แฟ้มภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมการครั้งที่ 3 มีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานยกร่างรายละเอียดในสัญญาและพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม ซี.พี. ที่เสนอให้รัฐอุดหนุนต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา” 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท หลังใช้เวลา 6 ชั่วโมง ได้ข้อยุติ 34 ข้อ ที่เสนอให้คณะกรรมการคัดเลือก โดยนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อธิบดีอัยการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ เปิดเผยว่า ในส่วนกรอบเจรจาที่ 2 ความยากที่ส่งผลกับภาพลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และร่างสัญญาได้เสร็จสิ้นแล้ว จะเสนอคณะกรรมการคัดเลือก 22 ก.พ.นี้ ซึ่งแนวโน้มมีข้อยุติ
“ผลเจรจา 3 ครั้งยืนยันว่าอนุกรรมการไม่รับข้อเสนอที่ขัดกับทีโออาร์ ที่รับได้ต้องแก้เนื้อหาบางอย่าง เช่น ถ้อยคำ ต้องดูท่าทีของกลุ่ม ซี.พี.ยอมสละได้หรือไม่”
รายงานข่าวแจ้งว่า สุดท้ายสกรีนเหลือ 28 ข้อ ในจำนวนนี้มีข้อเสนอซองที่ 4 ที่จบไปแล้ว แต่กลุ่ม ซี.พี.นำมารวมเจรจาด้วย บรรยากาศตลอด 6 ชั่วโมง เดิมคิดว่าอาจไม่ได้ข้อสรุป ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการคัดเลือกจะหาทางออกโครงการนี้อย่างไร กับข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งแนบท้ายเสนอคณะกรรมการอีอีซีพิจารณา เพราะกลุ่ม ซี.พี.กลัวว่าหากเป็นฝ่ายยกเลิกเจรจาจะถูกริบแบงก์การันตี 2,000 ล้านบาทใน 28 ข้อ มีบางประเด็นที่พอเป็นไปได้ เช่น ให้ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบโครงการตามสัดส่วนการถือหุ้น หากมีปัญหาสร้างไม่เสร็จ, ยังไม่ขอเริ่มงานก่อสร้างหากโครงการยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรถไฟส่งมอบพื้นที่ให้ไม่ได้, ขอเช่าช่วงที่ดินมักกะสัน-ศรีราชา ให้ บจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกพัฒนา, ขอยกเว้นเพดานเงินกู้, จ่ายค่าปรับกรณีสร้างล่าช้า จากปรับรายวันเป็นแบบคงที่, ขอลดสัดส่วนการถือหุ้น
ส่วนข้อเสนอที่ไม่รับพิจารณา เช่น ขยายเวลาก่อสร้างอีก 180 วัน จากเดิมต้องเสร็จ 5 ปี, ให้รัฐรับประกันผลตอบแทนโครงการหากไม่ถึง 6.75%, ให้เจรจาบริษัทเป็นรายแรกขยายอายุสัมปทานหลังครบ 50 ปี อีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี,ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก, เลื่อนจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชาจนกว่ามีผลตอบแทนหรือได้รับมอบพื้นที่ครบ, ขอจ่ายค่าสิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ปีที่ 6 เป็นต้นไป, ห้ามรัฐอนุมัติโครงการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโครงการ, ปรับรูปแบบเป็นทางระดับดิน, สร้างส่วนต่อขยายไประยอง, ย้ายจุดที่ตั้งสถานี, สร้างสเปอร์ไลน์เชื่อมเดินทาง
“ที่ ซี.พี.เสนอเงื่อนไขมาก เพราะต้องการปิดจุดเสี่ยง หลังบริษัทที่ปรึกษาระบุว่า ปริมาณผู้โดยสารต่ำกว่าที่การรถไฟฯศึกษาไว้ถึง 50%”
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการร.ฟ.ท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระดับความยากในการเจรจาผ่านไปแล้ว จะสรุปแจ้งให้กลุ่ม ซี.พี.ทราบต่อไป เดดไลน์จะให้ยุติสิ้นเดือน ก.พ.นี้ เพื่อเซ็นสัญญา มี.ค.ตามที่บอร์ดอีอีซีกำหนด ซึ่งอยู่ที่เอกชนจะถอนหรือไม่ถอนข้อเสนอที่เป็นไปได้ยาก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-292437
Person read: 2596
21 February 2019