ปั๊มน้ำมันล้นประเทศ แห่เปิดแล้วกว่า 27,338 แห่ง ผู้ค้ารายใหญ่แข่งเดือดถนนสายรองเปิดศึกแย่งดีลเลอร์อุตลุด พีทีลั่นขอแซง ปตท. ไล่หลังแค่ 79 แห่ง ล่าสุด ปตท.แก้เกมยอมเพิ่ม “ค่าการตลาด” ให้ปั๊มอีก 15 สตางค์/ลิตร หวังตรึงให้อยู่กับ ปตท.ต่อไป
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศในขณะนี้ถือว่าอยู่ในภาวะ “ล้นตลาด” จากข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 1/2561 ปรากฏมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศสูงถึง 27,338 แห่ง แบ่งเป็น 1) ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ที่ต้องการให้มีเครือข่ายสถานีบริการที่ครอบคลุมความต้องการใช้น้ำมันในทุกพื้นที่ กับ 2) ผู้ประกอบการรายเล็กในรูปแบบตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ซึ่งได้พัฒนาตัวเองมาเป็นสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็ก ในระดับหมู่บ้านและบนถนนสายรองในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น
โดยภาคที่มีสถานีบริการน้ำมันมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ 8,984 แห่ง รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,874 แห่ง,ภาคกลาง 5,947 แห่ง, ภาคใต้ที่ 2,646 แห่ง และกรุงเทพฯและปริมณฑล 887 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเป็น “ตลาดเสรี” ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปควบคุมการขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมันได้ ดังนั้นยิ่งมีการขยายสถานีบริการมากขึ้นเท่าไหร่ การแข่งขันในตลาดก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย และสุดท้ายจำนวนสถานีบริการก็จะปรับลดลงมาอยู่ในจุดสมดุลในที่สุด “ผมเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ถึงพัฒนาการปั๊มน้ำมันจากขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ อย่างน้ำมันใส่ขวด 100 ขวด จะเท่ากับปั๊มน้ำมันมือหมุน 1 แห่ง ปั๊มน้ำมันมือหมุน 3 แห่ง เท่ากับปั๊มหยอดเหรียญ 1 แห่ง ปั๊มหยอดเหรียญ 10 แห่ง เท่ากับปั๊มธรรมดา 1 แห่ง ธุรกิจนี้มันเป็นแบบนี้” นายวิฑูรย์กล่าว
ปตท.เพิ่มค่าการตลาด
มีรายงานข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งครองอันดับหนึ่งของจำนวนสถานีบริการน้ำมันเข้ามาว่า ปัจจุบันธุรกิจนี้มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น และเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด (market share) กับรักษาผู้แทนจำหน่ายน้ำมัน (ดีลเลอร์) ของ ปตท.เอาไว้ ทางบริษัทจึงได้ตัดสินใจดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ 1) ให้ตัวแทนจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้แบรนด์ ปตท.รวม 348 แห่งทั่วประเทศ สามารถเปลี่ยนมาเป็นสถานีบริการน้ำมันในรูปแบบ “PTT Compact Model” หรือสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็ก ที่ใช้เงินลงทุนเพียง 10-25 ล้านบาทได้ กับ 2) ปรับเพิ่มค่าการตลาด (marketing margin) ให้กับผู้แทนจำหน่ายอีก 15 สตางค์/ลิตร จากปัจจุบันที่ 90 สตางค์/ลิตร
“ช่วงที่ผ่านมา ปตท.พบว่า มีผู้ค้าน้ำมันรายอื่นเข้ามาเจรจาเพื่อขอซื้อหรือเช่าที่ดินต่อจากดีลเลอร์ที่ทำปั๊มน้ำมันของ ปตท. ดังนั้นเพื่อรักษาดีลเลอร์ให้อยู่กับเรา จึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าการตลาดน้ำมันให้กับดีลเลอร์มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้” แหล่งข่าวใน ปตท.กล่าว
อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตว่า การขึ้นค่าการตลาดให้กับดีลเลอร์ ปตท.เพียง 15 สตางค์ยัง “น้อยกว่า” ที่กลุ่มดีลเลอร์ขอมาคือ 40 สตางค์/ลิตร ในประเด็นนี้ ผู้บริหาร ปตท.อาจจะมองว่า การขึ้นให้อีก 15 สตางค์ น่าจะใกล้เคียงหรือเท่ากับบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายอื่น ๆ ในขณะที่ผู้ทำปั๊ม ปตท.ยังมีรายได้จากธุรกิจเสริม อาทิ ร้านค้าสะดวกซื้ออย่างร้านเซเว่นอีเลฟเว่น-กาแฟคาเฟ่อเมซอนอยู่แล้ว ประกอบกับการขึ้นค่าการตลาดก็ต้องการดึงดีลเลอร์ ปตท.ในถนนสายรองที่ทวีการแข่งขันสูงให้อยู่กับ ปตท.ต่อไป
ปั๊มพีทีกำลังแซง ปตท.
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจำนวนสถานีบริการน้ำมันล่าสุด (ไตรมาส 4 ของปี’60) ตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงานระบุว่า ปตท.มีจำนวนสถานีบริการน้ำมันมากที่สุด คือ 1,775 แห่ง ขณะที่บริษัท พีทีจี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เจ้าของสถานีบริการน้ำมันพีที เพิ่มจำนวนเป็น 1,696 แห่ง หรือห่างจาก ปตท.แค่ 79 แห่งเท่านั้น โดยบริษัทพีทีจีเคยประกาศว่า จะแซง ปตท.ให้ได้ภายในเร็ว ๆ นี้ ตามแผนการลงทุนของพีทีจีฯต้องการขยายสถานีบริการน้ำมันให้ครบ 4,000 แห่งภายในปี 2565
ด้าน นายวรรณะ พรหมทวี ผู้บริหาร บริษัท เงินงาม จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน กล่าวว่า เฉพาะในช่วง 4 เดือนนี้ (ม.ค.-เม.ย.) บริษัททำสัญญาก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันรวม 9 แห่ง “เราไม่สามารถรับงานเพิ่มได้มากกว่านี้แล้ว โดยเฉลี่ยแล้วสถานีบริการ 1 แห่ง จะใช้เวลาก่อสร้าง 90-120 วัน และหลังเดือนเมษายนก็มีสัญญาที่จะต้องสร้างอีก 4 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นของปั๊มน้ำมันพีที”
Person read: 3399
30 March 2018