ปตท.ลงขันบีทีเอส ชิงไฮสปีด ทีโออาร์เปิดช่องจีนถือหุ้น 75%

ทุนไทย-เทศขานรับ TOR ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้าน ประกาศ 30 พ.ค.นี้ เปิดทางรัฐวิสาหกิจจีนถือหุ้นใหญ่ 75% เผย 5 กลุ่มจ้องประมูล BTS เฮ ! ได้ ปตท.ร่วมลงขัน ด้าน ซี.พี.ผนึกจีน กลุ่มญี่ปุ่น-ยุโรปเคลื่อนไหวคึก “โตคิว” พันธมิตร “แสนสิริ-สหพัฒน์-ช.การช่าง” แย้มสนใจโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส “มักกะสัน-ศรีราชา”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-17 มิ.ย. 2561 จะออกประกาศเชิญชวนเอกชนทั่วโลกเข้าร่วมประมูลลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายเรื่องการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ PPP EEC Track ตั้งเป้าได้เอกชนร่วมลงทุนภายในสิ้นปี 2561 จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เซ็นสัญญา และเริ่มงานก่อสร้างต้นปี 2562 ใช้เวลา 5 ปี แล้วเสร็จปี 2566-2567

“โครงการนี้ใช้รูปแบบลงทุน PPP Net Cost เอกชนที่ชนะได้รับสัมปทานโครงการ 50 ปี คือ สร้าง 5 ปี เดินรถ 45 ปี เมื่อครบ 50 ปี รัฐบาลจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดรวมรถไฟความเร็วสูง สถานี และอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด รวมมูลค่าราว 300,000 ล้านบาท”

เอกชนไทย-เทศ 5 รายสนใจ

ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงเปิดกว้างทั้งนักลงทุนจากในและต่างประเทศเข้าร่วมประมูลแบบนานาชาติ (international bidding) ซึ่งวันที่ 30 พ.ค. เป็นการนับหนึ่งโครงการอย่างเป็นทางการ

“ตอนนี้มีเอกชนไทยและต่างชาติที่สนใจจะเข้าร่วมประมูล 5-6 กลุ่ม มีทั้งเดี่ยวและร่วมกันหลายราย ซึ่ง 7 มิ.ย.นี้ จะชี้แจงกับทูตต่างประเทศ”

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะทางรวม 220 กม. แบ่งการเดินรถเป็น 3 ช่วง 1.รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ 29 กม. 2.ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท 21 กม. 3.รถไฟความเร็วสูงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา 170 กม. นอกจากนี้จะรวมการเช่าพื้นที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่ ที่เอกชนจะได้สิทธิ์พัฒนาเชิงพาณิชย์ด้วยมูลค่าโครงการรวม 224,544.36 ล้านบาท

 

“เอกชนรายไหนเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐสูงสุด ให้รัฐสนับสนุนค่างานโยธาน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ”

ไฟเขียวรัฐวิสาหกิจต่างชาติแจม

กรอบเวลาดำเนินโครงการ หลังประกาศเชิญชวน 30 พ.ค.-17 มิ.ย.แล้ว วันที่ 18 มิ.ย.-9 ก.ค. จะขายซองประกวดราคา 1 ล้านบาท และให้ยื่นซองประมูล 12 พ.ย.นี้ คาดว่าจะได้ผู้ร่วมลงทุนสิ้นปีนี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ จึงอนุญาตให้บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจต่างชาติร่วมได้เกิน 1 ราย โดยจะต้องทำข้อตกลงว่าไม่ได้ฮั้วกัน และสถานทูตประเทศนั้น ๆ ต้องรับรอง

ยื่นประมูล 4 ซอง

ขณะที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ กล่าวว่า การให้ยื่นซองประกวดราคาจะให้ยื่น 4 ซอง คือ 1.ซองคุณสมบัติทั่วไป 2.ซองเทคนิค เช่น ผลงานก่อสร้าง การออกแบบ ประสบการณ์เดินรถไฟความเร็วสูง 5 ปี 3.ซองด้านการเงิน เช่น ผลตอบแทนให้รัฐ หรือการที่ให้รัฐสนับสนุนไม่เกินค่างานโยธา โดยจะเริ่มชำระในปีแรกที่เปิดเดินรถ เป็นระยะเวลา 10 ปี

4.ซองข้อเสนอพิเศษ เช่น การพัฒนาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรถไฟและปริมาณผู้โดยสาร จะไม่นำมาพิจารณาเป็นคะแนนตัดสิน แต่หากคิดว่าเป็นประโยชน์ถึงจะเปิดซองพิจารณา แต่การลงทุนเป็นของเอกชนทั้งหมด

ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 75%

รายงานข่าวแจ้งว่า เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติได้มากกว่า 49% จากที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่เกิน 75% แต่ต้องมีบริษัทไทย 1 รายร่วมถือหุ้น 25% และจดทะเบียนมาแล้ว 3 ปี เนื่องจากไม่มีกฎหมายระบุห้ามต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% ยกเว้นเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ เช่น การพัฒนาที่ดินรูปแบบมิกซ์ยูส เป็นต้น สาเหตุที่ทีโออาร์เปิดให้รัฐวิสาหกิจต่างประเทศเข้าร่วมประมูลได้ เป็นเพราะบริษัทรถไฟจีน เช่น บริษัท CRRC มีรัฐถือหุ้นทั้งหมด

