได้ประโยชน์ทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

“มีเทคโนโลยีและเครื่องมือหลายตัวมาเร่งให้เกิดธุรกิจเปลี่ยนเร็วขึ้น โลกเปลี่ยน ระบบเปลี่ยนไปหมด แต่เรายังต้องเข้าใจคู่เจรจา และเข้าใจผู้ประกอบการไทย เพื่อหาประโยชน์จากการเจรจา เดิมเรามองแค่ลดภาษีเปิดโควตา ซึ่งยุคนี้ต้องมองเชื่อมโยงสินค้ามาสู่ภาคบริการ เป็นแพ็คเกจ เปรียบเทียบศักยภาพไทยกับคู่แข่ง ส่วนไหนที่เราด้อยกว่าก็เปิดให้ร่วมมือลงทุน ส่วนไหนเป็นจุดแข็งก็เข้าไปรุกทำตลาด”

หมากที่วางก่อนการเจรจา จึงควรลิสต์รายการโครงสร้างสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำว่ามีธุรกิจเกี่ยวข้องด้านใดบ้าง เพื่อที่จะหยิบไปเจรจาทั้งห่วงโซ่

ยกตัวอย่างสินค้ารถยนต์ไฟฟ้า หากเราบอกว่าเอาเข้ามา เรามีศักยภาพในการผลิตหรือไม่ นอกจากผลิตอะไหล่รถยนต์ เช่น เครื่องชาร์จ แบตเตอรี่ ดูตัวเองว่าเก่งตรงไหน และต้องการส่วนไหนเข้ามาลงทุน หากไม่เก่งก็เจรจานำเข้า แต่หากเราเก่งก็นำไปแลก

ด้านกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า การเจรจาแต่ละยุคมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือการเจรจาบนพื้นฐานข้อมูล ซึ่งในยุคนี้นักเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ทำงานใกล้ชิดกับหอการค้าไทยมากขึ้น เพื่อเข้าใจบริบทธุรกิจ และความต้องการของภาคธุรกิจที่จะหยิบเอาไปใช้บนโต๊ะเจรจา บนพื้นฐานที่มาจากความต้องการของเอกชนที่เป็นผู้ทำธุรกิจโดยแท้จริง

การเจรจาการค้าเปลี่ยนไป ซึ่งกรมเจรจาการค้าฯก็เปลี่ยนบริบท เข้ามาถามความต้องการของเอกชนมากขึ้น เพื่อนำไปจัดปรับสู่โต๊ะเจรจา เพื่อให้เข้าใจรูปแบบการทำธุรกิจจริง ไม่ใช่แค่เพียงวิเคราะห์และดูจากข้อมูลอย่างที่ผ่านมา การคุยกับเอกชนมาขึ้นยังช่วยทำให้รัฐและเอกชนใกล้ชิดกันมากขึ้น ผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขัน" 

 

ขอบคุณที่มาข่าว : bangkokbiznews.com


จำนวนผู้อ่าน: 2225

25 มกราคม 2018