“ขยะแพ็กเกจจิ้ง” มหันตภัยใหม่ ยุคช็อปปิ้งออนไลน์ครองโลก

ตลาดอีคอมเมิร์ซ ซื้อขายออนไลน์ มีแนวโน้มเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ทั่วทุกมุมโลก ผู้คนช็อปออนไลน์ด้วยความรู้สึกทั้งสะดวก สบาย ราคาถูกกว่า แถมได้สัมผัสบรรยากาศแห่งความสุขกับความรู้สึก “แกะกล่อง”อย่างไรก็ตาม ความสุขที่ว่าได้กลายเป็นภาระให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อตลาดโตขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือ “ขยะจากแพ็กเกจจิ้ง” หรือหีบห่อพัสดุที่ใช้แล้ว มักไม่ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำ

ยกตัวอย่างจาก 2 เคสในประเทศ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งการซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นไปอย่างคึกคักเป็นพิเศษ ภายหลังจากงานเมกะเซลออนไลน์ครั้งใหญ่บนเว็บไซต์จบลง ผู้คนดีอกดีใจได้ของที่ต้องการ แต่ปัญหาขยะพัสดุที่มีตามมาส่งผลกระทบอะไรบ้าง ?

เดอะ สเตรตไทมส์ รายงานว่า “งานเซลคนโสด” มหกรรมลดแหลกบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในจีน อีเวนต์ที่ได้รับการตอบรับดีที่สุด ซึ่งจัดขึ้นโดยเว็บไซต์ในเครืออาลีบาบาและค่ายอื่น ๆ โดยเฉพาะงานเซลคนโสด เมื่อวันที่ 11 เดือน 11ปี 2017 ที่ผ่านมา ที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จสูงสุด สร้างกระแสเงินหมุนเวียนในประเทศกว่า 254,000 ล้านหยวน หรือราว 1.38 พันล้านออร์เดอร์ และพัสดุจำนวน331 ล้านชิ้น ซึ่งทางไปรษณีย์จีนระบุว่าจำนวนพัสดุเพิ่มขึ้นมากถึง 31.5% เมื่อเทียบกับปี 2016 ความสำเร็จดังกล่าวได้ก่อให้เกิดขยะพัสดุมหาศาล โดยกรีนพีซประเมินตัวเลขว่า มีเศษขยะพัสดุมากกว่า 160,000 ตัน

“เหนี่ย ลี่” นักรณรงค์จากกรีนพีซ ให้สัมภาษณ์ว่า มหกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากโรงงานด้านผลิตบรรจุภัณฑ์และชิปปิ้งเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนปีนี้ แม้งานคนโสดประจำปีจะยังเวียนมาไม่ถึง แต่ในส่วนของอเมริกา งาน “อเมซอน ไพรมเดย์” เมกะเซลอีเวนต์ซึ่งจัดผ่านไปเมื่อราวกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ปีนี้อเมซอนขายสินค้าไปได้มากกว่า 100 ล้านโปรดักต์ ภายใน 36 ชั่วโมง แม้บริษัทจะไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขรายได้สุทธิ แต่คาดว่าน่าจะโกยรายได้เข้ากระเป๋าไม่น้อย

ผลสำรวจจาก “ฟาสต์ คอมพานี” ระบุว่า ในทุกปี มีพัสดุส่งภายในประเทศสหรัฐมากถึง 165,000 ล้านชิ้น ในจำนวนนี้เป็นกล่องที่ทำจากต้นไม้รวม ๆ แล้วนับ “พันล้านต้น” ต่อปี

ขณะที่ “บลูเอพรอน” เจ้าตลาดโลจิสติกส์กลุ่มธุรกิจอาหารสดชี้ว่า ในการส่งอาหาร1 ครั้ง นอกจากกล่องกระดาษแล้วยังต้องมีไอซ์แพ็กหนัก 6 ปอนด์ บรรจุลงไปด้วยอย่างน้อยกล่องละ 2 ชิ้น ซึ่งต่อปีจะคิดเป็นขยะกว่า 192,000 ตัน จำนวนขยะที่มากขึ้น ทำให้มีกลุ่มคนออกมาเรียกร้องให้บรรดาผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หันมาสนใจปัญหาที่ละเลยมากขึ้น ปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นออนไลน์รีเทลยักษ์ใหญ่ของโลก ลอนช์มาตรการออกมาตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง เช่น อเมซอน เริ่มหันมาผลิตกล่องพัสดุที่ย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ ผลิตซองจดหมายสำหรับส่งสินค้าขนาดเล็ก และส่งสินค้าบางชิ้นด้วยแพ็กเกจออริจินอล ไม่ห่อหุ้มอะไรเพิ่มเติม

อีคอมเมิร์ซในประเทศจีนหลายเจ้าก็หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นเดียวกัน อาทิ ส่งสินค้าด้วยกล่องพลาสติกที่บริษัทขนส่งสามารถแชร์พื้นที่กับลูกค้าหลายรายได้ และนำกลับมาส่งใหม่ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังได้ทดลองการจัดส่งโดยใช้ถุงพัสดุที่ย่อยตามธรรมชาติ หรือส่งด้วยกล่องที่ไม่ต้องปิดผนึกเทปกาว เพื่อลดจำนวนขยะลง

อย่างไรก็ตาม “เหนี่ย ลี่” ให้ความเห็นต่อมาตรการจากอีคอมเมิร์ซจีนว่า ยัง “ไม่เพียงพอ” ซึ่งการแก้ไขต้องมาจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่จากใครคนใดคนหนึ่งและสิ่งที่จะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน คือการเปลี่ยนไมนด์เซตผู้บริโภคให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ขณะที่นักเคลื่อนไหวจีนหลายรายมองว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนอกจากภาคเอกชนต้องแอ็กชั่นจริงจังแล้ว ภาครัฐและประชาชนก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ ไปรษณีย์กลางแห่งชาติจีนได้ออกไกด์ไลน์เมื่อปีที่แล้ว โดยตั้งกฎให้บรรดาอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์กำจัดบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานให้หมดสิ้นไป และขีดเส้นตายให้จัดทำระบบรีไซเคิลที่เหมาะสมภายในปี 2020

ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-208577


Person read: 2500

23 August 2018