ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับประมาณการจีดีพีปี 65 ขยายตัว 3.8% จาก 3.2% และปีนี้อยู่ที่ 1.1% จาก 0.4% เปิด 3 ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจปีเสือทะยาน “การส่งออก-ท่องเที่ยว-กำลังซื้อระดับกลางและบน” แนะมาตรการรัฐเร่งกระตุ้นกำลังซื้อให้ตรงจุด-เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2565 ขยายตัวอยู่ที่ 3.8% จากเดิม 3.2%
และในปีนี้ปรับจากเดิม 0.4% มาอยู่ที่ 1.1% รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามที่ดีกว่าคาด จากปัญหาอุปทานชะงักงันในโรงงานที่ไม่รุนแรงและกำลังคลี่คลาย และการควบคุมการระบาดโควิดในประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังการเปิดเมืองและเปิดรับการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัย คือ 1.การส่งออก ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.7% จากการฟื้นตัวต่อเนื่องในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเคมี และกลุ่มอาหารแปรรูป ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ
2.การท่องเที่ยว ซึ่งประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 5.1 ล้านคน เฉลี่ยจะเข้ามาไตรมาสละ 1-1.5 ล้านคน โดยคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวเช่นกัน เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และกลุ่มยุโรปอื่นๆ กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มอาเซียน ยกเว้น จีน ที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย โดยก่อนโควิดในปี 2562 มีสัดส่วนสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดจะยังไม่กลับเข้ามาไทยมากนัก โดยคาดว่าจะมีคนจีนเพียง 9% ของจำนวนนักท่องเที่ยว
และ 3.กำลังซื้อระดับกลาง-บน ที่เริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายหลังเปิดเมือง การที่ไทยไม่มีปัญหาการว่างงานสูง แต่คนระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะขาดความเชื่อมั่นในความมั่นคงของงาน ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มคึกคัก คนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอย และนำเงินออมออกมาใช้มากขึ้น กลุ่มที่จะฟื้นตัวได้เร็วได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร โรงแรมและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในประเทศ
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจาก 3 ปัจจัยข้างต้น อีกปัจจัยที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง คือมาตรการภาครัฐซึ่งในระยะต่อไปนั้น ควรเน้นมาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะจุดมากขึ้น อาทิ ในกลุ่มผู้ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมถึงมีมาตรการที่ช่วยกระตุ้นให้คนระดับกลางและบนเร่งการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้ออยู่สูง เพื่อก่อให้รายได้หมุนเวียนมาช่วยกลุ่มล่าง ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการฟื้นฟูโดยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยการลงทุนที่จะช่วยผลักด้นให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
“เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพ เพียงแต่รอปัจจัยที่เอื้ออำนวยและมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการเติบโตระยะยาวอย่างเต็มที่ เราจึงเปรียบเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าเสมือนเสือโคร่งที่ซุ่มหมอบรอจังหวะพุ่งกระโจน ไม่ใช่เสือป่วยนอนหลับนิ่งอย่างที่ใครคิดกัน แต่ขณะเดียวกันต้องระวังให้ดี เพราะมีเสือร้ายอีกตัวคอยดักซุ่มขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 65”
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสะดุดจาก 3 ปัจจัย คือ 1.การระบาดของโควิดรอบใหม่ ทั้งในไทยและประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่จะกระทบกำลังซื้อของคนในประเทศ การส่งออกและการท่องเที่ยว แม้ไทยและอีกหลายประเทศจะไม่ล็อกดาวน์ แต่จะกระทบความเชื่อมั่น การบริโภค และกระทบห่วงโซ่อุปทานให้ภาคการผลิตหยุดชะงักได้
2.สงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงดำเนินต่อไปในปี 2565 ถ้าปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น บรรยากาศการค้าโลกรวมทั้งความต้องการสินค้าจากไทยไปจีนและอาเซียนจะได้รับผลกระทบดังเช่นในอดีต แม้ไทยจะยังสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้ดี แต่ก็ไม่น่าจะชดเชยการส่งออกที่ลดลงในภูมิภาคได้ รวมถึงสหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งมีความเห็นตรงกันในเรื่องการกดดันจีน เนื่องจากในอีกระยะ 10 ปีข้างหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขึ้นมาเป็นอันดับ 1
และ 3.ปัญหาเงินเฟ้อ หรือค่าครองชีพของคนไทยที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน อาหารสด และต้นทุนภาคการผลิตอื่นๆ แม้เงินเฟ้อปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.9% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากเกิดปัญหาอุปทานชะงักงันในภาคการผลิตในจีน หรือราคาวัตถุดิบอื่นๆ พุ่งขึ้นเร็ว อัตราเงินเฟ้อของไทยอาจเร่งขึ้นได้อีก ซึ่งราคาสินค้าที่สูงจะกระทบกำลังซื้อของคนรายได้น้อยมากกว่าคนรายได้สูง เพราะคนรายได้น้อยมีสัดส่วนการบริโภคต่อรายได้สูง
“ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น แม้จะแผ่วไปแต่ก็ยังไม่จบ โดยเฉพาะในปีหน้าที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพรรคเดโมแครต หรือรีพับลีกันได้รับชนะ แต่ก็จะมีความเห็นตรงกันในการสกัดการขึ้นเป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลกของจีน ดังนั้น การสงครามการค้าก็จะยังดำเนินอยู่ ขณะเดียวกันหากมีความรุนแรงขึ้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ แต่จะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปอาเซียน”
ดร.อมรเทพ กล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปีตลอดทั้งปีหน้า และน่าจะใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าหรือส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนที่ขาดรายได้ เพิ่มความยืดหยุ่นในการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะทำให้กนง.เริ่มส่งสัญญาณปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น จะมีอยู่ 3 ปัจจัย คือ ระดับขนาดเศรษฐกิจไทยยืนได้เหนือปี 2562 อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น แต่มองว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% และมีการกระจายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2566 ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคากลางสหรัฐฯ ในปีหน้านั้น มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เนื่องจากมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน
ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2565 มองเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าเทียบดอลลาร์ จากปัจจัยด้านทุนเคลื่อนย้าย โดยเรามองว่าปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐยังมีต่อเนื่องถึงช่วงกลางปีหน้า มีผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือ สิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงกลางปีก่อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีหน้า อย่างไรก็ดี เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ อาจดึงเงินให้ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย น่าจะมีผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกมาเกินดุลในช่วงครึ่งปีหลังจากที่ขาดดุลสูงในปีนี้ โดยคาดการณ์เงินบาทปลายปี 2564 ไว้ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ และปลายปี 2565 ไว้ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์
“เงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้ามีแนวโน้มอ่อนค่าจนอาจไปแตะ 34 บาทในช่วงกลางปี เนื่องจากไทยยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ เพราะเราคาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามามากในช่วงไตรมาส 4 รวมถึงการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ การลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ก็จะเริ่มทำ แต่พอครึ่งปีหลังเชื่อว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเริ่มกลับมาเป็นบวก การปรับนโยบายการเงิน การส่งสัญญาณของเฟดมีความชัดเจนแล้ว ก็น่าจะเริ่มที่จะมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่อีก ก็จะทำให้เงินบาทเริ่มกล้บมาแข็งค่าแต่ก็ยังนับว่าอ่อนค่ากว่าปีนี้ ซึ่งจริงๆแล้วเงินบาทที่อ่อนค่ามาระดับหนึ่งก็ส่งผลดีต่อการส่งออก ราคสินค้าเกษตร และการท่องเที่ยวของเราด้วยเช่นกัน”
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-809292
จำนวนผู้อ่าน: 1776
26 พฤศจิกายน 2021