นอกจากนี้ ทีโออาร์กำหนดผู้ที่จะเข้ามาร่วมลงทุน จะต้องเป็นนิติบุคคลรายเดียวหรือมากกว่า 1รายร่วมกัน ในรูปกิจการร่วมค้าหรือจอยต์เวนเจอร์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ไม่น้อยกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละรายต้องมีสินทรัพย์ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) หรือการันตีไม่น้อยกว่า 1.2 แสนล้านบาท ใช้แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศได้ แต่ต้องมาเปิดสาขาอยู่ในประเทศไทย

ชี้ กม.เปิดช่องต่างด้าว

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางดำเนินการกรณีบริษัทต่างด้าวเข้าร่วมประมูลไฮสปีดว่า กรณีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจใน EEC แบ่งเป็น 3 กรณี คือ หากเป็นคู่สัญญากับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ สามารถประกอบธุรกิจได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เป็นไปตามกฎกระทรวงที่กำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 กรณีที่ต่างด้าวได้รับการส่งเสริมจาก BOI จะได้รับยกเว้นตามมาตรา 12 และขอหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือหากคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะ จะได้รับยกเว้นตามมาตรา 10 และ 11 สามารถขอหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เช่นกัน

“พ.ร.บ.อีอีซีไม่ได้มีบทบัญญัติให้สิทธิตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวฯ ทำให้การใช้สิทธิคนต่างด้าวไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่คนต่างด้าวได้รับการส่งเสริมให้ประกอบธุรกิจในเขตดังกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถขอยกเว้นตามมาตรา 10”

KBANK-SCB ร่วมชิงเค้ก

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แบงก์ก็พร้อมสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าประมูลโครงการนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธนาคารอยู่แล้ว เชื่อว่าการปล่อยกู้โครงการใหญ่ขนาดนี้อาจปล่อยกู้คนเดียวไม่ได้ ต้องปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารอื่น ๆ (syndicated loan) เช่นเดียวกับที่นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด multicorporate segment ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่ามีกลุ่มทุนมาหารือเรื่องนี้ แต่ต้องรอดูเงื่อนไขรายละเอียด TOR ก่อน

บีทีเอส-ปตท. VS ซี.พี.-จีน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เอกชนไทยที่สนใจเข้าประมูลโครงการ อาทิ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จะร่วมกับ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี นอกจากนี้ บมจ.ปตท.ก็จะร่วมกับบีทีเอสด้วย, กลุ่ม ซี.พี.จะร่วมกับจีนและบริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อปี 2558 อิโตชูร่วมกับ ซี.พี. ได้เข้าไปลงทุนใน บจ.ซิติก ลิมิเต็ด จากจีน โดยซิติก ลิมิเต็ด เป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ของจีน มีธุรกิจหลากหลาย อาทิ การให้บริการทางการเงิน ทรัพยากร และพลังงาน การผลิต อสังหาฯ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้าง ก่อนหน้านี้ร่วมกับ ซี.พี. เข้าไปเสนอการลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยองให้คมนาคมพิจารณา

โตคิวร่วมจอยต์เวนเจอร์

ส่วนบริษัทต่างชาติที่สนใจ จะมีกลุ่มบริษัทรถไฟจากจีน บริษัทยุโรป ล่าสุดมีกลุ่มโตคิว จากญี่ปุ่น พันธมิตรพัฒนาโครงการคอนโดฯของ บมจ.แสนสิริ โดยนายโทชิยูคิ โฮชิโนะ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตคิว คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า สนใจโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยและมิกซ์ยูสที่สถานีมักกะสัน และศรีราชา อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของโตคิวพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้เช่าที่ศรีราชา คิดว่าการพัฒนาโครงการรองรับกับรถไฟความเร็วสูง เช่น สถานีมักกะสัน ถ้ามีโอกาสก็อยากเข้าไปพัฒนา และสนใจการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในไทยด้วย

สำหรับโตคิว คอร์ปอเรชั่น เริ่มต้นทำธุรกิจก่อสร้างทางรถไฟสาย เมกุโระ-คามาตะ ตั้งแต่ปี 2465 มีบริษัทในเครือ 220 บริษัท ส่วนการลงทุนในไทย มี บจ.โตคิว ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เจ้าของห้างโตคิว ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์, บจ.โตคิว คอนสตรัคชั่น ร่วมกับ บมจ.ช.การช่าง ก่อตั้ง บจ.ช.การช่าง-โตคิว รับงานก่อสร้างทางหลวง สร้างโรงงานบริษัทญี่ปุ่น, บจ.โตคิว คอร์ปอเรชั่น และสหกรุ๊ป ตั้งบริษัทร่วมทุน สหโตคิว คอร์ปอเรชั่น บริหารอาคารอพาร์ตเมนต์ฮาโมนิค ในศรีราชา จ.ชลบุรี

 

ที่มา : prachachat.net


จำนวนผู้อ่าน: 2278

30 พฤษภาคม 2018