‘กสทช.’ ลุ้นระทึก ‘ทรู’ เมินประมูลคลื่นรอบใหม่

ลุ้นระทึกอีกระลอกเมื่อ “กสทช.” ขีดเส้น 8 ส.ค. 2561 เป็นวันยื่นคำขอเข้าประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ซึ่งเป็นช่วงคลื่นภายใต้สัมปทานของ“ดีแทค” กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ที่กำลังจะหมดสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 โดยกำหนดวันเคาะราคาประมูลคลื่น 900 MHz ในวันที่ 18 ส.ค. 2561 ส่วนคลื่น 1800 MHz คือวันที่ 19 ส.ค. 2561

แม้ 3 ค่ายมือถือจะเคยพร้อมใจกัน “เท” ไม่ยื่นคำขอเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งก่อน จน “กสทช.” ต้องลุกขึ้นมารื้อเกณฑ์ประมูลยกใหญ่ ทั้งจัดคลื่น 900 MHz ออกมาประมูลด้วย และซอยย่อยใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz เป็น 9 ใบ เหลือใบละ 5 MHz ตามคำขอของ “ดีแทค” รวมถึงเพิ่มเงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800 MHz ให้ย้ายบล็อกคลื่นได้ เพื่อดึงดูดให้ “เอไอเอส-ทรู” ที่ชนะประมูลหนก่อนเข้าร่วมด้วย

แต่ทั้งหมดก็ยังรับประกันไม่ได้ว่าใครจะยื่นซองเข้าประมูลบ้าง เพราะทุกเจ้ารอตัดสินใจก่อนยื่นซองไม่กี่ชั่วโมง

 900 MHz ส่อแห้ว 3 ค่ายเมิน

โดยแหล่งข่าวภายในดีแทค เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บอร์ดจะตัดสินใจอีกครั้งในช่วงค่ำของวันที่ 7 ส.ค. หลังชัดเจนว่ามีผู้มารับซองกี่บริษัท แต่แนวโน้มจะไม่เข้าประมูลคลื่น 900 MHz เพราะมีความไม่แน่นอนด้านกฎหมายเรื่องสิทธิ์การใช้คลื่นและการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวน ซึ่งคาดว่าค่ายอื่นก็น่าจะไม่เข้าเหมือนกัน

“แต่อาจจะประมูล1800 MHz สักไลเซนส์เพื่อให้ได้สิทธิ์เยียวยาลูกค้า”

แหล่งข่าวภายใน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่เข้าประมูลทั้ง 2 คลื่น เพราะมีภาระค่าไลเซนส์ที่ต้องจ่ายอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และยังมีคลื่นเพียงพอ

นอกจากนี้ ทรู โดยนายวิลเลี่ยม แฮริส หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน ยังทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ยืนยันว่าไม่เข้าร่วมประมูล โดยระบุว่า คณะผู้บริหารได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า บริษัทฯไม่ควรเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 MHz และ ย่าน 1800 MHz ที่จะจัดโดยคณะกรรมการการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในวันที่ 18 และ 19 สิงหาคม 2561

ขณะที่ฟาก “เอไอเอส” ยังสงวนท่าที

เลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังเชื่อมั่นว่าการประมูลคลื่นที่เตรียม
งบประมาณไว้กว่า 20 ล้านบาทจะเกิดขึ้น แต่อาจจะได้แค่ 3-4 ใบอนุญาต ในคลื่น 1800 MHz เพราะเงื่อนไขของคลื่น 900 MHz มีข้อกังวลเยอะ โดยเฉพาะเรื่องความไม่ชัดเจนของเส้นทางและแผนการตั้งสถานีของระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งผู้ชนะประมูลต้องติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวน

หวังประมูลกระตุ้นแสนล้าน

“ดีแทคกังวลเรื่องความไม่ชัดเจนนี้ ถ้าไม่เอาแล้วคลื่น 900 MHz ก็ต้องปรับมาใช้ย่าน 1800 MHz เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทางเลือก เพราะปัจจุบันลูกค้าดีแทคใต้สัมปทานจริง ๆ มีแค่ 1.5 แสนราย แต่อีก 20 กว่าล้านราย ต้องโรมมิ่งใช้คลื่นย่าน 900 MHz นี้ เมื่อ กสทช.ยืนยันไปแล้วว่า ดีแทคจะไม่มีสิทธิ์เข้าสู่มาตรการเยียวยา ก็ต้องมีคลื่น 1800 MHz เพิ่มเพื่อทดแทน ส่วนเอไอเอสกับทรูก็อาจจะเข้าประมูลแค่ 1 ไลเซนส์ เพื่อขยับบล็อกคลื่นที่มีให้ไม่ถูกล็อก”

