ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564
ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/11) ที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/11) ที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคคงได้รับแรงหนุนจากที่ว่า หากนายเจอโรม พาวเวลล์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีกสมัย จะทำให้มีความต่อเนื่องทางด้านนโยบายการเงิน และมีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งเร็วกว่าที่คตลาดคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้การประชุมเฟดครั้งถัดไปคือระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐอาจเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมา 3/2564 ของสหรัฐได้ขยายตัว 2.1% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งแรกที่ระดับ 2.0% ส่วนตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 71,000 ราย สู่ระดับ 199,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2512
สำหรับดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.0% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2533 ทั้งนี้ตลาดเงินและตลาดหุ้นสหรัฐจะปิดทำการในวันนี้ (25/11) เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) และตลาดหุ้นจะเปิดทำการซื้อขายเพียงครึ่งวันในวันพรุ่งนี้ (26/11) ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.23-33.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.33/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (25/11) ที่ระดับ 1.1210/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/11) ที่ระดับ 1.1234/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรถูกแรงกดดันจากความเชื่อมั่นนักลงทุนหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศในยุโรปเริ่มกลับมาระบาดหนักอีกครั้งจนส่งผลให้มีมาตรการล็อกดาวน์ในบางประเทศ
นอกจากนี้ Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน สู่ระดับ 96.5 ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 97.7 ในเดือนตุลาคม และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 96.6 โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากภาวะคอขวดการผลิตและการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน
รวมทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจของเยอรมนีมีความเชื่อมั่นลดลงต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1205-1.1225 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1221/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/11) ที่ระดับ 115.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/11) ที่ระดับ 114.94/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่ามากสุดในรอบ 5 ปี ได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นมากของค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงนี้ ขณะที่นักลงทุนชั่งน้ำหนักระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ
โดยมองว่าระหว่างวันหยุดทำการของตลาดเงินสหรัฐอาจทำให้ค่าเงินเยนยังเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.30-115.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.31/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น ประจำเดือนพฤศจิกายน (26/11), ยอดค้าปลีกของออสเตรเลียประจำเดือนตุลาคม (26/11)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 1.1/1.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.9/2.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-809490
จำนวนผู้อ่าน: 1740
26 พฤศจิกายน 2021