ธุรกิจโรงแรม ม.ค. 65 ยังทรุด เกือบครึ่งรายได้ต่ำ 30%

สมาคมโรงแรมไทยเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเดือนมกราฯปี’65 ชี้โรงแรมเกือบครึ่งมีรายได้ยังไม่ถึง 30% โอมิครอนยังทุบอัตราเข้าพักหดตัว-แห่ยกเลิกห้องพัก ส่วนใหญ่เหลือสภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือน วอนรัฐช่วยออกค่าจ้างพนักงาน พักหนี้ทั้งต้นและดอก

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักโรงแรม ซึ่งจัดทำร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำเดือนมกราคม 2565 จากผลสำรวจผู้ประกอบการที่พักแรมจำนวน 200 แห่ง (เป็น ASQ 18 แห่ง, Hospitel 7 แห่ง) ระหว่างวันที่ 10-26 มกราคม 2565

โดยผลสำรวจจากโรงแรมจำนวน 175 แห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่เป็น AQ และ Hospitel) ในเดือนมกราคม 2565 พบว่า มีโรงแรมจำนวน 73% จากผู้ตอบแบบสำรวจเปิดกิจการปกติ ใกล้เคียงเดือนธันวาคม 2564 ที่ 74% ซึ่งเป็นผลจากการเปิดประเทศ และรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ แม้มีการยกเลิก Test & Go รายใหม่ชั่วคราวในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564

ทั้งนี้ โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วนราว 3% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ปิดมามากกว่า 6 เดือน และคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป

โรงแรมเกือบครึ่ง รายได้ยังไม่ถึง 30%

ในส่วนของรายได้ ผลสำรวจเปิดเผยว่า รายได้ของธุรกิจโรงแรมในเดือนมกราคม 2565 ยังอยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงเดือนธันวาคม 2564 โดยโรงแรมราว 49% ยังมีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% เมื่อเทียบกับก่อนการระบาด และมีโรงแรมเพียง 26% ที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก

อัตราการเข้าพัก : โอมิครอนทำยอดเข้าพักโรงแรมหดตัว

ผลสำรวจพบว่า ในเดือนมกราคม 2565 มียอดอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 32% ลดลงจากเดือน ธ.ค. 64 ที่ 37% โดยเป็นการปรับลดลงของโรงแรมในเกือบทุกภูมิภาค จากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron ในวงกว้าง และการยกเลิกมาตรการ Test & Go รายใหม่ชั่วคราว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้ที่ยังได้รับอานิสงส์จากการรับนักท่องเที่ยว Sandbox ส่งผลให้อัตราการเข้าพักยังสูงกว่าภาคอื่น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการเข้าพักในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะชะลอลงจากเดือนมกราคมมาอยู่ที่ 24% กลับมาใกล้เคียงกับเดือนตุลาคม 2564 หรือช่วงก่อนเปิดประเทศ

นอกจากนี้ อัตราการเข้าพักของโรงแรมที่เป็น AQ ซึ่งตอบแบบสำรวจจำนวน 18 แห่ง (ภาคกลาง 15 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง) มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนธันวาคม 2564 มาอยู่ที่ 33% ในเดือนมกราคม 2565 ขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 25%

ส่วนโรงแรมที่เป็น Hospitel ซึ่งตอบแบบสำรวจจำนวน 7 แห่ง (ภาคกลาง 3 แห่ง ภาคใต้ 3 แห่ง และภาคตะวันออก 1 แห่ง) มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2564 มาอยู่ที่ 38% ในเดือนมกราคม 2565 สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron ในประเทศหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ ขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าลดลงมาอยู่ที่ 22%

ส่วนใหญ่เหลือสภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือน

ในเดือนมกราคม 2565 โรงแรมส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 และมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจ โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือนอยู่ที่ 11% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ลดลง ขณะที่มีโรงแรมที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียง 17% โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยราว 40-55%

การจ้างงาน

ผลสำรวจเปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2565 โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 63.6% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิด COVID-19 (หากไม่รวมกลุ่มที่ปิดกิจการชั่วคราวการจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 64.7%) โดยมีการจ้างงานลดลงในเกือบทุกภาค สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่ลดลง ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้

สัดส่วนยกเลิกการจองห้องพัก

จากการสำรวจพบว่า สัดส่วนยกเลิกการจองห้องพัก จากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron ส่งผลให้เห็นลูกค้ายกเลิกการจองห้องพักในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกการจองน้อยกว่า 25% ของยอดจองทั้งหมด ยกเว้นโรงแรมในภาคตะวันออกที่เกือบครึ่งมีลูกค้ายกเลิกการจองมากกว่า 50% ของยอดจองทั้งหมด

 

มาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐ

1. โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม (Co-payment) และให้พักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย

2. มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น การเพิ่มจำนวนห้อง และระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สนับสนุนการจัดประชุมสำหรับองค์กร และด้านการตลาดหลังโควิด

3. รีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นเป็นระยะยาวแบบปลอดเงินต้น

4. สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข เช่น ค่า ATK

และ 5. สร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากการเปิดประเทศ ควรมีความชัดเจนของมาตรการรัฐและการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าสู่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ก่อนปฏิบัติจริงทั้งระบบที่รองรับการยื่นคำขอเข้าประเทศ และการจองคิวตรวจ RT-PCR

 

นอกจากนี้ สมาคมโรงแรมไทย (THA) ขอให้รัฐบาลพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกิจโรงแรมเป็นการเฉพาะ โดยขอผ่อนปรนและยืดเวลาการจัดเก็บออกไปอย่างน้อย 2 ปี เพื่อประเมินสถานการณ์ของไวรัสโควิดและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจ เกิดการจ้างงานและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/tourism/news-857603


จำนวนผู้อ่าน: 1158

04 กุมภาพันธ์ 2022