ดังนั้น กสทช.ประเมินว่า หากการประมูลเกิดขึ้นจะมีเงินเข้ารัฐราว 50,000 ล้านบาท จากไลเซนส์ 1800 MHz ประมาณ 4 ใบอนุญาต ซึ่งมีราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 12,486 ล้านบาท ทำให้ปีนี้จะมีเงินเข้ารัฐจากการจ่ายเงินงวดแรก 50% คือ 25,000 ล้านบาท

ขณะที่การประมูลจะผลักดันการลงทุนโครงข่ายเพิ่ม รวมถึงการจ้างเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท หากนับรวมมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการใช้งานน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท

โดยการประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz เมื่อ ธ.ค. 2558 และ พ.ค. 2559 ประเมินว่าหนึ่งปีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทางตรงกว่า 3.26 แสนล้านบาท

ทั้งก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้คาดการณ์ว่า การลงทุนรวมของทั้ง 3 ค่ายมือถือในช่วงปี 2561-2564 จะสูงถึง 1.2 แสนล้านบาทต่อปี สำหรับลงทุนด้านอุปกรณ์ เสารับสัญญาณ และ small cell เพื่อรองรับความต้องการใช้งานด้านข้อมูลจะโตขึ้นกว่า 3 เท่า

รอประมูลอีกทีปี 62

แต่ถ้า “พลิกโผ” กสทช.โดนเทอีกครั้ง ไม่มีรายใดยื่นคำขอเข้าร่วมประมูลเลย เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า จะรอประมูลใหม่อีกทีในปลายปี 2562 โดยบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ที่รัฐบาลจะเปิดสรรหาเข้ามาพิจารณาว่าจะ
ทบทวนหลักเกณฑ์เงื่อนไขใด ๆ หรือไม่ รวมถึงกรณีที่คลื่นเหลือจากการจัดประมูลด้วย

“ถ้าการประมูลไม่เกิด ไม่มีเงินส่งเข้ารัฐ ก็ต้องยอมรับ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้บีบบังคับให้ กสทช.ต้องเร่งหาเงินเข้ารัฐ แค่อยากให้เร่งผลักดันการประมูลเพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจเท่านั้น ก็ถือว่าเราทำดีที่สุดแล้ว เพราะก็เข้าใจได้ว่าแต่ละค่ายมือถือจะต้องการคลื่นลอตใหญ่ ๆ อีกครั้งเมื่อเข้ายุค 5G  ซึ่ง กสทช.และรัฐบาลจะผลักดันให้เกิดขึ้นในปี 2563 จึงยังมีเวลาดึงเกมกันเงินลงทุนไว้ก่อน เพราะนอกจากดีแทคที่มีแค่คลื่น 2100 MHz 15 MHz ที่ใช้ได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว ทรูกับเอไอเอสยังมีภาระจากเงินประมูลลอตก่อน เมื่อรัฐบาลไม่ออกมาตรการยืดเวลาชำระเงินให้ คลื่นในมือก็ยังพอใช้งานได้ถึงปี 2562”

ด้านประธาน กสทช. “พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถ้าไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดยื่นคำขอเข้าประมูลเลยก็ต้องยอมรับว่า ภารกิจหาเงินรายได้เข้ารัฐทำไม่สำเร็จ แต่ก็ถือว่า กสทช.ทำดีที่สุดแล้ว เพราะได้แก้ไขทุกอย่างตามที่มีข้อท้วงติงแล้ว ยกเว้นเรื่องราคาเริ่มต้นคลื่นที่แก้ไขให้ไม่ได้จริง ๆ

“ก็ต้องให้บอร์ดชุดใหม่เขาทบทวน เมื่อมีการลดราคา ลดเงื่อนไขให้ แต่ทุกโอเปอเรเตอร์ปฏิเสธ ซึ่งก็อาจบ่งชี้ได้ว่าคลื่นในมือแต่ละค่ายมีมากพอ จนเขาไม่อยากลงทุน เพราะยังมีภาระค่าไลเซนส์คลื่น 900 MHz อีกหลายหมื่นล้านบาท”

สำหรับรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ที่ “กสทช.” นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 156,779.62 ล้านบาท ยังคงเหลือที่ “เอไอเอส-ทรู” ต้องชำระในปี 2562 อีก 8,602.80 ล้านบาท และปี 2563 อีก 128,177.44 ล้านบาท

ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 ที่ “เอไอเอส” รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า มีกำไรสุทธิ 8,005 ล้านบาท ลูกค้า 40.1 ล้านราย มีอัตราเงินกู้สุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 1.2 เท่า “ดีแทค” ระบุว่า กำไรสุทธิ 179 ล้านบาท ลูกค้ารวม 21.6 ล้านราย อัตราหนี้สินต่อ EBITDA 0.6 เท่า ส่วน “ทรู” รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2561 มีผลขาดทุนสุทธิ 387 ล้านบาท ลูกค้าทรูมูฟ เอช 27.63 ล้านราย อัตราหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA 2.8 เท่า

ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-201408


จำนวนผู้อ่าน: 2141

08 สิงหาคม 2018