ทีโออาร์ “ดิวตี้ฟรี” ร้อน ! ส.ผู้ค้าปลีกไทยจับตาทุกย่างก้าว

 

เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหมายเมื่อมติที่ชุดคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. ซึ่งประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, หาดใหญ่ (สงขลา) และภูเก็ต ในการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบแล้ว

ทอท.เคาะ 3 สัญญาสัมปทาน

โดยให้แยก 3 สัญญาใหญ่ คือ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (duty free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (retail, F&B, service, bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (duty free pick-up counter) ออกจากกัน พร้อมทั้งเน้นให้เปิดกว้าง มีการแข่งขันกันอย่างเสรี โดยเฉพาะกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร เพื่อให้ผู้ประกอบการในเมือง (downtown) สามารถส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท.ได้

และเห็นชอบหลักการในการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ตามที่ฝ่ายบริหาร ทอท.เสนอ โดยให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ตรวจสอบข้อกำหนดและรายละเอียด ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก่อนดำเนินการประกาศต่อไป

ส.ผู้ค้าปลีกไทยออกโรงต้าน

แม้ว่าจะค่อนข้างชัดเจนแล้ว แต่ล่าสุดสมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังคงเรียกร้องให้ ทอท. วางแนวทีโออาร์โดยให้แบ่งย่อยสัญญาในส่วนของกิจการ duty free และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ออกเป็นประเภทสินค้าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดการแข่งขัน โปร่งใส และรัฐได้รับผลประโยชน์สูงสุด

 

“วรวุฒิ อุ่นใจ” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า แม้ทีโออาร์ของบริษัทท่าอากาศยานไทยยังไม่ลงลึกในรายละเอียด แต่สมาคมยังคงยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดเงื่อนไขสัมปทานดิวตี้ฟรีสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิเป็นแบบรายเดียว หรือ master concessionแต่ควรกำหนดเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า (by category)

“ยืนยันว่ารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ คือ การกำหนดเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า เนื่องจากเป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่ถึง 12,000-15,000 ตารางเมตร และมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการต่อปีมากกว่า 60 ล้านคนต่อปี อีกทั้งยังเป็นรูปแบบที่รัฐได้ผลตอบแทนสูงสุด”

ยันควรมีไม่ต่ำกว่า 4 สัญญา

“วรวุฒิ” ยังบอกด้วยว่า สำหรับสัญญาในส่วนของพื้นที่ดิวตี้ฟรีนั้น ทางสมาคมเห็นสมควรว่าควรแบ่งสัญญาไม่ต่ำกว่า 4 ราย อาทิ หมวดสินค้าเครื่องสำอาง, สุราและบุหรี่, หมวดแฟชั่น, หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้มีความหลากหลายและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายมากขึ้น อีกทั้งแก้ปัญหาการผูกขาดด้วย

พร้อมยืนยันว่า การบริหารสัญญาแยกย่อยตามหมวดสินค้านั้นไม่ได้สร้างความยุ่งยากในการบริหารจัดการแต่อย่างใดหากมีการบริหารจัดการล่วงหน้าที่ดีและมีการจัดสรรพื้นที่ตั้งร้านค้าตามหมวดสินค้าให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของอาคารผู้โดยสารและเส้นทางการเดินของผู้โดยสาร และเห็นว่า ทอท.ควรแยกสัญญาของแต่ละสนามบินออกอย่างชัดเจน ไม่ควรเอาสัญญาทั้ง 4 สนามบินมารวมกัน

สำหรับในประเด็นของจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ หรือ pick-up counter นั้น “วรวุฒิ” บอกว่า เห็นด้วยที่ทำสัญญาแยกออกมาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นด้วยที่ ทอท.จะให้ผู้ขอรับสัมปทานในส่วนของดิวตี้ฟรีเข้ามาประมูลในกิจการนี้ร่วมด้วย เนื่องจากจะล่วงรู้ข้อมูลของคู่แข่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น หรืออีกแนวทาง คือ ทอท.ต้องเป็นผู้บริหารเอง เพื่อความเป็นกลาง

