ธพว.จับมือ PTTOR และสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย นำร่องโมเดลปั๊มน้ำมัน PTT 14 แห่ง เป็นศูนย์กลางศก.ชุมชน

ธพว. ร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด และ สมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย นำร่อง Showcase ปั๊มน้ำมัน 14 แห่ง พลิกโฉมพร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าวิสาหกิจชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. เปิดเผยว่าในวันนี้ (23 สิงหาคม 2561) ธนาคารร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(PTTOR) และ สมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย จัด Model พิเศษเปิดตัวนำร่อง “โครงการการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.เพื่อชุมชน” พร้อม Showcese ปั๊มน้ำมันศูนย์กลางเศรษฐกิจชุมชน จำนวน 14 แห่ง ในงานสัมมนาผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศ ประจำปี 2561 ณ โรงแรม Centara Crand & Bangkok Convention Center Central World ถนนราชดำริ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้ศึกษาเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ และสร้างแรงบันดาลใจให้มาเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งจะก่อประโยชน์ทั้งแก่ธุรกิจตัวเอง และชุมชนโดยรอบของพื้นที่ตั้งปั๊มน้ำมัน โดยคาดจะแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมภายในเดือนกันยายน 2561 นี้

โดย Model Showcese จำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย 1) สถานีปิโตรเลียมอเวนิวแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร 2) สถานีนภาออยล์ จ.ร้อยเอ็ด 3) สถานีน้ำมันสยามด่านขุนทด จ.นครราชสีมา 4) สถานีพงษ์กิต โคกกรวด จ.นครราชสีมา 5) สถานีกาฬสินธุ์กิตติกมล จ.กาฬสินธุ์ 6) สถานีมานะ เสริมพลปิโตรเลียม จ.บุรีรัมย์ 7) สถานีอุบลเกตุเวย์ จ.อุบลราชธานี 8) สถานี พี เอส ที ไพรัชบริการ จ.พิจิตร 9)สถานี พีที ไพรัช ปิโตรเลียม เซอร์วิส จ.พิจิตร 10)สถานีโค้งวิไลไทยเสรี จ.กำแพงเพชร 11) สถานีหินสองก้อนปิโตรเลียม จ.ลพบุรี 12) สถานีวัฒนานุกิจเซอร์วิส จ.ระยอง 13) ห้างหุ้นส่วน สงวนสินปิโตรเลียม จำกัด จ.จันทบุรี และ 14) สถานี ก.กิจปิโตรเลียม จ.สุราษฎร์ธานี

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังได้นำลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมแสดงโชว์สินค้าภายในงานด้วย เพื่อสร้างโอกาสเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการปั๊ม ปตท. เจรจาจับคู่ธุรกิจ นำสินค้าคุณภาพไปวางจำหน่าย อาทิ บจก.ชายน้อยฟู้ด จ.ชุมพร ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้วยอบกรอบ, วิสาหกิจชุมชนเรือนไม้หอม จ.สมุทรสงคราม ผู้ผลิตและจำหน่ายสปาสมุนไพรไทย,กลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้านุชบา ผู้ผลิตและจำหน่ายของที่ระลึกผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า และ บจก.เจเอ เจนเนอรอล กรุงเทพฯ ผู้ผลิตและนำหน่ายไอศกรีมมะพร้าว เป็นต้น

“นับว่าความร่วมมือครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยการตอกย้ำภาพลักษณ์ให้สถานีบริการปั๊มน้ำมัน ปตท.และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยการผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจปั๊มน้ำมันเกิดการตื่นตัว เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะช่วยให้สังคมท้องถิ่นของตนเองมีความแข็งแกร่ง รวมถึงการยกระดับสินค้าที่มีมาตรฐาน โดดเด่น ได้ต่อยอดวางจำหน่ายในสถานีบริการปั๊มน้ำมัน ปตท. ที่เข้าร่วมโครงการ ให้สินค้าได้รับการพัฒนาตรงต่อความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นชนิดสินค้า คุณภาพ ราคา ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีงานทำ เกิดการจ้างงาน มีรายได้ มีอนาคต ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10-30% เนื่องจากจะมีลูกค้าเข้าใช้บริการในปั๊มเพิ่มขึ้น เป็นที่รู้จักว่าเป็นแหล่งสินค้าดีมีคุณภาพ พร้อมก้าวสู่อาณาจักร Community Mall” นายมงคล กล่าว

สำหรับการคัดเลือกสถานีบริการปั๊มน้ำมันเข้าร่วมโครงการ มีหลักเกณฑ์เบื้องต้นดังนี้ 1) ความพร้อมและสมัครใจของผู้ประกอบการสถานี 2) มีศักยภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน 3) สถานที่ทำเลดีมีศักยภาพ สะดวก เข้าถึงตลาดผู้ซื้อ 4) เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นเส้นทางหลักที่ใช้เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยว และ 5) มีพื้นที่สำหรับการทำโครงการ การส่งสินค้าร่วมจำหน่ายในสถานีบริการปั๊มน้ำมัน มีทั้งกรณีฝากขายและให้เครดิตทางการค้า

ส่วนความคืบหน้า “โครงการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ยุค 4.0 พัฒนา เติมทุน เสริมแกร่งทั่วไทย” ที่ธนาคารร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ สมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ตามเจตนารมณ์ยกระดับสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม ปตท.) ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกอยู่ 761 ราย มีผู้ประกอบการธุรกิจสถานีบริการน้ำมันประสงค์ยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารแล้ว จำนวน 225 ราย วงเงินรวม 869.01 ล้านบาท โดยธนาคารดำเนินการอนุมัติไปแล้ว จำนวน 156 ราย วงเงินรวม 657.01 ล้านบาท

กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารหันมาใช้แนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการที่รวมกลุ่มในธุรกิจเดียวกัน อาจทำในนามของสมาคม สมาพันธ์การค้า คลัสเตอร์ หรือผู้แทนกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อให้มีคนกลางคอยรวบรวมความต้องการของสมาชิกทั้งหมด รวมถึงการการันตีคุณสมบัติเพื่อยืนยันการมีตัวตนว่าทำธุรกิจในพื้นที่จริง โดยจะเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถเข้าไปสนับสนุน พัฒนา ยกระดับทั้งในเรื่ององค์ความรู้ควบคู่แหล่งเงินทุนได้ตรงกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือคนตัวเล็ก นอกจากนี้ ธนาคารยังมีบริการแพลตฟอร์ม SME D Bank กู้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิ๊กผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์บนสมาร์ทโฟน บริการรถม้าเติมทุน ส่งเสริมSMEs ไทย ฉับไวไปถึงถิ่น ที่พร้อมลงพื้นที่เข้าถึงแบบคลอบคลุมทุกกลุ่ม SMEs ทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-208850


จำนวนผู้อ่าน: 2590

23 สิงหาคม 2018