ท่าเรือแหลมฉบังสิ้นสัมปทาน “A1-B2ถึงB4” เอกชนร้องขอความชัดเจน

หอการค้าวอนภาครัฐเร่งประกาศความชัดเจนนโยบายสัมปทานท่าเทียบเรือแหลมฉบัง A5 B2 B3 B4 ก่อนหมดอายุสัมปทานปี”63 หวั่นล่าช้ากระทบเอกชนส่งออก-นำเข้าสินค้าแออัด เอกชนไม่กล้าลงทุนต่อ

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีสัญญาสัมปทานท่าเทียบเรือ เทอร์มินอลA5 B2 B3 และ B4 ที่จะสิ้นอายุสัญญาสัมปทานในปี 2563-2564 ว่า หอการค้าไทยพยายามขอทราบความชัดเจนในการดำเนินนโยบายเรื่องการต่ออายุสัมปทาน และการประมูลจัดหาผู้ดำเนินการท่าเรือดังกล่าว เพื่อให้ภาคเอกชน ผู้ลงทุนท่าเทียบเรือได้เตรียมความพร้อม เนื่องจากขณะนี้อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง อาจทำให้การพิจารณาตัดสินใจล่าช้าออกไป ซึ่งการดำเนินงานด้านท่าเทียบเรือถือเป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูง มีทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์มากมาย จะต้องจัดเตรียมและหาแผนรองรับในกรณีต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากหมดสัญญาสัมปทาน

“เอกชนยังไม่เห็นความชัดเจนของนโยบายสำหรับหน่วยงานที่ดูแล จะดำเนินการอย่างไรสำหรับสัญญาสัมปทานท่าเทียบเรือที่จะหมดอายุ จึงพยายามผลักดันในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะเตรียมแผนการดำเนินการต่าง ๆ ไว้รองรับ ทั้งกรณีต่อสัญญาสัมปทาน การเข้าร่วมประมูล เป็นต้น อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าเอกชนมีความเสี่ยงในเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเดิมที่ได้ลงอุปกรณ์ เครื่องมือ และลงทุนต่าง ๆ ไว้ เพราะหากมีการเปิดประมูล ไม่ต่อสัญญาสัมปทาน เอกชนที่ลงทุนไปแล้วต้องรับความเสี่ยง หากไม่ชนะประมูลต้องขนย้ายอุปกรณ์ เครื่องมือการลงทุนต่าง ๆ ที่ลงทุนไว้ย้ายออกในพื้นที่ ระยะเวลาในการขนย้ายก็เชื่อว่าจะใช้ระยะเวลานานพอสมควร และผู้ที่จะชนะก็ต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีกว่าจะเข้ามาดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องมือให้แล้วเสร็จ หอการค้าไทยก็พยายามผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำความชัดเจนให้เสร็จ แต่ต้องยอมรับอาจจะรอช้าออกไปอีก

 

หวั่นส่งออก-นำเข้าสินค้าสะดุด

นายภูมินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า หากการดำเนินการต่ออายุสัมปทานช้า ไม่ใช่ส่งผลกระทบต่อเอกชนที่ลงทุนในท่าเทียบเรือดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือดังกล่าว เนื่องจากเมื่อเกิดปัญหาทำให้จุดบริการมีความแออัด การส่งออก-นำเข้าสินค้าอาจจะติดขัดหรือทำได้ช้า ซึ่งภาระอยู่กับผู้นำเข้า-ส่งออกที่ใช้บริการท่าเทียบเรือ ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาดูในเรื่องนี้ ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ถูกผลักดันจากภาครัฐ แต่ก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเห็นประโยชน์

กทท.ศึกษาแนวทางต่อสัญญา

รายงานข่าวระบุว่า ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เปิดดำเนินการโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และ 2 โดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตั้งแต่ปี 2534 แต่จะมีท่าเทียบเรือที่สิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2563-2564 ได้แก่ ท่าเทียบเรือ A5 B2 B3 และ B4 โดยตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. จะต้องศึกษาและจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด โดยเปรียบเทียบการดำเนินกิจการของรัฐกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง กับกรณีให้เอกชนร่วมลงทุน และกรณีให้เอกชนรายเดิมร่วมลงทุนตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2556 โดยต้องเสนอต่อกระทรวงคมนาคมอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง ซึ่งในการพิจารณาจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและความต่อเนื่องในการดำเนินกิจการของรัฐ

ทั้งนี้ จากการศึกษาของคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. มีมติเห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุน โดยให้มีการควบรวมท่าเทียบเรือ 3 ท่าดังกล่าว ความยาวหน้าท่า ท่าละ 300 เมตร ให้เป็น 2 ท่า มีความยาวหน้าท่า ท่าละ 450 เมตร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นและเสนอต่อคณะกรรมการ PPP เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เมื่อเห็นชอบ กทท.จะต้องว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ และที่ปรึกษาต้องจัดทำรายงานเป็นเอกเทศ ตามรายละเอียดที่คณะกรรมการกำหนดในมาตรา 24 และสาระสำคัญอื่น ๆ ที่ที่ปรึกษาเห็นสมควร

ลุ้นบอร์ดเคาะข้อสรุป

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบตามขั้นตอน คาดว่าจะมีข้อสรุปและได้เอกชนร่วมลงทุนท่าเทียบเรือดังกล่าวภายในปี 2565 ในส่วนของท่าเทียบเรือ A5 บอร์ด กทท.มีมติเห็นชอบให้เอกชนรายเดิมร่วมลงทุน ภายหลังสิ้นสุดสัญญาประกอบการท่าเทียบเรือ A5 ของบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) และเห็นชอบรูปแบบการพัฒนาท่าเทียบเรือ A5 โดยให้ปรับปรุงหลักผูกเรือกลางน้ำและต่อขยายอีก 70 เมตร (ความยาวหน้าท่าเดิม 527 เมตร หลักผูกเรือกลางน้ำเดิม 170 เมตร) และให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ลงทุนในส่วนต่อขยาย

ทั้งนี้ บอร์ด กทท.ได้มีข้อเสนอแนะในเรื่องการปรับเฉลี่ยการจ่ายค่าเช่าของท่าเทียบเรือ A5 เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นต่อคณะกรรมการ PPP พิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-293120


Person read: 2451

22 February 2019