เล็ก ๆไม่ ใหญ่ ๆทำ ปั้นสตาร์ทอัพฉบับ ‘ปตท.’

มีความยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาคอาเซียน สำหรับ “D-NEXT” โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ หรือ Accelerator ภายใต้ความร่วมมือของ “กลุ่ม ปตท.” และ “ไรส์”

เพราะไม่เพียงแค่สตาร์ทอัพไทยเท่านั้น โครงการนี้เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และ อินโดนีเซียมีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันเพื่อให้ได้รับคัดเลือกเป็น 15 ทีมสุดท้ายที่เข้าร่วมบ่มเพาะภายในระยะเวลา 3 เดือน


“เรามองว่าบริษัทที่เป็น Flagship อย่างปตท. จะทำอะไรเล็ก ๆไม่ได้ ต้องทำให้ยิ่งใหญ่และเกิดผลดีต่อประเทศ จึงต้องจัดโครงการระดับภูมิภาคอาเซียน” “นายแพทย์ ศุภชัย ปาจริยานนท์” ผู้ก่อตั้ง RISE (ไรส์) สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ทอัพ กล่าว

 

 


เป็นที่ได้รู้กันแล้วว่า กลุ่มปตท.มีกลยุทธ์ชื่อว่า 3D ก็คือ 1. Do Now การมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน 2. Decide Now การขยายการเติบโตโดยขยายการลงทุนในธุรกิจหลักและ 3. Design Now การเร่งสร้างธุรกิจใหม่ให้สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ให้เป็นธุรกิจอนาคต (S-Curve)ของ ปตท. แน่นอนว่า “D-NEXT” อยู่ในกลยุทธ์ D ตัวสุดท้าย


"ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ยอมรับว่ากลุ่มปตท.เองคงไม่ต่างไปจากองค์กรอื่น หรืออุตสาหกรรมอื่นที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ยากขึ้น และมากขึ้น


"เราจำเป็นต้องไปหาธุรกิจใหม่ๆ มันจะไม่ใช่การไปดาวอังคาร ที่เรากำหนดไว้มีอยู่ 6 ธีม ซึ่งค่อนข้างกว้าง ว่าด้วยเรื่อง หนึ่ง Electric Value Chain สอง Smart สาม Biotechnology สี่ Circular Economy ห้า Automation, Robotics,Internet of Things และหก การตอบสนองนโยบายภาครัฐ"


เขาบอกว่าธุรกิจใหม่ ๆนั้นก็มีที่กลุ่มปตท.ทำขึ้นมาเอง แต่ในเรื่องของดิจิทัลปตท.ยังทำได้เพียงการเป็น “ผู้ซื้อ” เท่านั้น จึงจำเป็นต้องหาตัวช่วย อย่างไรก็ดี โครงการ D-NEXT เปิดกว้าง หมายถึงสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องมีโปรดักส์หรือโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับธีมที่ได้กล่าวไว้


“ถ้าเป็นอะไรที่สอดรับเราก็จะส่งเสริม แต่ถ้าไกลจากเรามากแต่มีประโยชน์ต่อประเทศ หรือคนอื่นสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เราก็ส่งเสริมเช่นกัน” ชาญศิลป์กล่าว


แต่มีข้อจำกัดตรงที่ “D-NEXT” ไม่ต้อนรับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ไฟแรง ที่มีแค่ไอเดียแต่ไม่มีของ การสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้จะต้องเป็นทีมสตาร์ทอัพที่มีของ หรือทำธุรกิจมาสักระยะและมีศักยภาพพอที่จะสเกลได้ หรือประสบความสำเร็จในประเทศตัวเองแล้วและต้องการจะขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เป็นต้น


"โครงการนี้เปิดตัวและเปิดรับสตาร์ทอัพแล้ว ที่วางแผนไว้ก็คือ เราจะเริ่มรับสมัครในเดือนนี้ จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์เราจะไปโรดโชว์เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่น่าสนใจใน 5 ประเทศก็คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และจบที่เวียดนาม เราจะทำการคัดเลือกและประกาศผลภายในเดือนมีนาคม สตาร์ทอัพที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องแพ็คกระเป๋าเข้ามาทำงาน่ที่โคเวิร์คกิ้งสเปซของทางไรส์ในเดือนพฤษภาคม เมื่อครบสามเดือนเราจะจัด Demo Day ให้สตาร์อัพมาโชว์เคส แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเขา" นายแพทย์ ศุภชัยกล่าว


พร้อมได้อธิบายต่อว่าการเข้า Boot Camp ของ 15 ทีมสตาร์ทอัพในครั้งนี้จะมีความพิเศษไม่เหมือนใคร เนื่องจากสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการมีความหลากหลาย มีทั้งคนไทยและต่างชาติ โปรแกรมจึงต้องจัดให้พวกเขาได้มาเรียนรู้วัฒนธรรมประเทศไทยด้วย ว่าทำธุรกิจในไทยควรต้องรู้อะไรบ้าง


"วิธีการให้ความรู้นั้น เราจะมีเหล่า Mentor และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆซึ่งเป็นผู้บริหารทั้งในกลุ่มปตท.ก็ดี และนอกกลุ่มที่เป็นเน็ทเวิร์คของไรส์ที่เราจะดึงเข้ามาให้คำแนะนำเพื่อให้ข้อมูลที่แน่นพอจะทำให้สตาร์ทอัพสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้"


