เปิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ 1.33 แสนล้าน “อุตตม” เตรียมเสนอ “แพ็กเกจBioeconomy” เข้า ครม. ดัน 3 พื้นที่ตั้งโครงการทั้งใน-นอก EEC พร้อมต่อยอด 3 จังหวัด “นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ขอนแก่น” ฐานที่ตั้งอุตฯน้ำตาล-อาหาร-ปิโตรเคมีของกลุ่มมิตรผล-เกษตรไทย-ซีพี-ปตท.เอเซียสตาร์-BIG-UENO-DSM
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy ว่า โครงการนี้จัดเป็นเป้าหมายที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ทางกระทรวงและประชารัฐ กลุ่มการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (D5) จึงได้จัดทำ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (2561-2570) ขึ้นเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพปัจจุบันเริ่มมีการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อยู่แล้ว จากนั้นรัฐบาลจะ “ต่อยอด” อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพออกไปนอกเขต EEC โดยภาคเอกชนสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ภาคหนือตอนล่างกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ขอนแก่น รวมมูลค่าโครงการทั้งใน EEC กับนอกเขต EEC ภายใน 5 ปีคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 133,000 ล้านบาท
ขณะที่ นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แพ็กเกจไบโอชีวภาพเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เสนอต่อนายอุตตมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาอีกครั้งก่อนที่จะนำเสนอเข้า ครม.ให้ทันภายในเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับรายละเอียดของโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ จะประกอบไปด้วยแผนงาน 3 ส่วนคือ 1)โครงการ Bioeconomy EEC ถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนตามแผน 5 ปี (1560-2564) จะมีมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาทจากกลุ่มนักลงทุน ได้แก่ บริษัท Baxter ผลิตน้ำยาล้างไต ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง มูลค่าการลงทุน 2,240 ล้านบาท, บริษัทโททาล(TOTAL) ร่วมกับบริษัท Corbion ผลิต Lactide 100 KTA กับ PLA 75 KTA ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง ลงทุน 3,500 ล้านบาท บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ในเครือ ปตท. โครงการ Palm Biocomplex เฟส 1 และ 2 เพื่อผลิตเมทิลเอสเตอร์ 200 KTA จ.ชลบุรี มูลค่า 4,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECI ใน 2 พื้นที่คือ วังจันทร์วัลเลย์ ของ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กับ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่นี้ได้ถูกประกาศเป็นเขต EECI แล้ว
2)ส่วนต่อขยายการลงทุนในโครงการ Bioeconomy ในภาคเหนือตอนล่าง มูลค่าการลงทุน 49,000 ล้านบาท แบ่งเป็น นครสวรรค์ ลงทุน 41,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย โครงการ Biocomplex มูลค่า 10,000 ล้านบาท ของบริษัทโกลบอลกรีนเคมีคอล (GGC) ร่วมกับบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เพื่อผลิต Latic Acid, Bio-succinic Acid (BSA) & Bio 1,4 Butanedio, PLA, Furfural และ Lactic Acid สำหรับอาหาร ส่วนที่กำแพงเพชร (ลงทุน 8,000 ล้านบาท) จะมีโครงการ Dried Yeast ของบริษัท คริสตอลลา จำกัด ผลิต Yeast Extract, Beta-Glucan สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์
3)ส่วนต่อขยายการลงทุนในโครงการ Bioeconomy ในภาคอีสานตอนกลางลงทุน 29,705 ล้านบาทในขอนแก่น ประกอบไปด้วย นิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล
จำกัด ร่วมกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG), โครงการผลิตเอ็นไซม์น้ำ Yeast Probiotics และ Beta-glucan ของกลุ่มบริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด (AST) และ บริษัท เอเชีย สตาร์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (ASAH), โครงการ Dried Yeast-เอมไซม์ไฟเตส
สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร-Lactic Acid/Sugar Alcohol สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องสำอาง ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล, บริษัท ดีเอสเอ็ม นิวทริชั่นแนล โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด (DSM), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท อูเอโนไฟน์เคมีคัลส์ อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด (UENO)
ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมได้แก้ปัญหากรณีโรงงานในเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ติดปัญหาผังเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัด (นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ขอนแก่น) โดยนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ได้เสนอให้แก้ประกาศแนบท้ายกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดประเภทโรงงานใหม่จาก “เคมี” เป็น “เคมีชีวภาพ” กับเสนอให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งโรงงานไบโอชีวภาพในเขตที่เป็นสีเขียวได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแก้สีผังเมือง ซึ่งทั้ง 2 แนวทางอยู่ที่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ที่มา : http://smartfixs.net
Person read: 3040
07 May 2018