กนอ.จ่อผ่อนเงื่อนไข TOR ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เอาใจผู้ชนะประมูลหากเกิดเหตุสุดวิสัยนำเข้าก๊าซ LNG ไม่ถึง 5 ล้านตันใน 5 ปีแรก หลังซาวเสียง 3 เดือน ด้านเอกชน “กัลฟ์-พีทีที แทงค์ฯ” ยื่นเสนอราคา คาด พ.ค.ได้ผู้ชนะลงนามสัญญายังรอการหนุนเปิดเสรีนำเข้าจากกระทรวงพลังงาน
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในรูปแบบของกิจการร่วมค้า ได้ยื่นซองข้อเสนอรายละเอียดทางเทคนิคและเอกสารรายละเอียดด้านราคา ในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1) ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) Net Cost โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการตาม PPP คาดว่าจะสามารถประกาศผลรายชื่อผู้ที่ชนะการคัดเลือกเอกชน และสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน พ.ค. 2562 รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) ได้เริ่มทำ market sounding และตอบคำถามแก่นักลงทุนทั้ง 18 รายที่ซื้อซองไปแล้วนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่รวมถึงกัลฟ์และพีทีทีแทงค์ยังมีข้อกังวลเงื่อนไขใน TOR เรื่องของปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะเกิดขึ้นว่ามีมากพอหรือไม่ เพราะระยะเวลาที่กำหนดให้สร้างโครงสร้างพื้นฐาน 3 ปี และสร้าง LNG terminal อีกเพียงแค่ 2 ปีนั้นสั้นเกินไปที่จะให้มีการนำเข้าก๊าซ LNG ที่ 5 ล้านตัน
“แม้จะเป็นไปได้ยากแต่การที่กำหนดให้ต้องเริ่มนำเข้า LNG ในปริมาณที่ 5 ล้านตันทันทีในปี 2567 เนื่องจากต้องการให้มีกิจกรรมโดยไม่ใช่ก่อสร้างแล้วทิ้งโครงการไว้ ซึ่งในระหว่างก่อสร้าง 3 ปีแรกได้เปิดให้มีเวลาหาตลาดสร้างดีมานด์ด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลดังกล่าว กนอ.สามารถปรับเงื่อนไขใน TOR ให้ได้ หากผู้ชนะการประมูลไม่สามารถดำเนินตามเงื่อนไขได้ด้วย “เหตุสุดวิสัย” เช่น เกิดเหตุน้ำท่วม ภัยพิบัติ และเหตุที่ไม่ได้เกิดจากเอกชน เช่น นโยบายของรัฐเปลี่ยนไป เป็นต้น หากเกิดจากเศรษฐกิจไม่ดีจนทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซลดลง ทำให้นำเข้าไม่ถึงตามเงื่อนไข ถือว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จะนำมาเป็นสาเหตุนำเข้าลดลงไม่ได้
“ถ้ามีปัญหาอะไรและเป็นเรื่องของนโยบายเราก็ต้องปรับเปลี่ยนให้มันยืดหยุ่น นำเข้าไม่ถึง 5 ล้านตันมันไม่ใช่ปัญหา เพราะขอแค่ให้มีท่าเรือก็พอ ซึ่งจะขนส่งอย่างอื่นก็ได้ ถ้ามันต้องปรับเปลี่ยนอะไรไป เป็นเรื่องในอนาคตหากจำเป็น แน่นอนว่าตอนนี้ก็จะกำหนดให้เอกชนที่ชนะการประมูลต้องดำเนินการตาม TOR ไว้ เอกชนที่ผ่านเข้ามายื่นซองก็ต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขอยู่แล้ว แต่หลังจากที่ยื่นแล้วทำไม่ได้ตาม TOR ก็สามารถคุยกันได้”
ขณะเดียวกันยังคงรอคำตอบจากกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ขอรับการสนับสนุนการนำเข้า LNG ในการดำเนินโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 กับผู้รับสัมปทาน โดยให้เอกชนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐรูปแบบ PPP สอดคล้องกับการเปิดเสรีกิจการ LNG ตามนโยบายของทางกระทรวงเองหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งหนังสือขอให้มีการปลดล็อกเรื่องดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561
แหล่งข่าวในภาคอุตสาหกรรมกล่าวว่า เหตุที่มีเอกชนเพียงรายเดียวเข้ายื่นข้อเสนอซองประมูลท่าเรือ จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 18 รายนั้น อาจเป็นเพราะเงื่อนไขการนำเข้าก๊าซ LNG กำหนดไว้ใช้ช่วงของการขนถ่ายระยะแรกที่ 5 ล้านตันนั้นเป็นไปได้ยาก และยังคงกังวลเรื่องผลตอบแทนทางการเงิน 2.5% น้อยเกินไปหากเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่คิดอัตราที่ 6% ซึ่งในทางเทคนิคถือว่ายาก และจะมีผลต่อการกู้เงินที่จะยากยิ่งกว่า รวมถึงเอกชนบางรายอาจยังไม่ชำนาญเรื่องท่าเรือมากพอ
“ส่วนกรณีที่ ปตท.ส่งพีทีที แทงค์ฯมายื่นซองแทนที่จะส่งบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพราะบริษัทนี้เป็นบริษัทลูกที่ให้บริการท่าเรือและถังเก็บผลิตภัณฑ์เหลวให้กับบริษัทในเครือ ปตท.อยู่แล้ว และจับมือกับทางกัลฟ์เข้ายื่นประมูลแทน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ตรงกับโครงการท่าเรือมากกว่า”
สำหรับแผนการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1)ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอนาคต มีมูลค่าการลงทุน 47,900 ล้านบาท โดย กนอ.ร่วมลงทุน12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งแบ่งระยะเวลาการพัฒนาโครงการเป็น 3 ระยะ คือ 1.งานโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การออกแบบและก่อสร้างจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ระบุในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน 2.งานท่าเรือก๊าซ การออกแบบและก่อสร้างส่วนที่ 1 เพื่อรองรับปริมาณไม่น้อยกว่า 5 ล้านตันต่อปี จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 2 และ 3.การประกอบกิจการท่าเรือก๊าซรวมถึงเป็นผู้จ่ายค่าสิทธิการร่วมลงทุนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามสัญญาร่วมลงทุนกับ กนอ.ไม่เกิน 30 ปี นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 3
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-293123
จำนวนผู้อ่าน: 2333
22 กุมภาพันธ์ 2019