ไม่เพียงแค่ความรู้เรื่องธุรกิจ สตาร์ทอัพยังจะได้รับโอกาสดี ๆและประโยชน์มากมายจากโครงการนี้ ไม่ว่าการสนับสนุนในเรื่องการตลาด และสื่อที่จะช่วยโปรโมทสร้างความรู้จัก


"ไรส์เองมีสื่อที่ช่วยสร้างความรู้จักทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ไม่เพียงแค่ไทยเท่านั้น และเรามีพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยสอนเทคนิคในการโปรโมทธุรกิจ เพราะเราเป็นพาร์ทเนอร์กับทั้งกูเกิลและเฟสบุ๊ค ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งจากสองบริษัทนี้มาช่วยให้คำแนะนำ ช่วยให้สตาร์ทอัพสเกลธุรกิจได้ไว"


ที่สำคัญที่สุด นายแพทย์ ศุภชัยมองว่าเป็นเรื่องของ “เน็ทเวิร์ค” เนื่องจากไรส์มีสตาร์ทอัพในเครือข่ายกว่าพันบริษัท ทำให้สตาร์ทอัพต่างชาติสามารถสร้างเน็ทเวิร์คในเมืองไทยได้ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ ว่าทีมนี้ทำเรื่องนี้ได้ ทีมนั้นทำเรื่องนั้นได้


โดยผลประโยชน์ทั้งหมดทั้งมวลหากคิดเป็นมูลค่าออกมาจะเป็นตัวเลข 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อหนึ่งทีม


ที่มากไปกว่านั้นก็คือ ประโยชน์ต่างๆเหล่านี้ กลุ่มปตท.ให้สตาร์ทอัพแบบฟรี ๆ โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย ไม่ได้ขอเข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัท


"ที่หวังก็คือโครงการนี้จะช่วยขับเคลื่อนไทยให้กลายเป็นประเทศดิจิทัลฮับของภูมิภาคอาเซียน เป็นฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง เราอยากเป็นตัวกลาง เป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาค ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ก็จะเข้าใกล้กับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะขับเคลื่อนนโนบายไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนี้มันยังตรงกับวิชั่นของทางไรส์เราเองด้วยที่อยากจะช่วยเพิ่มจีดีพี 1% ให้กับประเทศไทย"นายแพทย์ศุภชัยกล่าว


ด้าน“อรวดี โพธิสาโร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด บอกว่า กลุ่มปตท.พูดถึงเรื่องของอินโนเวชั่นมายาวนานพอสมควร แต่มันก็มีความเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย เพราะอินโนเวชั่นหรือนวัตกรรมในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็ว เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วมาก ทำให้ในวันนี้มีการพูดถึงเรื่องของนวัตกรรมว่า เป็นความคิดใหม่ ๆที่ต้องสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน และเติบโตได้แบบก้าวกระโดด


"นวัตกรรมจะสร้างขึ้นเองในองค์กรก็ได้ เราก็มีแล็บที่ทำกันเอง ก็สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้างเป็นเรื่องปกติ อีกส่วนหนึ่งก็คือ ถ้าอยากได้เร็วก็ไปลงทุนเลย ใครทำเทคโนโลยีดีถ้าชอบก็ไปลงทุน เขาสำเร็จเราก็ได้ประโยชน์ด้วย แต่มีอีกเรื่องที่น่าสนใจ ก็คือ Accelerator ถามว่ามันดีอย่างไร คือถ้าเราไปลงทุน เราก็ได้แต่เงินกลับมาแต่ไม่ได้ความรู้ ขณะที่การทำโครงการบ่มเพาะจะทำให้เรากับสตาร์ทอัพได้มาเรียนรู้ร่วมกัน"


เธอมองว่าแม้สตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลที่มีอยู่ในประเทศไทยในเวลานี้อาจมีจำนวนมาก แต่การมีสตาร์ทอัพในอาเซียนเข้ามาร่วมก็น่าจะเป็นอะไรที่ดีกว่า เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีสตาร์ทอัพที่เก่ง มีความสามารถที่จะทำอะไรเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องธุรกิจของเขาเองได้ แน่นอนว่าจะช่วยตอบโจทย์ที่ทำให้ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเติบโตได้ด้วยเช่นกัน


“อาจฝันที่ไกลแต่มองว่าเป็นไปได้” อรวดีบอกอย่างนั้น


"เพราะสตาร์ทอัพ 15 ทีมจะเป็นสตาร์ทอัพที่เก่ง ไม่ธรรมดา เพราะเราจะคัดจากพัน ๆทีมเหลือเพียง 15 เท่านั้น เราจะคัดเลือกคนไม่ธรรมดาเข้ามา เราคิดว่าโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพได้เติบโต ควบคู่ไปพร้อม ๆกับการเติบโตของกลุ่มปตท.ด้วย เป็นสิ่งที่เรามองระยะยาว"

 

ขอบคุณที่มาข่าว: bangkokbiznews.com


จำนวนผู้อ่าน: 1707

25 มกราคม 2018