การเมืองในโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่พยายามวางตัว ‘ไม่เป็นการเมือง’

ผู้เขียน : อาฮุย แผ่นดินใหญ่

โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง เริ่มเปิดฉากในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2022 มหกรรมกีฬาระดับโลกครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องท้าทายสำหรับการบริหารจัดการในยุคโรคระบาด

และอีกมิติที่ขาดไม่ได้คือ แง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งดูเหมือนว่าจีนและมหาอำนาจจากขั้วตะวันตกยังคงใช้เวทีกีฬาเป็นช่องทางแสดงออกถึงท่าทีต่าง ๆ หรือหากใช้คำแบบตรงไปตรงมากว่านั้น คือ แสดงพลังตามตำแหน่งแห่งหนของตัวเอง

แฟนกีฬาหลายท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “กีฬาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” และมักนำมาสู่ระเบียบเชิงนโยบายในการแข่งขันต่าง ๆ เพื่อควบคุมดูแลความประพฤติผู้เกี่ยวข้องให้ปราศจาก “วาระแฝง” ซึ่งหนึ่งในวาระแฝงที่เกิดขึ้นก็มักมีเรื่องทางการเมืองอยู่เสมอ

แนวทางนี้มักเกิดข้อถกเถียงขึ้นบ่อยครั้งว่า แท้จริงแล้วทัวร์นาเมนต์กีฬาระดับชาติภูมิภาค หรือระดับโลก มักถูกมหาอำนาจหรือกลุ่มองค์กรที่มีวาระใช้เป็นช่องทางแสดงออกบางประการ ไม่ใช่แค่เรื่องทางการเมือเท่านั้น

เมื่อมาถึงโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ฝั่งที่มีมุมมองเรื่องกีฬาเป็นการเมืองก็หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่า บรรยากาศที่เกิดขึ้นท่ามกลางโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ค้านกับคติเดิมของฝ่ายจัดหรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากลที่ว่า “กีฬาไม่ใช่เรื่องการเมือง”

ตัวอย่างที่ชัดเจนประการแรก คือ ประเทศมหาอำนาจจากตะวันตกทั้งสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ไปจนถึงฝั่งเอเชียอย่างญี่ปุ่น (ไม่ได้ใช้คำบอยคอตโดยตรง) และไต้หวันที่มีประเด็นกับจีนกันอยู่ต่างแสดงจุดยืนว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมพิธีการต่าง ๆ ในมหกรรมครั้งนี้ โดยจะส่งนักกีฬาร่วมแข่งกันตามปกติ

เหตุผลของเหล่าประเทศที่ “บอยคอต” ด้วยการไม่ส่งตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่ไปโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้มีหลากหลาย ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยจีนถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียง มีนโยบายจำกัดสิทธิเสรีภาพในฮ่องกงผ่านการออกกฎหมาย

ไปจนถึงเรื่องข่าวนักเทนนิสสาวจีนอย่างเผิง ส่วย ที่ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนว่าปฏิบัติไม่เหมาะสมต่อเธอในเชิงทางเพศ หรือแม้แต่ยกเรื่องมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดจนการเดินทางมีข้อติดขัดก็ถูกยกมาเป็นสาเหตุ

อย่างไรก็ตาม ชาติมหาอำนาจตะวันตกหลายประเทศ และอีกหลายภูมิภาคมีท่าทีแตกต่างออกไป ตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศส และรัสเซีย มีท่าทีอยู่ฝั่งตรงข้ามบอยคอตโอลิมปิกฤดูหนาว 2022

ในมุมมองของบางกลุ่ม (โดยเฉพาะฟากตะวันตก) สถานการณ์ข้างต้นนี้ชี้ชัดว่าการแข่งกีฬาล้วนเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการเมืองไม่มากก็น้อย แม้ว่าโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนจะโต้ตอบว่า “โอลิมปิกไม่ใช่เวทีสำหรับแสดงท่าทีและพลังทางการเมือง” แต่ในอดีตเคยมีกรณีบอยคอตโอลิมปิกจากเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากมายหลายกรณี

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โรคระบาดในจีนที่เคยควบคุมได้ก็กลับมาอยู่ในระดับน่ากังวลในบางพื้นที่ ก่อนหน้ากำหนดเริ่มแข่งเพียงสัปดาห์เดียวมีรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนบ้างแล้ว

