หวั่น”โรคอหิวาต์หมู”ระบาดไทย เอกชนลงขันคุมเข้มสกัด5ด่านชายแดน

(แฟ้มภาพ) ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในข่าว

กระทรวงเกษตรฯ ชง ครม. เคาะ “โรคอหิวาต์แอฟริกัน” เป็นวาระแห่งชาติ หลังโรคนี้ระบาดเข้าเวียดนามแล้ว ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ-บิ๊กซีพีเอฟ เบทาโกร ไทยฟู้ดส์ ลงขันสร้างโรงชำระล้างและเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อให้รัฐใกล้ 5 ด่านกักสัตว์ชายแดน

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีโรคอหิวาต์แอฟริกันจากจีนระบาดเข้าไปในประเทศเวียดนามว่า เพื่อไม่ให้โรคนี้ระบาดเข้ามาในไทย วิธีการป้องกันโรคนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดในการบริหารจัดการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในสัปดาห์หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอเรื่องโรคนี้เป็นวาระแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณ บูรณาการป้องกันโรคนี้ให้สะดวกและดียิ่งขึ้น

 

ส่วนภาคเอกชนจะเข้าไปช่วยป้องกันการระบาดด้วย โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะเข้าไปรับผิดชอบสร้างโรงชำระล้างรถบรรทุกสุกรที่ขนส่งสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ริมทางหลวงใกล้ด่านกักกันสัตว์ จ.หนองคายที่ขอพื้นที่ริมถนนจากกรมทางหลวง วงเงิน 1 ล้านบาทเศษมาให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการต่อไป ส่วนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน)หรือซีพีเอฟรับผิดชอบสร้างที่ด่าน อ.เชียงแสน จ.เชียงรายและด่านจ.มุกดาหาร บริษัท เบทาโกร จำกัดรับผิดชอบสร้างที่ด่านกักกันสัตว์จ.นครพนมและบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)รับผิดชอบสร้างที่ด่านปอยเปต จ.สระแก้ว

“ต้องใช้ระบบไบโอเซฟตี้เข้มงวดในการป้องกันความเสี่ยงจากการสัมผัสต้องชำระล้างใต้ท้องรถบรรทุกสุกรขาเข้าหลังจากส่งออกที่ชายแดนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถบรรทุก อุปกรณ์บรรทุกและผู้ที่เกี่ยวข้องนาน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง หากทุกฝ่ายทำกันเข้มงวดจะป้องกันโรคนี้เข้าไทย ที่ผ่านมา เลี่ยงไม่ส่งออกสุกรไปจีน แต่มีการส่งออกไปกัมพูชาแทนวันละ 400-500 ตัว ขณะที่เวียดนามส่งออกไปจีนมาก เมื่อมีการระบาดเข้ามาในเวียดนาม ที่มีชายแดนติดกับกัมพูชา ไทยต้องเข้มงวดมากขึ้น มิเช่นนั้นอุตสาหกรรมสุกรของไทยมูลค่า 2 แสนล้านบาทจะเสียหายได้”

ที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ การลักลอบนำ “หมูกี้” จากเวียดนามหรือ สปป.ลาวเข้ามาทำ “หมูหัน” ซึ่งทั้งเนื้อ หนังอาจแพร่กระจายโรคนี้ที่ติดมาได้ เพราะโรคนี้พาหะจะมาจากหมูป่าค่อนข้างมาก รวมทั้งด่าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ภาครัฐต้องเข้มงวดตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ติดเข้ามากับรถบรรทุกจีนหรือรถนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทยด้วย ส่วนสถานการณ์ราคาจำหน่ายในกรุงเทพและปริมณฑลหน้าฟาร์ม กก.ละ 70 บาท ยังไม่เกิน กก.ละ 75 บาทตามที่ตกลงไว้กับกรมการค้าภายใน ขณะที่ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ กก.ละ 74-76 บาท เนื่องจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรในภาคใต้ขอให้เบทาโกรและซีพีเอฟนำผลผลิตสุกรส่วนเกินความต้องการมาขายในภาคกลาง ทำให้ราคาที่ภาคใต้สูงขึ้นกว่าภาคอื่น

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-292832


จำนวนผู้อ่าน: 2871

22 กุมภาพันธ์ 2019