หนุนรายได้เพิ่ม 5 หมื่นล้านต่อปี

นอกจากนี้ยังมองว่า การดำเนินงานในส่วนของกิจการร้านค้าปลอดภาษีและเชิงพาณิชย์ของ ทอท. เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในปัจจุบันถือว่ายังต่ำมาก ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง และสิงคโปร์ และเชื่อว่าหาก ทอท.ยอมเปลี่ยนรูปแบบการให้สัมปทานมาตามหมวดสินค้าจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งคาดว่าจะทำให้ประเทศได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 50,000-100,000 ล้านบาทต่อปี

และยังเชื่อว่า การแบ่งย่อยเป็นหลายสัญญาจะทำให้เกิดการแข่งขันทั้งในด้านคุณภาพและความหลากหลายของสินค้า รวมถึงสามารถกำหนดราคาที่สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น

ค่าธรรมเนียมไทยต่ำสุดในโลก

“วรวุฒิ” ยังให้ข้อมูลอีกว่า หากเทียบผลตอบแทนที่ภาครัฐได้รับจากสัมปทานดิวตี้ฟรีของแต่ละประเทศจะพบว่า ค่าธรรมเนียมของสัมปทานดิวตี้ฟรีของไทยถูกกว่าประเทศอื่น ๆ ถึงครึ่งหนึ่ง โดยปัจจุบันผู้รับสัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิจ่ายผลตอบแทนให้ ทอท. ในอัตรา 15-21% ส่วนที่สนามบินดอนเมืองและภูเก็ต จ่ายค่าธรรมเนียมในอัตรา 19% เท่านั้น ขณะที่สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ จ่ายค่าธรรมเนียม 40% สนามบินปักกิ่ง ประเทศจีน จ่ายค่าธรรมเนียม 43-48% และค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่อัตรา 30-40%

“ถ้าเทียบกับเกาหลีใต้ ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวมากกว่าเกือบ 3 เท่า แต่ตลาดดิวตี้ฟรีของไทยมีมูลค่าเล็กกว่าเกาหลีใต้ถึง 6 เท่าตัว เหตุผลหนึ่งน่าจะมาจากการการให้ผู้ประกอบการผูกขาดเพียงรายเดียว ขณะที่สนามบินอื่น ๆ มีผู้ประกอบการอย่างต่ำถึง 3 ราย นี่คือเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีทั่วโลกกำลังจับตามองประเทศไทยอยู่”

ผลตอบแทนไม่ควรต่ำกว่า 30%

สำหรับอัตราค่าตอบแทนสัมปทานที่เหมาะสมนั้น “วรวุฒิ” ให้ความเห็นว่า ไม่ควรต่ำกว่า 30% เพราะการบริหารร้านค้าดิวตี้ฟรีนั้น ผู้ประกอบการที่ได้สัมปทานไม่ต้องลงทุนในอาคารสถานี และไม่ต้องทำการตลาดมาก เนื่องจากภาครัฐเป็นหน่วยงานทำการตลาดดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศอยู่แล้ว

“สิ่งที่ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเรียกร้องอยู่ในขณะนี้คือ อยากให้ระบบธุรกิจของเราเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทั่วโลก”

ยันได้ผู้รับสัมปทานเดือน ก.ย.นี้

ขณะที่ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้สัมภาษณ์ถึงไทม์ไลน์ในการดำเนินการว่าทอท.มีขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง “ทีโออาร์” ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟรีบนเว็บไซต์ ซึ่งมองว่าเป็นเวลามากเพียงพอให้ผู้สนใจและเอกชนได้แสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดจำหน่ายทีโออาร์ในส่วนของดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมีนาคมนี้ และได้ผู้ชนะการประมูลได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับสัมปทานมีเวลาทำงานอย่างน้อย 1 ปี ก่อนที่สัญญากับผู้ประกอบการรายเดิมจะสิ้นสุดลง

สำหรับในส่วนของจุดส่งมอบสินค้านั้นบอร์ดเห็นชอบให้เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในเมืองทุกรายสามารถใช้ร่วมกันได้ ซึ่งในกระบวนการดำเนินงานนั้น ทอท.จะจำหน่ายทีโออาร์และทำการประมูลได้ภายในปีนี้เช่นกันทุกการเคลื่อนไหวของ ทอท. สำหรับการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ ภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่ รอบนี้ จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/tourism/news-293736


Person read: 2136

25 February 2019