“อมตะ-บ้านฉาง” ประเดิมผุดเมืองใหม่อัจฉริยะใน EEC จับมือ “โยโกฮามา” ทำนิคมอุตสาหกรรมล้ำสมัย เทศบาลบ้านฉางดัน “บ้านฉางสมาร์ทซิตี้” หวังเป็นเมืองใหม่ต้นแบบในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อัพเดตความคืบหน้าผ่านการพิจารณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจ่อขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดให้ “เมืองอัจฉริยะ (Smart City)” เป็นประเภทกิจการใหม่ที่จะได้รับส่งเสริมการลงทุน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้กำหนดองค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไว้ 6 ประการ ได้แก่ Smart Mobility การสัญจรอัจฉริยะ, Smart People สังคมอัจฉริยะ, Smart Living ชุมชนอัจฉริยะ, Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ, Smart Governance การบริหารจัดการอัจฉริยะ และ Smart Energy & Green Environment พลังงานและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ซึ่งถือเป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนา “เมืองใหม่” ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
BOI อัดสิทธิประโยชน์
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงมาตรการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ประเภทกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ มีเงื่อนไขคือ จะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 6 ด้าน มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร มีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูล (open data platform) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ต้องเสนอแผนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และดำเนินการตามเป้าหมาย KPI การพัฒนาพื้นที่ที่กำหนดประเภทกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ จะได้รับสิทธิประโยชน์ประกอบไปด้วย การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (จำกัดวงเงิน) จากรายได้ค่าบริการโดยใช้ระบบอัจฉริยะ (พื้นที่ EEC+ลดหย่อน 50% 5 ปี), การ “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักร, สิทธิและประโยชน์อื่นตามประกาศ กทท.ที่ 2/2557
2) ประเภทกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ เงื่อนไขจะต้องมีบริการระบบเมืองอัจฉริยะอย่างน้อย 1 ด้าน และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเหมือนกับประเภทกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะเช่นกัน
และ 3) ประเภทกิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เงื่อนไขจะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ประกอบไปด้วยการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (จากเดิมได้เพียง 5 ปี) ตามขนาดเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน
เมืองอัจฉริยะโยโกฮามา 2
ด้าน นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)กล่าวถึงโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ว่า เป็นนโยบายภาครัฐที่เห็นร่วมกับภาคเอกชนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมให้เป็นเมืองที่ทันสมัยภายใต้ความเป็นอัจฉริยะทุกด้าน ดังนั้นจึงเกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น กับเมืองโยโกฮามา โดยจะใช้โมเดลของเมืองโยโกฮามา ซึ่งเป็น 1 ในเมืองอัจฉริยะของประเทศญี่ปุ่น มาเป็นต้นแบบสร้างสมาร์ทซิตี้ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จ.ชลบุรี
สมาร์ทซิตี้ดังกล่าวจะเป็นการสร้างเมืองโยโกฮามาแห่งที่ 2 ภายใต้ชื่อโครงการ “Sabai District” บนพื้นที่ 100 ไร่ บริเวณด้านหน้าของนิคมอมตะ โดยความร่วมมือดังกล่าวจะผ่านทาง องค์กร Yokohama Urban Solution Alliance (YUSA) จัดตั้งขึ้นโดยเมืองโยโกฮามา เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของภาคเอกชนญี่ปุ่นในการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งในด้านการวางผังเมืองแบบบูรณาการ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการเมืองอัจฉริยะ โดยผลการศึกษาและการวาง roadmap จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายนนี้
เมืองโยโกฮามาแห่งที่ 2 นี้ได้พิจารณาทั้งความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ตำแหน่งที่ตั้งและสภาพแวดล้อมโดยรอบ โดยทางโยโกฮามาได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น (METI) ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study : FS) ด้วยแนวคิด “Smart Atmosphere for Business, Art and Intelligence” เรียบร้อยแล้ว โครงการนี้จะประกอบไปด้วยออฟฟิศ อาคารพาณิชยกรรม ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดประชุมธุรกิจ MICE พื้นที่แสดงงานศิลปะ แหล่งบันเทิงและนันทนาการ
“ในระยะแรกทางโยโกฮาม่าจะเป็นผู้ออกแบบสมาร์ทซิตี้ให้อมตะก่อน จากนั้นสเต็ปต่อไปจะเป็นความร่วมมือในการเป็นมากกว่าพาร์ตเนอร์ หรืออาจจะร่วมลงทุนด้านสมาร์ทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกในอนาคต” นายวิบูลย์กล่าว
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ถึงความคืบหน้าโครงการเมืองอัจฉริยะโยโกฮามาของกลุ่มอมตะ พบว่าเป็นโครงการที่อยู่ในแพ็กเกจสมาร์ทซิตี้ เข้าใจว่า roadmap ของโครงการใกล้เสร็จแล้ว ขณะนี้ยังไม่ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามา โดยโครงการนี้จะเข้าข่ายประเภทกิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
ผุดเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง
นอกจากโครงการเมืองอัจฉริยะโยโกฮามาแล้ว ทาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ก็มีความเคลื่อนไหวในการทำเมืองอัจฉริยะ ล่าสุด นายสุชิน พูลหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง กล่าวว่า โครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง (Banchang Smart City) ตั้งอยู่หมู่ 4 เทศบาลตำบลบ้านฉาง พื้นที่ 1,885 ไร่ คิดเป็นพื้นที่อาคารรวม 460,303 ตารางเมตรนั้น “ตอนนี้ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบในหลักการ” ในการประชุมคณะกรรมการ 2 ชุดไปแล้ว
โดยคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัดระยอง ครั้งที่ 1/2561 วันที่ 10 สิงหาคม 2561 ได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว และได้เตรียมนำเสนอให้ คณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานพิจารณาอนุมัติโครงการ ขณะเดียวกัน โครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉางได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เช่นกัน โดย กพอ.มีแนวคิดจะให้เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง เป็นโครงการนำร่อง Smart City ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของ 3 จังหวัดด้วย
“ตามกรอบแผนงานที่กรมโยธาธิการและผังเมืองวางไว้จะมีการพิจารณาอนุมัติทั้งหมด คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับจากนี้”
ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-209164
จำนวนผู้อ่าน: 3336
24 สิงหาคม 2018