– ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลัง Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก ในเดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 70,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 32.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในปี 2561 โดยซาอุดิอาระเบีย คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เพิ่มระดับการผลิตขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
– นักวิเคราะห์สหรัฐฯ มีความคิดเห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่ช่องแคบ Bab El-Mandeb มีแนวโน้มคลี่คลาย หลังซาอุดิอาระเบียประกาศหยุดการส่งออกน้ำมันดิบผ่านทางช่องแคบดังกล่าวเป็นการชั่วคราว
– ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ของสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ (API) พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 2.8 ล้านบาร์เรล
+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มที่สหรัฐฯ และจีนพร้อมที่จะกลับมาเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ประกอบกับการส่งออกจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน ประกอบกับการส่งออกอย่างต่อเนื่องจากประเทศอินเดีย
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดที่ช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab al-Mandeb strait) หลังกองกำลังกบฎฮูตีในเยเมนเข้าโจมตีเรือขนส่งน้ำมัน 2 ลำ ในวันพุธที่ผ่านมา ส่งผลให้นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียแถลงการณ์ ยุติการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดจะคลี่คลาย
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศที่ปรับลดลง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ก.ค. 61 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 93.8 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากสูงสุดที่ร้อยละ 97.5
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังในการประชุมช่วงปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมากลุ่มผู้ผลิตตกลงที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่าน
ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-198033
Person read: 2074
01 August 2018