เชียงใหม่ ศูนย์กลางการลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตทางอากาศยาน

จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์กลางการลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตทางอากาศยานของเขตบริการสุขภาพที่ 1

กระทรวงสาธารณสุข ให้จังหวัดเชียงใหม่พัฒนางานบริการการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ ด้วยความร่วมมือขององค์กรปกครองท้องถิ่น  ช่วยผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินเฉลี่ย 3,500 รายต่อเดือน และเป็นศูนย์บริการลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตทางอากาศยานเขตบริการสุขภาพที่ 1

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อดูแลประชาชนทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ชนบทห่างไกล   จาการตรวจเยี่ยมติดตามงานตามนโยบายของเขตสุขภาพที่ 1 พบว่า งานบริการการแพทย์ฉุกเฉินมีความก้าวหน้ามาก เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความร่วมมือขององค์กรปกครองท้องถิ่น  สามารถเพิ่มความครอบคลุมการดำเนินงานได้มากถึงร้อยละ 82 ของพื้นที่  มีหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพทุกระดับ 215 หน่วย  ดูแลประชาชนใน 25 อำเภอ 211 ตำบล  โดยในปี 2560 ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินเกือบ 40,000 ราย  และได้รับการช่วยเหลือภายใน 8 นาที ถึงร้อยละ 75 

   ทั้งนี้ เนื่องจากในหลายพื้นที่ของเขตสุขภาพที่ 1 เป็นพื้นที่ภูเขา การเดินทางยากลำบากใช้เวลาเดินทางนาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงได้  จึงได้พัฒนาระบบลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตทางอากาศยาน  ซึ่งโรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในพื้นที่   ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์บริการลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตทางอากาศยานเขตบริการสุขภาพที่ 1 (Northern Sky Doctor) ดูแลประชาชน ใน 8 จังหวัดภาคเหนือได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตั้งแต่ปี 2553-2560 ช่วยผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินจำนวน 268 ราย  โดยเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด 52 ราย รองลงมาผู้บาดเจ็บทางสมอง 32 ราย และโรคหลอดเลือดสมอง 20 ราย   เป็นความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่ที่ช่วยกันพัฒนางานช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินให้รอดชีวิตและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : bangkokbiznews.com

 

 

 

 

 


จำนวนผู้อ่าน: 1900

20 กุมภาพันธ์ 2018