นับเป็นเมกะโปรเจ็กต์ไฮไลต์ของรัฐบาลทหารที่หลายคนเฝ้าจับตาว่าวาระสุดท้ายของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มีเม็ดเงินลงทุนสูงกว่า 2.24 แสนล้านบาท จะไปได้ฉลุยดั่งหวังหรือไม่
แจกสัมปทาน 50 ปีแลกลงทุน
ในเมื่อโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง ถึงรัฐจะเปิดทางให้เอกชนที่มาร่วมลงทุนรับสัมปทาน 50 ปี แต่หากทุนไม่หนา สายป่านไม่ยาว ก็อาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝันเช่นกัน เพราะกว่าโครงการจะคุ้มทุนใช้เวลานับ 10 ปี ขณะที่เอกชน 31 รายที่ซื้อซองประมูล ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน ขอเวลาศึกษารายละเอียดทีโออาร์อย่างถี่ถ้วนก่อนจะเคาะว่าจะลงสนามแข่งประมูลหรือไม่
เพราะไม่ใช่แค่เม็ดเงินลงทุนที่สูง ยังต้องหาหุ้นส่วนมาร่วมลงขันหลายส่วนทั้งงานก่อสร้าง ติดตั้งระบบเดินรถและพัฒนาที่ดิน ที่ว่ากันว่าเป็นหัวใจหลักที่จะมาหล่อเลี้ยงโครงการ จนถึงขณะนี้บรรดาบิ๊กธุรกิจทั้งซีพี-บีทีเอส-ปตท.และขาใหญ่รับเหมาและวัสดุก่อสร้าง ก็ยังไม่เผยโฉมหน้าพันธมิตรที่จะร่วมชิงไฮสปีด คสช.จนกว่าจะถึงวันยื่นซองวันที่ 12 พ.ย.นี้
ห่วงสร้างทับซ้อนโครงการอื่น
หลัง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ปิดการซื้อซองประมูลเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้จัดประชุมชี้แจงทีโออาร์พร้อมพาลงพื้นที่ดูโครงการรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ที่เอกชนประมูลได้จะต้องรับช่วงบริหารโครงการต่อ
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯกล่าวว่า ขอบเขตงานโครงการจะครอบคลุมทั้งการเดินรถ การก่อสร้าง และการพัฒนาที่ดิน สัญญาเป็นสัญญาเดียว มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี แบ่งเป็นก่อสร้าง 5 ปี และเดินรถ 45 ปี
โดยเอกชนส่วนใหญ่จะสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดด้านงานวิศวกรรม และการใช้ระบบรางร่วมกับ 3 โครงการ ได้แก่ สายสีแดง รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น มีระยะทางประมาณ 10 กม. ซึ่งในหลักการแล้วโครงการใดที่มีความพร้อมที่สุดก็ต้องทำโครงสร้างรองรับไว้ก่อน
ซึ่งเส้นทางที่มุ่งหน้าไปสนามบินดอนเมือง เมื่อออกจากสถานีกลางบางซื่อจะมีราง 2 คู่ แบ่งแยกไว้สำหรับรถไฟความเร็วสูงอยู่แล้ว 1 คู่ วิ่งขนานกันไป จนเมื่อใกล้จะถึงดอนเมืองทั้ง 2 คู่จะมีคู่หนึ่งยกระดับขึ้นมาซ้อนกัน เพราะบริเวณดอนเมืองมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ โดยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะอยู่ชั้นล่าง ส่วนรถไฟไทย-จีนจะอยู่ข้างบน
ใครพร้อมเดินหน้าสร้างก่อน
“ตอนนี้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินพร้อมมากที่สุด จึงต้องก่อสร้างก่อน ส่วนเรื่องระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณ หากจะใช้รางร่วมกันเจ้าของเทคโนโลยีก็สามารถคุยกันได้ หากทางชินคันเซ็นของญี่ปุ่นแจ้งว่าจะไม่สามารถใช้รางร่วมกับระบบอื่นได้ ก็แล้วแต่ความจำเป็น เพราะเส้นทางจากบางซื่อไปถึงดอนเมืองมีระยะทางแค่ 10 กม. ทางคมนาคมจะต้องไปจัดการต่อไป สำหรับความเร็วที่จะใช้วิ่งแบ่ง 2 ช่วง จากสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 250 กม./ชม. เพราะออกนอกเมือง ช่วงในเมืองสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองไม่เกิน 160 กม./ชม”
ส่วนความคืบหน้าของรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) กำลังทยอยส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาช่วงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภาก่อน เพื่อให้ได้รับอนุมัติภายในปีนี้ เพื่อเริ่มการก่อสร้างภายในปีหน้า
ส่วนช่วงส่วนต่อขยายอู่ตะเภา-ระยอง-ตราด จะเสนอเป็นอีกโครงการเพิ่มในภายหลัง อยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบแนวเส้นทางใหม่ เนื่องจากมีการคัดค้านไม่ให้ตัดผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
เวนคืน 850 ไร่ 254 ครัวเรือน
ขณะที่การเวนคืนที่ดินนายวรวุฒิกล่าวว่า ทั้งโครงการจะเวนคืนที่ดิน 850 ไร่ ใช้งบประมาณ 3,570 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 แบ่งเป็นค่าเวนคืนที่ จ.ฉะเชิงเทราจำนวน 550 ไร่ วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง (depot) ประมาณ 300 ไร่ แนวทางวิ่ง 100 ไร่ และสถานีรถไฟอีก 70 ไร่
ที่เหลือจะเป็นค่าสิ่งปลูกสร้างทดแทนผู้อยู่อาศัยเดิม 254 ครัวเรือนที่ต้องย้ายออกจากแนวเขตทาง นอกจากนี้ มีเวนคืนที่สถานีลาดกระบังเพิ่ม เพื่อทำทางวิ่งไปสนามบินอู่ตะเภา และมีบางส่วนบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิและอู่ตะเภาอีกประมาณ 300 ไร่ จะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินและจะพยายามเวนคืนให้เสร็จในปี 2562
“การเวนคืนอยู่ระหว่างร่างและเก็บสำรวจรายละเอียดให้ครบถ้วนอยู่ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากรายละเอียดการเวนคืนต้องเก็บข้อมูลให้ครบและตรงกับพื้นที่จริง ถ้าสำรวจไม่ละเอียดจะทำไม่ได้” นายวรวุฒิกล่าวและว่า
สถานีมักกะสันติดโรงซ่อม
สำหรับการส่งมอบพื้นที่เพื่อพัฒนาเชิงพาณิย์ที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ จะส่งมอบ 100 ไร่แรกด้านหน้าสถานีได้ในวันที่เซ็นสัญญา อีก 50 ไร่จะทยอยส่งมอบภายใน 5 ปี เนื่องจากมีพื้นที่บางส่วนเป็นโรงซ่อมรถไฟอยู่บริเวณทางเข้าออกต้องรื้อย้ายออกไป ซึ่ง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างศึกษารื้อย้ายเพื่อไปอยู่พื้นที่อื่น
ส่วนพื้นที่ศรีราชา 25 ไร่ไม่มีปัญหาสามารถส่งมอบได้ทันที เพราะพื้นที่ทั้งหมดเป็นของ ร.ฟ.ท.อยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นบ้านพักพนักงานของ ร.ฟ.ท. โดยจะมีการก่อสร้างบ้านพักทดแทนในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบอยู่เช่นกัน
เหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ง่าย !
ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-198694
จำนวนผู้อ่าน: 2176
03 สิงหาคม 2018