เริ่มเห็นภาพพัฒนาเมืองใหม่ในอีอีซีกรมโยธาฯเผย 3 พื้นที่ อ.เมืองอ.บ้านโพธิ์และอ.พนมสารคามจ.ฉะเชิงเทรามีความเหมาะสมสูงเตรียมชงรายละเอียดให้ “คณิศ”พิจารณา
จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีครั้งที่ 2/2560 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รายงานถึงความคืบหน้าในการพัฒนาเมืองใหม่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ที่ประชุมรับทราบ โดยได้เปิดเผยถึงผลการศึกษาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาเมืองใหม่ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ที่มีความเหมาะสมสูง จะอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอพนมสารคามส่วนพื้นที่ความเหมาะสมปานกลางจะอยู่ในอำเภอบางนํ้าเปรี้ยวและพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตํ่าจะอยู่ในอำเภอสนามชัยเขตอำเภอท่าตะเกียบ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางคณะอนุกรรมการพัฒนาเมืองใหม่ อีอีซี ได้มีการประชุมหารือถึงพื้นที่ตั้งเมืองใหม่ทั้ง3ส่วนดังกล่าวแต่ยังไม่เป็นที่ยุติความจะเลือกพื้นที่ใด เนื่องจากต้องนำข้อหารือเสนอนายคณิศ แสงสุพรรณเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาเมืองใหม่เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้ศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาเป็นเมืองใหม่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในจำนวน 6 พื้นที่ พบว่าพื้นที่ที่เหมาะสมสูงมี 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านโพธิ์และอำเภอพนมสารคาม แต่อำเภอเมืองจะมีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากมีแนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเข้าถึงพื้นที่ ในขณะที่อีก 2 พื้นที่จะต้องสร้างระบบเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนเพิ่ม
ตั้งเมืองใหม่3พื้นที่ ‘อ.เมือง-บ้านโพธิ์-พนมสารคาม’
โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการเมืองใหม่อีอีซี ได้มีการพิจารณา คัดเลือกพื้นที่ตั้งเมืองใหม่แล้ว ซึ่งจะต้องอยู่ใกล้แหล่งงาน ระบบขนส่งมวลชน ใช้เวลาเดินทางไม่เกินครึ่งชั่วโมงมองว่าที่ดินที่เหมาะสมควรมีเอกสารสิทธิและเป็นที่ดินเอกชนเพราะผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยต้องการกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส่วนขนาดพื้นที่เมืองใหม่ คำนวณจาประชากร 10-20 คนต่อไร่ ต้องมีสวนสาธารณะสิ่งอำนวยความสะดวก ศูนย์การค้า พาณิชยกรรมโรงพยาบาล โรงเรียน รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ
“แน่นอนว่าพื้นที่ที่เหมาะสม จะต้องอยู่ในแนวรถไฟความเร็วสูงแต่กรมไม่ต้องการให้เกิดการปั่นราคาที่ดินหรือซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรเพราะหากไม่ใช่พื้นที่ที่รัฐเลือก ก็จะเกิดความผิดหวังและเดือดร้อนตามมาที่สำคัญ เมื่อทราบว่าพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณไหน ราคาที่ดินจะขยับขึ้นสูงจนกระทั่งโครงการเกิดไม่ได้”
ส่วนที่ดินที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ที่อำเภอบางนํ้าเปรี้ยว จำนวน 3,000-4,000 ไร่ ขณะนี้เรื่องที่ดินยังไม่ส่งมายังบอร์ดอนุฯเมืองใหม่ แต่ทราบว่า ที่ดินติดผู้บุกรุก ซึ่งกรมธนารักษ์ ต้องแก้ปัญหาให้จบก่อนและอาจนำไปพัฒนา ด้านสาธารณูปโภครองรับในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์ราชการเป็นต้นโดยหลังจากนี้ไปได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษารายละเอียดของพื้นที่เพิ่มเติมก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการอีอีซี พิจารณาความเหมาะสม แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่าขณะนี้กรมอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารสิทธิของพื้นที่ เนื่องจากการพัฒนาเมืองใหม่มีความเป็นไปได้ว่าจะใช้รูปแบบเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐหรือพีพีพี
ซึ่งการได้มาของที่ดินที่เปิดใหม่กำหนด 2 รูปแบบ คือกรณีที่ดินรัฐจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอและบิสิเนสโมเดล ประมูลพื้นที่พัฒนาและกรณีที่ดินเอกชนต้องศึกษาพื้นที่พร้อมขอสิทธิประโยชน์ โดยออกแบบเมืองในลักษณะสมาร์ทซิตีซึ่งผู้ลงทุนและพัฒนาเมืองจะอยู่ภายใต้ การบริหารโดยบริษัทพัฒนาเมือง ซึ่งถือหุ้นโดยหน่วยงานของรัฐ ท้องถิ่น และเอกชน เป็นต้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
Person read: 2751
20 July 2017