ถึงจะมีจำนวนแค่หลักหน่วย แต่มีความกังวลว่าในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์อันเป็นช่วงตรุษจีนซึ่งประชาชนจะเดินทางไปมาในประเทศอาจส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อในจีน

ทางการจีนใช้มาตรการควบคุมการระบาดแบบวางเป้าจำนวนผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ ขณะที่ช่วงจัดมหกรรมก็อยู่ในแนวทางพยายามป้องกันกรุงปักกิ่งเช่น รถไฟจากเทียนจินถูกห้ามเดินทางเข้าในปักกิ่ง

ขณะที่เจ้าหน้าที่เองก็ถูกกดดันโดยเฉพาะช่วงหัวโค้งก่อนหน้าการแข่งไม่กี่สัปดาห์ รายงานข่าวจากสื่อตะวันตกระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจำนวนหนึ่งถูกลงโทษเพราะปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า สำหรับคนทั่วไปที่ปกปิดข้อมูลหรือฝ่าฝืนมาตรการก็มีโทษหนักด้วย

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่นำมาสู่มาตรการจากมหาอำนาจตะวันตกน้ำหนักส่วนหนึ่งมุ่งไปอยู่ที่เรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งกรณีนี้จีนปฏิเสธมาตลอด และพยายามเตือนสหรัฐให้เลี่ยงการแทรกแซงเรื่องฮ่องกงด้วย

 

จนถึงเวลานี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเอ่ยถึงนโยบายของสหรัฐว่า “สร้างความเสื่อมเสียให้สปิริตของโอลิมปิก” และจะต้องรับกับผลลัพธ์ที่จะตามมา

จีนอาจยังไม่ได้เผยไต๋อย่างชัดเจนว่า “ผลลัพธ์” จากการตัดสินใจของสหรัฐจะเป็นอะไร หากมองในภาพรวมแล้วบรรยากาศเหล่านี้ย่อมเป็นกระจกสะท้อนข้อเท็จจริงด้านหนึ่งเกี่ยวกับโอลิมปิกว่า ท่ามกลางการแข่งกีฬาระดับโลก ฉากหลังอีกมิติหนึ่งนั้นโอลิมปิกเป็นเวทีที่ประเทศหรือองค์กรในโลกใช้เคลื่อนไหวหรือแสดงออกบางอย่างทั้งแบบซึ่งหน้าและในเชิงสัญลักษณ์

หากกล่าวแบบมองทั้งสองด้านในแง่สิทธิมนุษยชน ทั้งฝั่งสหรัฐและจีนล้วนต่างโดนวิจารณ์หลากหลายกรณี สหรัฐโดนวิจารณ์เรื่องการจัดการปัญหาคนไร้บ้าน มาตรการดูแลผู้อพยพย้ายถิ่นจากเพื่อนบ้านตามชายแดนไปจนถึงการหนุนหลังอิสราเอลซึ่งโดนวิจารณ์เรื่องการปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์เช่นกัน

โดยรวมแล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในโอลิมปิกตั้งแต่มหาอำนาจฟากตะวันตกจนถึงตะวันออก และตัวองค์กรโอลิมปิก (ในนามไอโอซีหรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล) ล้วนโดนวิจารณ์เรื่องความเป็นการเมืองและการพยายามวางตัวให้

ไม่เป็นการเมือง” เสมอมา โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 คือตัวอย่างซึ่งแสดงให้เห็นความพยายามวางว่า “ไม่เป็นการเมือง” ในโลกกีฬาก็เป็นมายาคติที่ปรากฏมายาวนาน มหกรรมกีฬาเป็นอีกหนึ่งเวที

 

เป็นช่องทางป่าวประกาศหรือแสดงมาตรการต่าง ๆ ของแต่ละฝ่ายกันไป โดยศูนย์กลางของวงจรนี้กลับเป็นนักกีฬาที่ไม่มีอำนาจเลือก ไม่สามารถตัดสินใจใด ๆ นอกเหนือจากว่าจะลงแข่งหรือไม่แข่ง และจะวางตัวอย่างไรท่ามกลางบรรยากาศเหล่านี้

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/d-life/news-855330


จำนวนผู้อ่าน: 1462

04 กุมภาพันธ์ 2022